นายพรานกุกกุฏมิตร

นายพรานกุกกุฏมิตร บรรลุโสดาปัตติผลด้วยอานิสงส์แห่งการปรนนิบัติเจดีย์

นายพรานกุกกุฏมิตร บรรลุโสดาปัตติผลด้วยอานิสงส์แห่งการปรนนิบัติเจดีย์ – ในเมืองราชคฤห์ มีธิดาสาวสวยของเศรษฐีคนหนึ่งอาศัยอยู่ในปราสาท นางได้รับการเอาใจใส่เลี้ยงดูอย่างดียิ่ง มีคนรับใช้คอยปรนนิบัติตลอด ไม่ยอมให้นางออกไปนอกปราสาทเลย

วันหนึ่งนางยืนรับลมอยู่ริมหน้าต่าง บังเอิญมองเห็นนายพรานคนหนึ่งกำลังขับเกวียนนำเนื้อไปขายที่ตลาด ด้วยบุพเพสันนิวาส เธอจึงมีจิตปฏิพัทธ์นายพรานผู้นั้น และสั่งให้หญิงคนใช้นำบรรณาการไปให้นายพราน แล้วถามถึงเวลาที่เขาจะเดินทางกลับ นายพรานบอกหญิงรับใช้ว่า เมื่อเขาขายเนื้อหมดแล้วจะกลับออกไปในวันรุ่งขึ้นตอนเช้ามืด

เมื่อทราบดังนั้น ธิดาเศรษฐีเตรียมเก็บของเท่าที่จำเป็น นุ่งผ้าเก่า ๆ ถือหม้อน้ำไปที่ท่าน้ำแต่เช้าตรู่ เมื่อเห็นนายพรานขับเกวียนออกมา เธอก็เดินตามไป นายพรานผิดสังเกตจึงกล่าวว่า

“ฉันไม่รู้จักท่านว่าเป็นลูกใคร อย่าตามฉันไปเลย”

นางตอบว่า “ท่านมิได้เรียกฉันมา ฉันมาของฉันเอง” นายพรานขับเกวียนไปได้หน่อยหนึ่ง เห็นนางยังเดินตามมา จึงขอร้องให้นางกลับไปหลายครั้ง แต่นางพูดว่า “ธรรมดาคนมีปัญญาย่อมไม่ปฏิเสธสิริที่มาถึงตน”

นายพรานได้ฟังดังนั้นก็เข้าใจโดยแจ่มแจ้งว่านางมาเพื่อตน จึงอุ้มนางขึ้นเกวียนแล้วขับออกไป

บิดามารดาของนางเข้าใจว่าธิดาของตนตายเสียแล้ว จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ นางได้อยู่กินกับนายพรานจนมีบุตร 7 คน

วันหนึ่งเวลาใกล้รุ่ง เมื่อพระศาสดาได้ทรงตรวจดูอุปนิสัยของนายพรานกุกกุฏมิตรพร้อมทั้งบุตรและสะใภ้แล้ว จึงเสด็จไปโปรด ทรงแสดงรอยพระบาทไว้ที่ใกล้บ่วงของนายพราน แล้วหลีกไปประทับใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง วันนั้นนายพรานกุกกุฏมิตรออกไปดูบ่วงแต่เช้าตรู่ ก็ไม่เห็นเนื้อติดบ่วงเลย เห็นแต่รอยพระบาทพระศาสดาอยู่ในบริเวณใกล้เคียง นายพรานเดินต่อไป เห็นพระศาสดาประทับอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง จึงคิดว่า “คงจะเป็นสมณะรูปนี้แน่ที่ปล่อยเนื้อของเรา” ว่าแล้วจึงโก่งธนูมุ่งจะยิง

พระศาสดาทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร (การแสดงฤทธิ์) ให้นายพรานโก่งธนูค้างอยู่อย่างนั้น ยิงไม่ได้ ลดธนูลงก็ไม่ได้ จนอ่อนกำลัง น้ำลายไหลฟูมปาก และปวดสีข้างปานร่างจะแตก

บรรดาบุตรของนายพราน เมื่อเห็นว่าบิดาออกไปนานผิดสังเกต จึงออกตามหา ครั้นเห็นบิดาอยู่ในท่าโก่งธนูค้างอยู่เบื้องหน้าพระศาสดา ก็คิดว่าสมณะผู้นี้คงเป็นศัตรูกับบิดาของตน จึงโก่งธนูขึ้นเพื่อจะยิง พระศาสดาก็ทรงบันดาลให้ทุกคนยืนค้างอยู่อย่างนั้น

เมื่อธิดาของเศรษฐี (ภรรยาของนายพราน) ตามมาเห็นเหตุการณ์ก็ตกใจ เพราะเข้าใจว่าสามีและบุตรของตนกำลังจะประหารพระพุทธเจ้า นางจึงรีบห้ามปรามและสั่งให้ทุกคนทิ้งธนูเสียโดยเร็ว นายพรานและบุตรได้ยินเสียงร้องห้ามของธิดาเศรษฐี ก็มีจิตอ่อนโยนต่อพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าทั้งนายพรานและบุตรมีจิตอ่อนโยนแล้ว จึงทรงคลายฤทธิ์ให้คนเหล่านั้นลดธนูลง พวกเขาถวายบังคมพระศาสดาและขออภัยโทษ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถา เมื่อทรงเทศนาจบ นายพรานกุกกุฏมิตรพร้อมทั้งบุตรสะใภ้ได้บรรลุโสดาปัตติผล ส่วนธิดาเศรษฐีนั้นได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่อายุยังน้อย

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมายังวิหารเวฬุวัน ภิกษุทั้งหลายต่างสนทนากันในธรรมสภาว่า

