บทพิจารณาอาการ 32 เพื่อการหลุดพ้นและหยุดการปรุงแต่ง

บทพิจารณาอาการ 32 – คำว่า อาการ 32 เป็นคำที่มาจากคติในทางพระพุทธศาสนา ที่ถือว่าร่างกายของคนเราสามารถพิจารณาจำแนกออกเป็นธาตุทั้ง 4 คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน)  อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ)  เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) และ วาโยธาตุ (ธาตุลม)  ในจำนวนธาตุทั้ง 4 นี้ มีอยู่ 2 ธาตุ ที่สามารถจับต้องได้ คือ ปฐวีธาตุ กับ อาโปธาตุ

ปฐวีธาตุ เป็นธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง มี 19 อย่าง ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า  กับ มันสมอง อีก 1 อย่าง รวมเป็นทั้งหมด 20 อย่าง  ส่วน อาโปธาตุ เป็นธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ มี 12 อย่าง ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร   หากเรานับรวม ปฐวีธาตุ และ อาโปธาตุ ก็จะได้ 32 อย่าง เราจึงเรียกว่า อาการ 32 ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า ทวัตติงสาการ อาการ 32 จึงมิได้หมายถึงอวัยวะ 32 ส่วน อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่หมายถึงส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายของเราตามที่กล่าวมาเบื้องต้น

อัตถิ อิมัสมิง กาเย

๑. เกศา คือผม
อย่าได้ชื่นชม ว่าผมโสภา ทั้งเก้าล้านเส้น ล้วนเป็นอนิจจา อย่าได้โสกาว่าเป็นแก่นสาร

๒. โลมา คือขน
งอกทั่วตัวตน ก็เป็นอนิจจัง ได้เก้าโกฏิเส้น บ่มิเป็นแก่นสาร เวลาถึงกาล

๓. นะขา คือเล็บ
ยาวนักมักเจ็บ ว่าเล็บทั้งหลาย เปื่อยเน่าพุพอง เป็นหนองภายใน ทนทานเอาไว้ ย่อมเป็นกังวล

๔. ทันตา คือฟัน
สามสิบสองอัน ข้างล่างข้างบน งอกขึ้นภายหลัง น่าชังเหลือทน หลุดถอนคลอนหล่น ทนทุกข์เวทนา

๕. ตะโจ คือหนัง
ห่อหุ่มกายัง เท่าผลพุทรา ห่อหุ้มรอบตัว ทั่วทั้งกายา เมื่อม้วยมรณา แร้งกาจิกกิน

๖. มังสัง คือเนื้อ
อย่าได้เอื้อเฟื้อ เนื้อเก้าร้อยชิ้น เน่าหนองกองเกื้อง อยู่เหนือแผ่นดิน แร้งกาจิกกิน เมื่อสิ้นอาสัญ

๗. นะหารู คือเอ็น
เมื่อตัวยังเป็น เอ็นซักไหวหวั่น เอ็นใหญ่เก้าร้อย เอ็นน้อยเก้าพัน รัดรึงตรึงกัน ผูกพันกายา

๘. อัฐิ คือกระดูก
นั้นพันผูก กระดูกนานา ได้ ๓๐๐ ถ้วน ล้วนเป็นอนิจจา อย่าได้โสกา ว่าเป็นแก่นสาร

๙. อัฏฐิมิญชัง คือเยื่อในกระดูก
กระดูกนั้นยัง มีเยื่อยึดและยาน หล่อเลี้ยงสังขาร เวลาถึงกาล สาปสูญบรรลัย

๑๐. วักกัง คือม้าม
อยู่แอบแนบข้าง ริมเนื้อหัวใจ ผู้มีปัญญา จดจำเอาไว้ เร่งคิดให้ได้ ถึงพระอนิจจัง

บทพิจารณาอาการ 32

๑๑. หะทะยัง คือหัวใจ
พระท่านขานไข ว่าใจนานา ใจขึงใจโกรธ ใจโทษโทสา ใจมารแกล้วกล้า ฆ่าสัตว์ทั้งหลาย
ใจมักส่อเสียด ใจลวงใจล่อ ให้เขาหลงไหล ใจมือใจมัว หลงตัวจนตาย ใจดำนั้นไซร้ เหมือนสัตว์เดรัจฉาน
ใจร้ายใจพาล จะจมอยู่นาน ในจตุรบาย ใจมักทำบุญ ให้คิดถึงคุณศีลทานทั้งหลาย
ให้แล้วให้เล่า ข้าวน้ำมากมาย จงเร่งขวานขวาย มุ่งหมายทำบุญ ไหว้พระสวดมนต์ กุศลผลบุญ ใจมั่นเจือจุน ด้วยใจศรัทธา
ใจนั้นสุภาพ ละอายต่อบาป ใจไม่หยาบช้า ซื่อสัตย์มั่นคง จำนงเจรจา หาโทษโทสา ไม่มีแก่ตน
ใจดั่งดวงแก้ว ประเสริฐเลิศแล้ว ส่องโลกโลกา กุศลผลบุญ ทำไว้นานา เราท่านเกิดมา ไม่เป็นแก่นสาร
ใจถือขันตี เมตตาปราณี ฝูงสัตว์ทั้งหลาย เหนี่ยวเอามรรคผล ให้ถึงพระนิพพาน
แม้นสิ้นอาสัญ ย่อมพ้นอบาย เราจะขอกล่าว ถึงต่ำลงไป

