พระที่ทำบุญด้วยเป็นพระปลอม

เผลอคิดว่า พระที่ทำบุญด้วยเป็นพระปลอมเป็นบาปหรือไม่ และจะขจัดความรู้สึกผิดในใจนั้นได้อย่างไรคะ

เผลอคิดว่า พระที่ทำบุญด้วยเป็นพระปลอม เป็นบาปหรือไม่ และจะขจัดความรู้สึกผิดในใจนั้นได้อย่างไรคะ

ผู้อ่านถาม : ดิฉันไปทอดกฐินที่วัดแห่งหนึ่ง ทางผู้นําได้แจ้งผู้มาร่วมงานว่า พระที่วัดติดกิจนิมนต์ แต่ทางวัดได้นิมนต์พระจากที่อื่นมารับบิณฑบาตญาติโยมประมาณ 30 รูป   แวบแรกที่เห็นพระเดินเรียงแถวเข้ามาในใจ ก็เผลอคิดไปว่า พระปลอมหรือเปล่านะ และเริ่มคิดอกุศลไปต่างๆ นานา ดิฉันจึงเกิดความกังวลว่าสิ่งที่เราคิดนั้นเป็นบาปหรือไม่ และจะขจัดความรู้สึกผิดในใจนั้นได้อย่างไรคะ

พระอาจารย์พรพล  ปสันโน ไขปัญหาธรรมข้อนี้ว่า
ถ้าเราคิดจะทําบุญก็ต้องทําจิตใจให้ผ่องใส  ทําใจให้บริสุทธิ์ หากเกิดความสงสัยก่อนทํา  ขณะทํา  และหลังทํา  บุญจะไม่เต็ม แต่ถ้าถามว่า เห็นภาพอย่างนั้นแล้วจะไม่ให้สงสัยได้อย่างไร  ก็ต้องคิดว่าเราตั้งใจมาทําบุญ  ก็ควรทําตัวเราให้ดีที่สุด  ส่วนตัวพระท่านจะทําอย่างไรก็เป็นเรื่องของท่าน  เพราะถ้าท่านไม่รักษาวินัยให้ดี คนที่ไม่ได้บุญก็คือตัวท่านเอง

หากถามว่า  ถ้าพระท่านไม่รักษาวินัยให้ดีแล้ว  เราจะเสียบุญไหม คําตอบคือไม่เสีย เพราะเราไปทําความดี  เพราะฉะนั้นต้องแยกตรงนี้ให้ได้  ถ้าแยกตรงนี้ได้เราก็จะทําความดีได้เต็มที่ แต่ถ้าแยกไม่ได้ก็จะทําให้เราไม่สบายใจ  ดังนั้นอย่าเพิ่งเอาสิ่งที่เห็น มาเป็นเครื่องตัดสินปิดกั้นใจของเรา เพราะอาจมีพระที่ไม่สํารวมเพียงรูปเดียว ส่วนอีก 29 รูปอาจจะดีก็ได้  แต่ถ้าเราเห็นว่าที่นี่ไม่ดี ไม่ใช่  เราก็อย่าไปทําบุญที่นี่เลยดีกว่าไปหาที่ที่เราทําบุญแล้วสบายใจ ก็จะทําให้บุญที่เราทํานั้นบริสุทธิ์เต็มที่ แต่แท้จริงแล้วก็ไม่มีที่ไหนหรอกที่จะมีพระอริยสงฆ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องเผื่อใจไว้ด้วย พยายามมองมุมที่ดีจะได้ทําบุญอย่างสบายใจ

 

ที่มา คอลัมน์ Dhamma Daily นิตยสาร Secret

ภาพ www.pexels.com

หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่  Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

Q:โดน พ่อแม่บังคับ ให้บวช แต่ คนบวช ไม่ศรัทธา ควรทำอย่างไร

ปัญหาธรรมประจำวัน :แม่ฝักใฝ่แต่ การพนัน ไม่ยอม ทำบุญ ทำทาน ลูกควรทำอย่างไ

ทำไมเทวดาถึงอยาก ใส่บาตร พระมหากัสสปะ

ปุณณะ ทาสหนุ่ม ผู้จนกลายเป็น มหาเศรษฐี ด้วย อานิสงส์ แห่ง การใส่บาตร

ทำไมพระต้อง บิณฑบาต คลายข้อสงสัย กิจของสงฆ์ ที่ปฏิบัติมาตั้งแต่ สมัยพุทธกาล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.