ปลิโพธ

” ปลิโพธ ” ความกังวลที่ต้องตัดก่อนทำจิตให้สงบ

ก่อนทำจิตให้สงบ ผู้ปฏิบัติต้องตัดความกังวลทั้งหมด ความกังวลจะเป็นสิ่งขวางกั้นไม่ให้จิตเดินเข้าสู่ความสงบแน่วแน่ หากผู้ปฏิบัติสมาธิไม่อาจสลัดความกังวลต่าง ๆ ได้ จิตใจจะว้าวุ่น ดีดดิ้น ไม่มีทางสงบรวมตัวเป็นหนึ่งได้ ความกังวล ( ปลิโพธ ) ที่จะขวางกั้นความสงบของจิตมี 9 ประการ

1.ที่อยู่อาศัย ภาระที่ต้องดูแลจัดการ ซ่อมแซมบ้านเรือน เช่น ดูแลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน เป็นอาทิ ทำให้เกิดความกังวลใจ ผู้ทำสมาธิจะต้องเคลียร์ให้เรียบร้อย ไม่ให้เกิดความกังวลเวลาทำสมาธิ หากยังมีความกังวลเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้อยู่ จิตจะวกวนอยู่กับภาระที่คั่งค้าง ก้าวเข้าสู่ความสงบไม่ได้

2.ห่วงใยญาติพี่น้อง ญาติพี่น้องมีเรื่องเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ต้องคดีความ ต้องการความช่วยเหลือกิจการบางอย่าง หากเรายังไม่ได้ช่วยเหลือญาติพี่น้องตามคำขอ จะรู้สึกกังวลใจ ไม่สบายใจ จิตใจกระวนกระวาย ควรเคลียร์เรื่องญาติพี่น้องให้เสร็จสิ้นก่อนทำสมาธิ จิตจึงจะสงบเร็ว

3.รายได้ ผู้ที่สาละวนอยู่กับการทำมาหากิน เลี้ยงดูครอบครัว คิดวางแผนเกี่ยวกับกำไรรายได้ทางธุรกิจ ถือเป็นอุปสรรคต่อการทำจิตให้สงบ หากเราต้องการทำจิตใจให้สงบแน่วแน่ จะต้องวางความคิดเหล่านี้เสียก่อน

4.รับผิดชอบทีมงาน การมีหน้าที่บริหารจัดการ ชี้แนะงานต่อลูกน้องในที่ทำงาน หากงานเหล่านี้ยังคั่งค้าง ถือเป็นอุปสรรคต่อการทำสมาธิ ก่อนทำจิตให้สงบต้องสะสางงานดังกล่าวให้เสร็จสิ้น

5.ธุรกิจการงาน งานที่ทำอยู่เป็นประจำ หากยังไม่เสร็จสิ้น หรือมีกำหนดเวลาให้เสร็จตายตัว จะเป็นอุปสรรคต่อการทำสมาธิ ผู้ทำสมาธิจะไม่อาจข่มตาทำจิตให้สงบได้ ต้องเคลียร์งานเหล่านี้ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

6.การเดินทาง การเดินทางทำธุรกิจ ศึกษาเล่าเรียน ท่องเที่ยว ต้องเตรียมการต่าง ๆ มากมาย หากยังสาละวนอยู่กับการเดินทาง จะเป็นอุปสรรคต่อการทำจิตให้สงบ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติให้พระอยู่จำพรรษาเพื่อตัดความกังวลดังกล่าว ผู้ทำสมาธิควรคำนึงถึงอุปสรรคข้อนี้ด้วยเช่นกัน

7.คนรักเจ็บป่วย พ่อ แม่ สามี ภรรยา หรือเพื่อนซี้เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ต้องการคนดูแลหรือเยี่ยมเยียน ผู้ทำสมาธิต้องจัดการสิ่งเหล่านี้ให้เสร็จสิ้น มิเช่นนั้นจะเกิดความกังวลใจ จิตไม่สงบรวมตัว

8.การเจ็บป่วย ความเจ็บไข้ได้ป่วยทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายแปรปรวนขาดความสมดุล จิตใจก็แปรปรวนขาดความสมดุลไปด้วย ผู้ปฏิบัติจะทำจิตให้สงบได้ยากกว่าปกติ ควรรักษาตัวเองให้หาย มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเสียก่อน จิตใจจึงจะปลอดโปร่งแจ่มใสได้

9.ศึกษาเล่าเรียน การเข้าเรียนในชั้น ทำรายงาน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำข้อสอบ และอื่น ๆ ถือเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งต่อการหาเหตุผล เมื่อผู้ปฏิบัติมัวสาละวนอยู่กับการใช้ความคิด จิตก็ฟุ้งซ่านวุ่นวาย รวมตัวเป็นหนึ่งไม่ได้

เมื่อเรารู้ว่าความกังวลดังกล่าวคืออุปสรรคสำคัญสำหรับการทำสมาธิ ปิดกั้นมิให้จิตเกิดความสงบแน่วแน่ ควรวางความกังวลเหล่านี้เสียก่อนที่จะทำสมาธิ หากผู้ปฏิบัติไม่สามารถวางความกังวลเหล่านี้ได้ การทำจิตให้รวมเป็นหนึ่งก็เป็นไปได้ยากยิ่ง

ผู้เขียนเคยทำสมาธิที่หุบเขาแห่งหนึ่งกับหลวงพ่อเครา หลวงพ่อแนะผู้เขียนไปนั่งสมาธิในถ้ำพญานาค ผู้เขียนพยายามทำจิตให้สงบอยู่หลายวัน แต่คว้าน้ำเหลวทุกครั้ง จึงขึ้นไปกราบเรียนถามอุบาย

“การทำจิตให้พลันสงบนิ่ง คุณอย่าไปหวังอะไร อย่าไปมีเงื่อนไขอะไร วางให้หมด ปล่อยให้หมด คิดเสียว่าคุณกำลังจะตายจากโลกนี้ หากคุณทำอย่างผมว่า จิตจะสงบรวมตัวได้เอง ไม่ยากดอก” หลวงพ่อตอบด้วยรอยยิ้มแฝงไปด้วยเมตตา

เมื่อทำตามคำแนะนำหลวงพ่อ จิตก็พลันสงบลงอย่างไม่น่าเชื่อ “ปล่อยวางทุกอย่างแล้ว จิตจะสงบเอง” นี่คือบทเรียนที่ผู้เขียนได้รับ

ฉะนั้น จะทำจิตให้รวมตัวเป็นหนึ่งไว ผู้ปฏิบัติต้องตัดความกังวลทั้งหมดที่มี คิดเสียว่าเราได้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว จิตจะดิ่งตัวลงสู่ความสงบได้เร็วอย่างไม่น่าเชื่อ

 

ที่มา : สมาธิ : กุญแจไขความสุข – ส. ชิโนรส สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

อุบายในการ ทำสมาธิ โดย พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.