อิติปิโส

อิติปิโส : สวดกี่จบก็คบได้ | ท่าน ว. คลายความสงสัยเรื่องการสวดมนต์

การสวดมนต์บท อิติปิโส ที่ถูกต้อง…สวดกี่จบก็คบได้

ถาม: ดิฉันได้ยินได้ฟังมาว่า การสวดมนต์ อิติปิโส จะต้องท่องเท่ากับอายุ + 1 แต่ดิฉันสวดไม่ถึง จะสวดได้คืนละ 9 รอบเกือบทุกคืน แบบนี้จะได้อานิสงส์เท่ากับสวดอายุ + 1 หรือเปล่าคะ และดิฉันพยายามสวดคาถาชินบัญชรบทยาวเช่นกัน แต่ก็เป็นเหมือนคนอ่านหนังสือไม่ออกคือ จะเป็นลักษณะอ่านมากกว่าสวด ดิฉันก็เลยสวดบทย่อคืนละ 9 รอบเหมือนกัน อยากทราบว่าจะได้อานิสงส์เหมือนบทยาวไหมคะ

ตอบ: สาระสำคัญของการสวดมนต์แต่เดิมนั้นก็คือ การทบทวนหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะในสมัยโบราณนั้นยังไม่เน้นการเล่าเรียนโดยการอ่าน การเขียน การบันทึก วิธีการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมก็คือ การที่ครูบาอาจารย์ไปฟังมาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง เมื่อฟังแล้วก็เพียรกำหนดจดจำเอาไว้ เมื่อกลับมายังที่พักหรือสำนักของตนก็นำมาถ่ายทอดต่อให้ลูกศิษย์ ศิษยานุศิษย์ก็คอยฟังจากคำของครู แล้วกำหนดจดจำไว้ด้วยการท่องบ่นจนจำขึ้นใจ พอจำขึ้นใจแล้ว วันต่อไปก็เรียนมนต์ (คำสอน) บทใหม่ต่อไป แต่ก่อนจะเรียนบทใหม่ก็ต้องทบทวนบทเก่าให้แม่นยำเสียก่อน

การเรียนพระธรรมคำสอนจากปากของครูบาอาจารย์โดยตรงนี้ เรียกว่า การศึกษาระบบ “มุขปาฐะ” (จากปากสู่ปาก) การทบทวนคำสอนเก่าก่อนเรียนคำสอนใหม่เรียกว่า “การต่อหนังสือ” เมื่อทำอยู่อย่างนี้จนเป็นกิจวัตร ต่อมาจึงพัฒนากลายเป็นการสวดมนต์ และพอทำเป็นประจำจึงเรียกการสวดมนต์ว่า “การทำวัตรสวดมนต์”

มนต์ที่เรานำมาสวดก็คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง แต่ต่อมามีการประพันธ์พระธรรมคำสอนของพระองค์ให้อยู่ในรูปของฉันทลักษณ์ (กวีนิพนธ์) เพื่อให้สวดง่าย จำง่าย ภายหลังก็มีการประพันธ์มนต์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อใช้สวดในงานต่างๆ หรือเพื่อหวังผลเป็นความสวัสดีมีชัย มนต์ที่แต่งเพิ่มเติมขึ้นมาภายหลังนี้ บางทีก็เรียกกันว่า “ปริตร” หรือ “พระปริตร” (แปลว่า เครื่องคุ้มครองป้องกัน)

การสวดมนต์ซึ่งแต่เดิมคือการเรียนพระธรรมคำสอน ค่อยๆ เลือนมาเป็นการสวดเพื่อทำเป็นศาสนกิจอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าการทำวัตรสวดมนต์ และจากนั้นก็คลี่คลายมาเป็นการสวดมนต์เพื่อความสวัสดีมีชัย

มาถึงยุคของเรา การสวดมนต์มีความหมายแคบลงมาอีก กลายเป็นการสวดเพื่อเอาบุญบ้าง สวดเพื่อสะเดาะเคราะห์บ้าง สวดเพื่อหวังลาภลอย หรือสวดในฐานะเป็นคาถาสำหรับคุ้มครองป้องกันหรือทำให้ทำมาค้าคล่องบ้าง นี่ก็นับเป็นวิวัฒนาการของการสวดมนต์ที่ควรทราบไว้เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับการเป็นชาวพุทธ อย่างน้อยก็จะได้ใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบว่า ทุกวันนี้เราสวดมนต์ด้วยท่าทีอย่างไร ห่างออกไปจากเป้าหมายเดิมแท้มากน้อยแค่ไหน

สำหรับคำถามที่คุณโยมถามมานั้น ขอตอบว่า การสวดมนต์ไม่ว่าจะเป็นบทอิติปิโส (สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย) ก็ดี บทชินบัญชรก็ดี ถ้าตั้งใจสวดจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะสวดสั้น สวดยาว สวดย่อ หรือสวดเต็ม ก็ได้บุญด้วยกันทั้งนั้น สาระสำคัญอยู่ที่ความตั้งใจเป็นหลัก ถ้าสวดอย่างมีสมาธิ บทเดียวก็ได้บุญมาก แต่ถ้าสวดแต่ปาก ทว่าใจฟุ้งซ่าน สวดยาวนานแค่ไหนก็คงได้บุญนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง

ดังนั้น ทุกๆ ครั้งที่สวดมนต์ไม่ควรไปยึดติดว่าเท่านั้นจบ เท่านี้จบ เอาเป็นว่าสวดให้จบแต่ละบทด้วยความตั้งใจที่เต็มร้อย แม้เพียงบทเดียวก็นับว่าได้บุญอย่างยิ่งแล้ว และเหนืออื่นใด สิ่งที่ไม่ควรลืมทุกครั้งเวลาสวดมนต์ก็คือ ควรพยายามทำความเข้าใจด้วยเสมอไป วิธีง่ายๆ ก็คือ ควรหาบทสวดมนต์แปลมาฝึกสวดด้วย สวดไปทำความเข้าใจไป ถ้าทำอย่างนี้อยู่เสมอๆ วันหนึ่งการสวดมนต์ก็จะเป็นช่องทางให้บรรลุธรรมได้เหมือนกัน

เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่า การสวดมนต์นับเป็นช่องทางหนึ่งของการบรรลุธรรม กล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือ “สวดเป็นก็เห็นธรรม”

 

ธรรมะจากพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี : พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา

Image by Free-Photos from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.