กรวดน้ำให้ถูกวิธี

Dhamma Daily : กรวดน้ำให้ถูกวิธี ทำอย่างไร ถ้าทำบุญแล้วไม่กรวดน้ำได้หรือไม่

ถาม : ทำไมถึงต้องมีการกรวดน้ำ มีการกรวดน้ำในพิธีการใดบ้าง การ กรวดน้ำให้ถูกวิธี ต้องทำอย่างไร ถ้าเราทำบุญแล้วไม่กรวดน้ำได้หรือไม่

ท่านว. วชิรเมธี ได้ไขปัญหาไว้ดังนี้

ตอบ : การทำบุญด้วยการให้ทานหรือการทำบุญเลี้ยงพระ เป็นเหตุให้มีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ดูเหมือนการกรวดน้ำหลังจากทำบุญเสร็จแล้วนี้จะได้คติมาจากเรื่องราวในสมัยพุทธกาล ซึ่งครั้งหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารทรงนิมนต์พระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่พระราชนิเวศน์ หลังจากฉันภัตตาหารแล้วทรงลืมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว คืนนั้นเอง เปรตซึ่งเป็นญาติของพระองค์จึงมาส่งเสียงร้องขอส่วนบุญ รุ่งขึ้นพระเจ้าพิมพิสารนำเรื่องนั้นไปกราบทูลว่าจะแก้ไขอย่างไรดี ทรงแนะนำให้ท้าวเธอทำบุญเลี้ยงพระแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ รุ่งขึ้นพระองค์จึงทรงทำบุญเลี้ยงพระอีกครั้งหนึ่ง และในครั้งนี้พระองค์ทรงตั้งพระทัยอุทิศส่วนกุศลแก่ปวงญาติในอดีตทุกคน ในการอุทิศส่วนกุศลนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงหลัั่ง “ทักษิโณทก” ตกต้องเหนือปฐพี คืนนั้นเปรตเหล่านั้นไม่มารบกวนพระองค์อีกเลย แสดงว่าพวกเขาได้รับส่วนบุญจากการอุทิศให้ของพระองค์นั่นเอง

นับแต่นั้นเป็นต้นมาจึงเกิดประเพณีนิยมในการทำบุญเลี้ยงพระว่า ต้องมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษหรือสรรพสัตว์ด้วยเสมอไป

การกรวดน้ำที่ถูกต้องทำได้ง่าย ๆ เพียงรินน้ำจากภาชนะหนึ่งลงสู่อีกภาชนะหนึ่ง หรือไม่เช่นนั้นก็รินลงสู่พื้นดินโดยตรงก็ได้ ขณะรินน้ำนั้นควรตั้งจิตอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่เราต้องการจะอุทิศส่วนกุศลให้ หลักการรินหรือกรวดน้ำนั้นมีอยู่ว่า พอพระสงฆ์ผู้เป็นประธานเริ่มอนุโมทนาด้วยบทว่า “ยะถา วาริวะหา…” ก็เริ่มรินน้ำ พอพระรูปที่สองรับว่า “สัพพี…” ต้องรินน้ำให้หมด แล้วประนมมือรับพรต่อไปอย่างสงบจนพระอนุโมทนาจบ

เคยมีความเข้าใจผิด ๆ ว่า เวลาพระกรวดน้ำ หากผู้ร่วมทำบุญมีกันหลายคน คนที่ไม่ได้กรวดน้ำก็ควรแตะกันและกันต่อไปจากคนแรกจนถึงคนสุดท้าย ขอแนะนำว่าวิธีนี้ไม่ถูกต้อง ควรมอบภาระในการกรวดน้ำนั้นให้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ ส่วนคนที่เหลือก็นั่งประนมมืออย่างสงบ หรืออาจอุทิศส่วนกุศลในใจไปด้วยก็ได้ การแตะหรือไม่แตะกันและกันเวลากรวดน้ำนั้นไม่มีผลอะไร

ในการทำบุญนั้น หากเราตั้งจิตอุทิศส่วนกุศลแล้วก็เป็นอันสำเร็จประโยชน์ได้เช่นกัน น้ำนั้นจะกรวดหรือไม่กรวดก็ได้ การกรวดน้ำเป็นเพียง “สัญลักษณ์” ของการอุทิศส่วนกุศลเท่านั้น หลักสำคัญของการอุทิศส่วนกุศลอยู่ที่ “ใจ” ไม่ใช่อยู่ที่น้ำ เมื่อใดก็ตามที่ทำบุญและอุทิศส่วนกุศลในใจแล้ว ก็โปรดสบายใจได้ว่าทำถูกต้องแล้ว

 

ที่มา : ธรรมะคลายใจ – ว. วชิระเมธี สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.