พุทธชัยมงคลคาถา

พุทธชัยมงคลคาถา กับเส้นทางสู่ความสำเร็จของ ดร. ธนากร ศรีชาพันธุ์

พุทธชัยมงคลคาถา กับเส้นทางสู่ความสำเร็จดร. ธนากร ศรีชาพันธุ์ อดีตนักกีฬาเทนนิสทีมชาติ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการลูกสักหลาดมากว่า 30 ปี ทั้งในฐานะนักกีฬาและโค้ชผู้ฝึกสอนนักกีฬาทีมชาติ และนักกีฬาอาชีพ ปัจจุบันเป็นประธานสาขาวิชาพลศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เขาเริ่มสนใจธรรมะตั้งแต่ยังเป็นนักกีฬาเทนนิส และพบว่าหลักธรรมสามารถนำมาปรับใช้กับการฝึกซ้อมและแข่งขันเทนนิสได้ เมื่อมาทำงานในฐานะโค้ชผู้ฝึกสอน จึงได้น้อมนำ “พุทธชัยมงคลคาถา” หรือ “คาถาพาหุงมหากา” บทสรรเสริญชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ มาเป็นบทสวดมนต์สำหรับสร้างสมาธิและประยุกต์เป็นหลักในการพัฒนานักกีฬาเทนนิสให้ก้าวสู่ความสำเร็จ

พุทธชัยมงคลคาถา

จากการศึกษาพุทธประวัติและการสวด “พุทธชัยมงคลคาถา” ทั้ง 8 บท เกิดเป็นหลักสำคัญ 8 ข้อดังนี้

1. มีจิตใจแน่วแน่ ไม่ย่อท้อต่อการฝึกซ้อม และลงแข่งขันด้วยจิตใจที่อดทนมุ่งมั่น ไม่ว่าสถานการณ์ในเกมจะเป็นอย่างไร ต้องมีสติและจิตใจอันแน่วแน่ที่จะมุ่งสู่ความสำเร็จ ดังเช่นที่พระพุทธองค์ทรงตั้งสัตยาธิษฐานที่จะไม่ยอมลุกจากบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์จนกว่าจะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงชนะพญามารพร้อมด้วยเสนามารได้ โดยมิได้หวั่นไหวแม้แต่น้อย

2. รู้เขารู้เรา นักกีฬาที่ดีต้องศึกษาวิเคราะห์คู่แข่ง เพื่อวางแผนการเล่นตอบโต้ได้ตรงจุด และเป็นฝ่ายได้เปรียบโดยไม่ต้องออกแรงในเกมมากเกินไป ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสเป็นฝ่ายชนะได้ในที่สุด ดังเช่นที่พระพุทธองค์ทรงเลือกวิธีปราบอาฬวกยักษ์ด้วยการใช้พระปัญญา และทรงได้รับชัยชนะอย่างไม่ต้องเสียพละกำลังแม้แต่น้อย

3. มีเมตตาและมีน้ำใจนักกีฬา นอกเหนือจากฝีมือแล้ว การมีมารยาทที่ดีในเกมการแข่งขัน ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ หรือแม้แต่การน้อมรับการตัดสินจากกรรมการ ซึ่งอาจมีความผิดพลาด (Bad Call) ในบางครั้งย่อมชนะใจคนดูได้ ดังความเมตตาของพระพุทธองค์ที่ทรงมีต่อช้างนาฬาคิรีที่คิดร้ายต่อพระองค์ฉันนั้น

4. ฉลาดทางอารมณ์ ไม่แสดงความเกรี้ยวกราด เมื่อควบคุมอารมณ์ได้นักกีฬาจะรู้จักปล่อยวาง ยอมรับความผิดพลาดของตนเองและนำไปแก้ไขปรับปรุงต่อไป ดังบทเรียนจากองคุลีมาลที่มีปัญญามาก แต่กลับหลงผิด และได้ฉุกคิดเมื่อพระพุทธองค์เปล่งพระสุรเสียงว่า “เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด”

พุทธชัยมงคลคาถา

5. ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะต้องผ่านบททดสอบทางจิตใจ จากความผิดพลาด ความพ่ายแพ้ การยั่วยุ จากแผนการเล่นของคู่แข่งหรือกองเชียร์ฝ่ายตรงกันข้าม นักกีฬาต้องใช้ความนิ่งและกำหนดจิตใจให้สงบ ไม่แสดงอารมณ์ไปตามสิ่งเร้าต่าง ๆ เพื่อรักษาฟอร์มการเล่น และไม่พลาดท่าเสียทีในเกม ดังที่พระพุทธองค์ทรงเอาชนะคำกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกาด้วยวิธีการสงบระงับพระหฤทัยในท่ามกลางหมู่ชน

6. มีสติเสมอ คงเคยได้ยินกันว่า “สติมา ปัญญาเกิด” หากคิดแต่จะเอาชนะคู่แข่งอาจทำให้นักกีฬาวิตกกังวลจนขาดสติ ไม่สามารถเล่นได้ตามแผนหรือแก้ปัญหาการเล่นตรงหน้าได้ นักกีฬาจึงต้องพัฒนาฝีมือ ร่างกาย ฝึกสมอง และสมาธิ ให้เกิดสติรู้ตัวจนเกิดปัญญาในการเล่นให้ได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงชนะสัจจกนิครนถ์ด้วยพระปัญญาดุจประทีปอันโชติช่วง

7. รับฟังความคิดเห็นจากผู้ฝึกสอน นักเทนนิสทุกระดับต้องมีโค้ชคอยดูแลให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาเกมการเล่น นักกีฬาที่คิดว่าตัวเองเก่งจนไม่ยอมฟังผู้ฝึกสอน อาจเดินทางสู่ความพ่ายแพ้และล้มเหลวในอาชีพได้ โค้ชควรตักเตือนพร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ต่าง ๆ หรือแสดงฝีมือให้นักกีฬายอมรับ ดังบทเรียนของนันโทปนันทะ ผู้มีความหลงผิด มีฤทธิ์มาก พระพุทธองค์จึงทรงมอบฤทธิ์ให้พระมหาโมคคัลลานเถระไปปราบ

8. ไม่หลงตัวเองและไม่ลืมตัว ข้อนี้เป็นส่วนเสริมของข้อ 7 การที่นักกีฬาหลงตัวเองว่าเก่งหรือลืมตัวย่อมทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย โค้ชต้องคอยเตือนให้นักกีฬารู้ว่าตนเองมีฝีมือในระดับไหนและกระตุ้นให้ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เพื่อความสำเร็จที่สูงขึ้นต่อไป ดังที่พระพุทธองค์ทรงชนะพกะพรหม ผู้มีฤทธิ์และสำคัญตนผิดว่าเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์ด้วยเทศนาญาณนั่นเอง

หลักการทั้ง 8 นี้นอกจากจะใช้ได้ดีในการฝึกสอนนักกีฬาเทนนิสแล้ว คุณธนากรบอกว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับคนทุกสาขาอาชีพอีกด้วย

ลองนำไปใช้กันดูนะคะ…

 

ที่มา : นิตยสาร Secret

เรื่อง : ธนากร ศรีชาพันธุ์

เรียบเรียง : ของขวัญ

ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.