9 วิธีที่จะช่วยให้กิเลสเบาบางลง โดย พระริวโนะสุเกะ โคะอิเกะ

9 วิธีที่จะช่วยให้กิเลสเบาบางลง  โดย พระริวโนะสุเกะ โคะอิเกะ

วิธีที่จะช่วยให้กิเลสเบาบางลง ทั้ง 9 ข้อนี้จะช่วยไม่ให้กิเลสปรากฏตัวออกมาเป็นคำพูดหรือการกระทำ ช่วยให้เราสามารถจับจิตเอาไว้ได้ง่ายขึ้น และจะส่งเสริมให้เราทำสิ่งที่ดีจนเป็นนิสัย

วิธีที่จะช่วยให้กิเลสเบาบางลง ข้อแรก

 

ควบคุมความอยาก

หากเราปล่อยให้ความโลภทำงาน จิตจะปั่นป่วน แรงใจในการทำงานก็จะหยุดชะงักลง
สิ่งสำคัญในการฝึกจิต คือ ทำความเข้าใจถึงเหตุที่ทำให้เกิดความโลภและผลที่จะเกิดตามมา แล้วตั้งใจตรวจดูจิตให้ได้มากเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้ความโลภบุกรุกเข้ามาได้อีก

 

ควบคุมความโกรธ

หากเราให้พลังการผลักไสสิ่งที่ไม่ต้องการซึ่งมีที่มาจากความโกรธทำงานต่อไปเรื่อยๆ เราจะรู้สึกกระวนกระวายใจ ภายในร่างกายก็จะเต็มไปด้วยสารพิษ กลายเป็นแหล่งที่จะดึงเอาความทุกข์ทั้งหมดที่มีเข้ามา ความโกรธเป็นกิเลสตัวที่ควรระวังและควรขจัดออกไปจากเรา

 

มองให้เห็นความเป็นจริง

เมื่อพลังแห่งความหลงทำงาน จิตจะออกห่างจาก “ปัจจุบัน” กระจัดกระจายไปที่โน่นที่นี่ และกลายเป็นแหล่งเพาะความโลภและความโกรธ การจะเห็นพลังงานความหลงที่เป็นต้นเหตุให้มองไม่เห็นความจริงนี้ จะต้องมีความใส่ใจที่ละเอียดมาก หากเรารู้ตัวแล้วป้องกันเอาไว้ได้ จิตที่มีความสงบเป็นปกติ ไม่สั่นไหว และแจ่มชัดก็จะเติบโตขึ้น

 

ไม่โกหก

ส่วนใหญ่แล้วการโกหกเกือบทั้งหมด เป็นไปเพื่อการทำให้ความต้องการของตนเองบรรลุผล หากโกหกแล้วครั้งหนึ่ง ก็จะต้องโกหกซ้ำอีกในครั้งต่อไปเพื่อไม่ให้ความจริงถูกเปิดเผย ในแต่ละครั้งที่โกหก สิ่งที่ผิดไปจากความเป็นจริงก็จะถูกใส่ลงไปในจิตใต้สำนึกทุกครั้ง เมื่อทำซ้ำๆ จิตจะยิ่งสับสนวุ่นวาย ทำให้ความสามารถในการควบคุมตนเองลดน้อยลง สูญเสียสมาธิและความสามารถในการตัดสินใจไปทีละนิด จึงควรระลึกเสมอว่าอย่าโกหก

 

 

ไม่วิพากษ์วิจารณ์โดยเอาความเห็นตัวเองเป็นใหญ่

เมื่อเรามีการวิพากษ์วิจารณ์ ด้วย “ทิฏฐิ” ซึ่งเป็นการยึดติดกับความคิดของตน พลังงานที่คอยบอกว่า “ฉัน! ฉัน!” ก็จะเพิ่มขึ้น และเนื่องจากมีความรู้สึกโจมตีฝ่ายตรงข้ามเข้ามาร่วมด้วย พลังงานความโกรธก็จึงเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

การพูดเรื่องที่ไม่ดีหรือเขียนสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองรู้สึกไม่พอใจ ภาพยนตร์ที่คิดว่าน่าเบื่อ เพลงหรือหนังสือที่ไม่ชอบ เป็นต้น เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยบนโลกใบนี้ แต่นั่นเป็นเพียงการกระทำที่ทำให้ตัวเราแปดเปื้อนและดูน่ารังเกียจด้วยความโลภและความโกรธ หากจะวิพากษ์วิจารณ์อะไร ให้ตรวจสอบจิตตัวเองให้ดีว่า ทำไปด้วยความยึดติดในความคิดของตัวเองหรือเปล่า

