ช่วยอย่างไร

Dhamma Talk : ช่วยอย่างไร ไม่ให้ได้บาปมากกว่าบุญ

Dhamma Talk : ช่วยอย่างไร ไม่ให้ได้บาปมากกว่าบุญ – สนทนาธรรมกับ ดร.สนอง วรอุไร

อาจารย์คะ เมื่อมีผู้ประสบความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติต่างๆ เราควรเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาไหมคะ หรือว่าเมื่อช่วยแล้วจะกลายเป็นการเข้าไปร่วมกระบวนกรรมกับเขาด้วย

ควรช่วยหากเราช่วยได้ เพราะในเมื่อเราเกิดมาเป็นสมาชิกของสังคมโลก เราต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ทั้งทางโลกและทางธรรม การช่วยเหลือผู้อื่นนับเป็นหน้าที่ของคนดีอย่างหนึ่งที่เราต้องทำเพื่อสังคมส่วนรวม นอกจากนั้นยังเป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ 10 ซึ่งเป็นหน้าที่ทางธรรมที่คนดีต้องทำเพื่อพัฒนาจิตวิญญาณของตนเองให้มีบุญ ดังนั้นหากเราช่วยได้ เราก็ควรช่วย

แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องยอมรับว่า เมื่อเราไปช่วยเขา เจ้ากรรมนายเวรที่ตามจองเวรเขาอยู่ย่อมหันมาจองเวรเราด้วย ดังนั้นก่อนจะช่วยใคร เราจึงต้องมั่นใจว่าเรามีบุญบารมีสั่งสมอยู่มากพอที่จะคุ้มกันตัวเองจากการถูกจองเวรที่จะเกิดขึ้น

เรื่องอย่างนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล เจ้าตัวสามารถเลือกตัดสินใจได้ว่าจะช่วยเหลือหรือไม่ตามความเหมาะสม ไม่มีผิดไม่มีถูก

แต่ถ้าเราเห็นคนอื่นเดือดร้อนแล้วไม่ช่วย ก็มักจะถูกมองว่าเป็นคนใจร้ายนะคะ

นั่นก็เป็นความเห็นถูกของคนมอง แต่สำหรับคนที่ถูกมอง เขาย่อมมีเหตุผลในการกระทำของเขา ซึ่งแต่ละคนมีสิทธิ์เลือกทางดำเนินชีวิตด้วยตนเอง ผู้รู้ย่อมไม่เข้าไปก้าวก่ายในการตัดสินใจของใคร

การช่วยเหลือผู้อื่นเพียงเพื่อตัดรำคาญนั้น ถือเป็นการกระทำที่เป็นกุศลไหมคะ

การช่วยเหลือผู้อื่นจะเป็นกุศลหรือไม่นั้น อยู่ที่ว่า การช่วยของเราเป็นการช่วยให้เขาพ้นทุกข์ หรือว่าช่วยให้เขาไปทำอกุศลกรรมต่อ ถ้าเป็นการช่วยให้เขาไปสร้างกิเลส สร้างบาปอกุศลเพิ่ม เช่น ช่วยคนที่ประกอบอาชีพทุจริตให้สามารถประกอบอาชีพทุจริตได้ต่อไป ผูีปัญญาย่อมไม่เข้าไปมีส่วนร่วม เพราะเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เขาทำบาปอยู่เรื่อยๆ จึงเป็นการทำบุญที่ให้ผลเป็นบาป

แล้วถ้าเราช่วยผู้ที่เดือดร้อนเพราะสงสาร ไม่อยากให้เขาอยู่ในสภาพอย่างนั้นต่อไปล่ะคะ

ความอยากหรือไม่อยากของเราไม่ได้เป็นตัวกำหนดสภาวะของผู้อื่น เพราะสิ่งที่จะกำหนดสภาวะของสัตว์โลกทั้งหลายนั้นคือกรรมที่แต่ละผู้แต่ละคนได้สั่งสมไว้ ดังนั้นไม่ว่าเราจะทำอย่างไร ก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงกรรมของใครได้อย่างแท้จริง

ถ้าเราช่วยผู้ที่เดือดร้อนเพื่อตนเองจะได้ไม่ต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับเขาล่ะคะ

แบบนี้เป็นความคิดที่ถูกต้องตามหลักกฎแห่งกรรม คือ เมื่อเราให้ทรัพย์เป็นทาน เราย่อมได้รับทรัพย์เป็นการตอบแทน ถ้าเราให้อาหารเป็นทาน เราย่อมไม่ขาดแคลนอาหาร ถ้าเราให้ยารักษาโรคเป็นทาน เราย่อมปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เราช่วยเหลือผู้อื่นด้วยอะไร เราย่อมบริบูรณ์ในสิ่งนั้น ในทางตรงกันข้าม หากเราไปเบียดเบียนหรือตักตวงอะไรมาจากผู้อื่น เราก็ย่อมเดือดร้อนและขาดแคลนในเรื่องเดียวกัน นี่คือกฎแห่งกรรม