“ได้ยินว่าภรรยาของนายพรานกุกกุฏมิตรได้เป็นโสดาบันตั้งแต่อายุยังเยาว์ แต่นางหนีบิดามารดาไปอยู่กับนายพราน และต้องทำตามคำสั่งของนายพรานตลอดกาลนาน เช่น จงนำธนูมา จงหยิบลูกศรมา จงนำหลาวนำข่ายมา แล้วนายพรานก็ถือเครื่องประหารที่นางนำมาให้ไปทำปาณาติบาตเป็นประจำ…เช่นนี้พระโสดาบันยังทำปาณาติบาต ยังส่งเสริมปาณาติบาตอยู่หรือ”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า…

“ภิกษุทั้งหลาย พระโสดาบันหาทำปาณาติบาตไม่ แต่ที่ธิดาเศรษฐีทำเช่นนั้นก็ด้วยตั้งใจว่าจักทำตามคำของสามี นางมิได้มีเจตนาสนับสนุนว่าขอให้นายพรานนำเครื่องมือเหล่านี้ไปประหารสัตว์เถิด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อแผลที่ฝ่ามือไม่มียาพิษ ไม่อาจให้โทษแก่ผู้ถือยาพิษได้ฉันใด บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาปฉันนั้น แม้จะเป็นผู้นำเครื่องประหารมาให้ แต่นางไม่มีอกุศลเจตนาในปาณาติบาตนั้น”

ต่อมาวันหนึ่งภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันที่ธรรมสภาว่าอะไรเป็นปัจจัยแห่งโสดาปัตติผลของพรานกุกกุฏมิตร เหตุใดผู้มีอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลเช่นนั้นจึงเกิดในสกุลพรานเนื้อ

พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงบุพกรรมของพรานกุกกุฏมิตรว่า ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า พรานกุกกุฏมิตรเกิดเป็นเศรษฐีชนบท เมื่อพระกัสสปพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ชนทั้งหลายได้เตรียมสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และได้กล่าวกันว่าการบรรจุพระธาตุครั้งนี้ต้องใช้ทรัพย์มาก พวกเราควรได้ใครหนอเป็นหัวหน้า

ครั้งนั้นเศรษฐีชนบทผู้สละทรัพย์ให้หนึ่งโกฏิขอเป็นหัวหน้า คนทั้งหลายพากันติเตียนเศรษฐีในกรุงว่ามีเงินมากเสียเปล่า แต่ไม่อาจเป็นหัวหน้าในงานบรรจุพระธาตุได้ เศรษฐีในกรุงได้ยินดังนั้นก็เกิดความละอาย จึงมอบทรัพย์ให้ 2 โกฏิและขอเป็นหัวหน้า เศรษฐีชนบทบริจาคให้ 3 โกฏิ แล้วเศรษฐีในกรุงให้ 4 โกฏิ ไล่ลำดับกันขึ้นไปจนถึง 8 โกฏิ

เศรษฐีชนบทคิดว่า “ถ้าเราให้ 9 โกฏิ เศรษฐีในกรุงก็จะให้ 10 โกฏิ แต่ทรัพย์ของเรามีเพียง 9 โกฏิเท่านั้น ส่วนของเศรษฐีในกรุงมีถึง 40 โกฏิ เราต้องแพ้ในการออกทรัพย์แน่” คิดดังนี้แล้วเศรษฐีชนบทจึงประกาศแก่คนทั้งหลายว่า

“ข้าพเจ้าออกทรัพย์ให้ได้เพียง 8 โกฏิเท่านี้ แต่ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบุตรภรรยาและลูกสะใภ้จักยอมตนเป็นทาสของเจดีย์”

ประชาชนได้ทราบดังนั้นจึงพร้อมใจกันแต่งตั้งให้เศรษฐีชนบทเป็นหัวหน้าบรรจุพระธาตุ และขอให้เขาไม่ต้องเป็นทาสของเจดีย์ แต่เศรษฐีและครอบครัวก็ปรนนิบัติเจดีย์ไปจวบจนสิ้นอายุขัย แล้วไปบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่หนึ่งพุทธันดร

ล่วงมาถึงพุทธกาลแห่งพระสมณโคดมนี้ ภรรยาของเศรษฐีจุติมาบังเกิดในสกุลเศรษฐีเมืองราชคฤห์ และได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่ยังเยาว์ ส่วนสามีไปบังเกิดในสกุลพรานเนื้อ ทั้งนี้เพราะการเกิดของสัตว์ผู้ยังไม่ได้เห็นสัจจะนั้นย่อมไม่แน่นอน

ความสิเน่หาในกาลก่อนได้ครอบงำธิดาเศรษฐีในขณะที่นางมองเห็นพรานเนื้อ สมจริงดังพระดำรัสที่พระศาสดาตรัสว่า

“ความรัก เมื่อเกิดย่อมเกิดด้วยเหตุ 2 ประการ คือ เพราะร่วมสุขทุกข์กันมาในชาติก่อน หรือเพราะเกื้อกูลกันในปัจจุบัน อย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนอุบลย่อมเกิดในน้ำหรือในเปือกตม”

บุตรในชาติก่อนมาเกิดเป็นบุตรในชาตินี้ ลูกสะใภ้ในชาติก่อนก็มาเกิดเป็นลูกสะใภ้ในชาตินี้เช่นกัน

อุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของคนเหล่านั้นมีเพราะอานิสงส์แห่งการปรนนิบัติเจดีย์ด้วยประการฉะนี้

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  เก็บมาเล่าโดย ขวัญ เพียงหทัย

ภาพ  dec053

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.