 

ไม่นินทา

หากเรานินทาใครสักคน จิตก็จะปั่นป่วนด้วยพลังงานความโกรธ แทนที่จะเป็นการระบายความเครียด แต่กลับกลายเป็นการทำให้ความเครียดที่ซ่อนตัวอยู่เพิ่มปริมาณมากขึ้น

 

ไม่พูดเรื่องที่ไม่มีประโยชน์

โดยเฉพาะการพูดโอ้อวดตนนั้น แม้ว่าฝ่ายที่พูดจะรู้สึกสนุก แต่ฝ่ายที่ฟังมักจะรู้สึกอึดอัด เมื่อเราเล่าเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ เรามักพูดไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าในบทสนทนานี้เราจำเป็นต้องถ่ายทอดอะไรออกไป หรืออีกฝ่ายได้ฟังเรื่องแบบใดจึงจะรู้สึกสนุก

นอกจากนี้ในขณะที่เรากำลังพูดกับอีกฝ่ายไปเรื่อยๆ นั้น ภายในจิตก็กำลังกระตุ้นความต้องการที่ว่า “เข้าใจฉันสิ! ยอมรับฉันสิ!” อยู่ด้วย จำไว้ว่า การโวยวายเรียกร้องให้คน “ยอมรับสิ!” นั้นกลับจะยิ่งทำให้ความรู้สึกของอีกฝ่ายไกลห่างออกไปอีก

 

ไม่นอกใจ

การนอกใจ เกิดมาจากความโลภที่มีมากเกินไป จึงทำให้ไม่รู้สึกพอใจกับคนรักเพียงคนเดียว การกำลังคบกับคนคนหนึ่งเท่ากับเป็นการหักหลังอีกคนหนึ่ง และการกำลังคบกับคนอีกคนหนึ่งก็เป็นการหักหลังคนอื่นไปอีก ความรู้สึกผิดที่เกิดในเวลานั้นจะกลายเป็นความไม่พอใจ ทำให้พลังงานความโกรธเพิ่มขึ้น

 

ไม่ฆ่าสิ่งมีชีวิต

การฆ่าสิ่งมีชีวิตนั้นใช้พลังงานความโกรธที่รุนแรงเป็นอย่างมาก

หากฝ่ายที่เราจะฆ่าเป็นมนุษย์ พลังงานความโกรธที่รุนแรงมากเป็นพิเศษจะถูกเรียกตัวมารวมกัน แต่ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นยุง หรือแมลงสาบ ก็ไม่แตกต่างกัน ในกรณีนี้พลังงานความโกรธก็ถูกกระตุ้นเช่นกันว่า “สิ่งมีชีวิตที่ฉันเกลียดนี่นา เกะกะขวางทางฉันเสียจริง สิ่งมีชีวิตแบบนี้น่าจะตายๆ ไปซะ ไม่สิ มันสมควรตาย”

อย่างน้อยเพื่อไม่ให้ฆ่า ขอแนะนำให้กางมุ้ง หรือใช้ยากันยุง

การเปลี่ยนความคิดจาก “เดี๋ยวฆ่าซะเลย” เป็น “ช่วยไปที่อื่นหน่อยได้ไหม” จะทำให้พลังงานความโกรธลดลง ทำให้จิตผ่อนคลายขึ้น และการทำเช่นนั้นจะก่อให้เกิดนิสัยที่ดีงามขึ้นมา

 

พบวิธีวิธีที่จะช่วยให้กิเลสเบาบางลง ไม่ให้โกรธอีกต่อไป รวมทั้งป้องกันความโลภและความหลงมากระตุ้นให้โกรธ

เพิ่มเติมได้จากหนังสือ ไม่โกรธอีกต่อไป  สนพ. อมรินทร์ธรรมะ ราคา 215 บาท สั่งซื้อ คลิกที่นี่ หรือ คลิกอมรินทร์ธรรมะ


บทความน่าสนใจ

Dhamma Daily : วิธี ตัดกิเลส สำหรับชาว shopaholic

เลิกเถอะ – วลีง่าย ๆ ในการจัดการกิเลส โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

กิเลสแมเนจเมนต์ จัดการราคะ โทสะ โมหะ อย่างชาญฉลาด

มนุษย์ยังคงหลับใหลอยู่ใน ถ้ำทองของกิเลส

เหตุผลที่นักปฏิบัติธรรมยังคงพ่ายแพ้กิเลส บทความจาก พระไพศาล วิสาโล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.