อาจารย์คิดอย่างไรกับการให้เงินขอทานที่ทำงานกันเป็นแก๊งคะ

การให้เงินคนเหล่านั้นเท่ากับไปส่งเสริมให้เขาทำบาปต่อ ทางที่ดีเราจึงควรวางเฉยเสีย

แต่ถ้าเขาใช้เด็กเล็กท่าทางน่าสงสารมากให้มาขอทานล่ะคะ

ถ้าเราใช้สติปัญญาวิเคราะห์ตามเหตุตามผลหรือตามกฎแห่งกรรมแล้ว เราจะไม่ตกเป็นทาสของความรู้สึกสงสาร แต่ถ้าไม่ใช้สติปัญญานำทางชีวิต ใช้แต่อารมณ์ เราก็จะต้องเข้าไปร่วมในกระบวนอกุศลกรรมของเขา แล้วเราก็จะมีชีวิตวิบัติไปด้วยเมื่อกรรมให้ผล

เราควรช่วยคนที่นับถือต่างศาสนากันไหมคะ

ในความเป็นจริงขั้นปรมัตถ์แล้วศาสนาไม่มี เป็นเพียงสมมุติบัญญัติที่กลุ่มบุคคลสมมุติขึ้นมาเท่านั้น จริงๆ แล้วมนุษย์ทั้งหลายไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรล้วนมีรูปนามที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุที่ไม่ต่างกัน

เคยได้ยินมาว่า ถ้าเราช่วยเหลือคนในศาสนาไหนมากๆ ในที่สุดเราก็จะมีเหตุต้องไปนับถือศาสนานั้น ไม่ในชาตินี้ก็ในชาติหน้า

เป็นเรื่องที่เป็นไปได ้ เพราะการทำบุญทำทานต้องมีศรัทธาเป็นตัวน้อมนำให้ทำ ดังนั้นเมื่อเรามีศรัทธาช่วยคนในศาสนาใดมากๆ ก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้ไปอยู่หรือไปร่วมกระบวนกรรมกับคนในศาสนานั้น เช่น ไปเกิดร่วมสังคมกันในกาลข้างหน้า

หากผู้ที่เดือดร้อนเป็นคนใกล้ตัวของเรา เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง เราต้องช่วยเหลือพวกเขามากน้อยแค่ไหนคะ

ถ้าเขาเป็นผู้มีพระคุณต่อเรา เราต้องแสดงความกตัญญูด้วยการให้ความช่วยเหลือและเลี้ยงดูอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อตอบแทนบุญคุณ แต่หากการช่วยของเราไปส่งเสริมให้เขาประพฤติอกุศลกรรมเพิ่มขึ้น อย่างนี้เราสามารถเลือกไม่ช่วยได้โดยไม่ถือว่าผิดแต่อย่างใด

ส่วนพี่น้องที่ไม่ได้มีบุญคุณต่อกันนั้น เราสามารถเลือกที่จะช่วยหรือไม่ก็ได้ แต่หากพบว่ามีเหตุทำให้เราต้องเข้าไปช่วยเหลือเขาอยู่บ่อยๆ โดยยากจะหลีกเลี่ยง นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าเรากับเขามีกรรมต่อกันมา เช่น เคยติดค้างเขาไว้ จึงต้องตามใช้หนี้ให้ในชาตินี้ แบบนี้เราก็ต้องก้มหน้าก้มตาใช้หนี้ให้เขาไป เมื่อหมดหนี้เมื่อไร ย่อมเลิกแล้วต่อกันและหมดเหตุปัจจัยที่จะทำให้เราต้องช่วยเหลือเกื้อกูลเขาในที่สุด

เมื่อเราพบผู้ที่เดือดร้อนหรือมีชีวิตที่ไม่ดี ส่วนมากแล้วคนเหล่านั้นมักจะอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา จะมีวิธีใดบ้างไหมคะที่จะทำให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองต่อไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือของใครอีก

ไม่มี เพราะชีวิตของใคร คนนั้นก็ต้องเป็นคนบริหารจัดการด้วยตัวเอง ในทางธรรม คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อบริหารจัดการชีวิตของใคร หากกรรมกำหนดให้เขามีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี เขาต้องแก้ด้วยตัวของเขาเอง คนที่รู้ไม่จริงพยายามเข้าไปช่วยเหลือหรือเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของคนอื่น ย่อมไม่อาจต้านทานอำนาจของกรรมได้ และอาจถูกเจ้ากรรมนายเวรของเขาตามจองเวรได้อีกด้วย

เรื่องอย่างนี้เราต้องใช้สติปัญญาเป็นเครื่องวิเคราะห์ และที่สำคัญ ปัญญาที่ใช้นั้นต้องเป็นปัญญาเห็นแจ้งที่ถูกตรงตามธรรมด้วย เพราะถ้าเราใช้แค่ปัญญาทางโลกมอง เมื่อเราเห็นเขาเดือดร้อน เกิดความสงสาร เราย่อมเข้าไปช่วยทันที แบบนี้แม้ว่าจะได้บุญ แต่ก็ได้บาปติดตัวกลับมาด้วย เมื่อใด้ใช้ปัญญาเห็นแจ้งมองปัญหา เราจะเห็นเงื่อนไขต่างๆ ที่ซับซ้อนกว่านั้น และสามารถพิจารณาได้อย่างรู้เท่าทันว่ากรณีใดบ้างที่เราควรและไม่ควรเข้าไปร่วม ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องเข้าไปร่วมในอกุศลวิบากของเขาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  ฐิติขวัญ เหลี่ยมศิริวัฒนา

photo by MichaelGaida on pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ตัวอย่างของ การทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ – ข้อคิดดี ๆ ที่ชาวพุทธควรรู้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.