๑๒. ยะกะนัง คือตับ
รองรับหัวใจ เป็นพวงแขวนห้อย ย้อยอยู่ข้างใน อย่าได้สงสัย ว่าจะทนทาน

๑๓. กิโลมะกัง คือพังผืด
หุ้มเนื้อเป็นพืด มองดูแล้วน่าขัน

๑๔. ปิหะกัง คือไต
มีอยู่ข้างใน ร่างกายของตน

๑๕. ปัปผาสัง คือปอด
คิดดูให้ตลอด มันไม่เป็นผล ล้วนเป็นเครื่องเน่าเปล่าในตัวตน มันไม่เป็นผล เหลือล้นโสมม

๑๖. อันตัง คือไส้ใหญ่
ดุจดังถุงไซร์ ขดไว้ให้กลม สามสิบสองขด ดุจดังหอยขม อย่าได้นิยม เครื่องเน่าภายใน

๑๗. อันตะคุณัง คือไส้น้อย
ดุจดังสายสร้อย ร้อยพันเข้าไว้ เมื่อกลืนอาหาร เปรี้ยวหวานเข้าไป อยู่ในลำไส้ น่าเกลียดนักหนา

๑๘. อุทะริยัง คืออาหารใหม่
กัดกินเข้าไป ทุกสิ่งนานา อุตส่าห์กลำกลืน แล้วรากออกมา เร่งคิดอนิจจา ทั่วทั้งกายี

๑๙. กะรีสัง คืออาหารเก่า
เครื่องสูญสิ้นเปล่า เปื่อยเน่าหมองศรี เป็นมูลขุ่นข้น ทุกคนย่อมมี อยู่ในกายี เครื่องเหม็นภายใน

๒๐. ปิตตัง คือดี
เขียวคลำดำหมี ดุจดังถ่านไฟ ครั้นสิ้นดับจาก พลัดพรากสูญไป เร่งคิดให้ได้ ถึงพระอนิจจา

บทพิจารณาอาการ 32

๒๑. เสมหัง คือเสลด
เครื่องน่าสังเวช เสลดนานา ใกล้ม้วยมรณา กลัดกลุ้มหัวใจ

๒๒. ปุปโป คือหนอง
เน่าเปื่อยพุพอง เป็นหนองภายใน ไม่ถึงครึ่งวัน สาปสูญบรรลัย เร่งคิดให้ได้ ถึงหลักอนิจจา

๒๓. โลหิตัง คือเลือด
ไหลมาไม่เหือด เลือดทั้งหลาย ยี่สิบทะนาน ซาบซ่านกายา พระท่านพรรณนา ว่าเลือดในตน

๒๔. เสโท คือเหงื่อ
ไหลมาซาบเนื้อ ทั่วทุกเส้นขน ไหลมาเมื่อร้อย บ่ห่อนทานทน หลบหลีกบ่พ้น ทั่วทั้งชายหญิง

๒๕. เมโท คือมันข้น
แล่นอยู่ในตน แห่งคนทั้งหลาย

๒๖. อัสสุ คือน้ำตา
ไหลมามิวาย เมื่อใกล้จะตาย พลัดพลากจากกัน

๒๗. วะสา คือมันเหลว
ไหลมารวดเร็ว มีมากเหลือใจ

๒๘. เขโฬ คือน้ำลาย
ไหลซาบซ่านไป ทั่วทั้งไรฟัน

๒๙. สิงฆานิกา คือน้ำมูก
จำไว้ให้ถูก น้ำมูกอนันต์ ยืดยาดเลอะเทอะ เปรอะเปื้อนมหันต์ ไหลออกมาทุกวัน โสโครกเต็มที

๓๐. ละสิกา คือไขข้อ
มีตามที่ต่อ ทุกทั่วอินทรีย์ หล่อเลี้ยงภายใน ร่างกายของเรานี้ สำหรับกายี เยียดยัดดัดกาย

๓๑. มุตตัง คือน้ำมูตร
เมือใดพิสูจน์ น้ำมูตรในกาย น้ำเค็มน้ำขื่น เหม็นหื่นเหลือใจ เต็มแล้วจึงไข ทุกเมื่อเชื่อวัน

๓๒. มัตถะเก คือหู
สิ่งไม่น่าดู เหมือนหูกะทะ
มัตถะลุงคัง คือตา
ต้องม้วยมรณา อนิจจาดุจกัน
คัณฐี คือน้ำมันสมอง
อยู่ในกระโหลก ศีรษะชะโงก เนื่องสูงกายา เมื่อเป็นไข้หวัด ปวดแสบเหน็บขัด คัดทั่วนาสา
อาการ ๓๒ เนืองนองกันมา ล้วนแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั่วทุกตัวคน อวิชชา คือตัวโง่เขลา
ให้เบาปัญญา พาให้ไม่เห็นผล ปกปิดจิตปุถุชน ทั้งหญิงและชาย ผู้คิดไม่ได้ ย่อมตายเปล่าเอยฯ

 

ที่มา : คู่มือชาวพุทธ

Photo by jesse orrico on Unsplash, VSRao on pixabay,

Photo by Nhia Moua on Unsplash

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.