กุศลกรรมบถ 10

เหนือกว่าศีล 5 คือ กุศลกรรมบถ 10 โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

เหนือกว่าศีล 5 คือ กุศลกรรมบถ 10อันที่จริงแล้วศีลห้านั้นไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น แต่เป็นข้อปฏิบัติที่มีอยู่ก่อนแล้วในสังคมอินเดียโบราณ และเป็นธรรมประจำใจของมนุษยชาติทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะในยุคใดสมัยใด มีพระพุทธเจ้าหรือไม่ มนุษย์ก็มีศีลห้าเป็นธรรมประจำใจมาโดยตลอด เพื่อให้เกิดสันติภาพในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม

ส่วนข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สอน เป็นผู้บัญญัติเพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ หลักกุศลกรรมบถ 10 และ อกุศลกรรมบถ 10 โดยได้ระบุรายละเอียดของสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเอาไว้อย่างจำเพาะเจาะจงกว่าศีลห้าเล็กน้อย เพื่อให้ชัดเจนมากขึ้นสำหรับการนำไปปฏิบัติ แต่ทั้งนี้อาตมาอยากจะเน้นย้ำอีกครั้งว่า ธรรมะในพระพุทธศาสนาทุกข้อทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อธรรมใด ๆ ก็ตาม ล้วนเป็นเพียงคำสอน ไม่ใช่คำสั่ง ไม่ใช่ข้อห้าม ไม่ใช่กฎหมาย ไม่ใช่ข้อบังคับ คำว่า “เวระมะณี” สำหรับคฤหัสถ์ ชาวบ้าน ฆราวาสทั้งหลายจึงหมายความว่า เครื่องเว้น ควรเว้น หรือเว้นเสียบ้างเท่านั้น เช่น วันโกน วันพระ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันสำคัญของชาติ วันนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ วันเกิดของตนเองหรือคนในครอบครัว ฯลฯ ก็ควรถือเป็นโอกาสอันดีที่จะละเว้นจากการทำความชั่วเสียบ้าง เป็นต้น ส่วนสิ่งใดที่ทำผิด ล่วงละเมิดไปแล้วก็ไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป

หลัก กุศลกรรมบถ 10 ที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็เช่นกัน เป็นเพียงข้อปฏิบัติเพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้เป็นไปในทางกุศลเท่านั้น ไม่ใช่กฎข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจนทำให้เกิดความอึดอัด ไม่เป็นธรรมชาติแต่อย่างใด

กุศลกรรมบถ 10 คือทางแห่งกรรมดี อันจะนำไปสู่สุคติ มี 10 อย่าง คือ

กายกรรม 3 ได้แก่

1. เว้นจากการทำร้ายทำลายชีวิต

2. เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้

3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

วจีกรรม 4 ได้แก่

4. เว้นจากการพูดเท็จ

5. เว้นจากการพูดส่อเสียด

6. เว้นจากการพูดคำหยาบ

7. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

มโนกรรม 3 ได้แก่

8. ไม่โลภคอยจ้องอยากได้ของเขา

9. ไม่คิดร้ายเบียดเบียนเขา

10. มีสัมมาทิฏฐิ เห็นถูกต้องตามธรรม

ส่วนอกุศลกรรมบถ 10 ก็ได้แก่ทางแห่งกรรมชั่วอันจะนำไปสู่ทุคติทั้ง 10 ประการที่ตรงข้ามกับกุศลกรรมบถ 10 ข้อนั่นเอง

ในบรรดาหลักปฏิบัติทั้ง 10 ข้อนี้ ข้อที่ 10 คือการมีสัมมาทิฏฐิเห็นถูกต้องตามธรรมนั้นเรียกได้ว่าเป็นข้อที่สำคัญมากที่สุด เพราะต่อเมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น บุคคลจึงจะสามารถปฏิบัติตามหลักกุศลกรรมบถ 10 ได้อย่างสมบูรณ์ มิฉะนั้นแล้วความเข้าใจที่ผิด ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็จะทำให้ไม่สามารถตัดสินได้ว่าอะไรควรทำ อะไรควรเลี่ยง

ที่ว่าการมีสัมมาทิฏฐิคือการเห็นถูกต้องตามธรรมนั้นคืออะไร ก็คือการรู้และเข้าใจว่าอะไรคือบุญ อะไรคือบาป อะไรคือสิ่งที่ควรกระทำ อะไรคือสิ่งที่ควรเว้น อะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นโทษ ใครคือผู้ที่ควรเคารพ ฯลฯ ซึ่งความรู้ที่ถูกต้องนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการสดับคำของพระพุทธเจ้าอยู่เนือง ๆ แล้วพิจารณาตามจนกระทั่งเกิดปัญญา เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นในจิตใจ

ด้วยเหตุนี้ท่านจึงตรัสว่า ไม่มีบาป ไม่มีอกุศลใดที่จะเลวร้ายไปกว่ามิจฉาทิฏฐิอีกแล้ว และก็ไม่มีกุศลใดที่จะมีประโยชน์ มีคุณไปมากกว่าสัมมาทิฏฐิ ถ้าสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้วคือไม่ต้องห่วง แต่ถ้าสัมมาทิฏฐิไม่เกิด ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ ต่อให้ทำบุญทำกุศลแค่ไหนอกุศลก็ยังเกิดได้ ใส่บาตรอยู่ก็ยังบาป เพราะใจคิดไม่ดีกับพระ หรือคิดโลภอยากได้บุญ พอใส่บาตรเสร็จก็ยกมือขึ้นท่วมหัว “เจ้าประคู้ณ ขอให้ถูกหวยรางวัลที่หนึ่งด้วยเถิด” อะไรอย่างนี้เป็นต้น หรือบางคนทำบุญแล้วแทนที่จะสบายใจกลับหงุดหงิด คิดอกุศลไปกันใหญ่ว่า “ทำบุญทุกวัน แต่ทำไมยังไม่ถูกหวยสักที” “ทอดกฐินทุกปี แต่ทำไมชีวิตไม่ดีขึ้นเลย” แบบนี้คือมิจฉาทิฏฐิเต็มขั้น เพราะที่จริงแล้วการใส่บาตรและทำบุญทอดกฐินนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการถูกหวยหรือการมีชีวิตที่ดีขึ้นเลย แต่เพราะมีมิจฉาทิฏฐิจึงสามารถดึงสองเรื่องนี้มาเกี่ยวกันจนได้ ทำให้แทนที่ทำบุญแล้วจะได้บุญกลับได้บาปแทน

 

ที่มา  จิตดวงสุดท้าย : พ.นวลจันทร์ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.