ทำบาป

นี่แหละบาปแน่! เฉลย 5 ข้อคาใจของผู้ไม่แน่ใจว่าทำบาปหรือทำบุญ

นี่แหละบาปแน่! เฉลย 5 ข้อคาใจของผู้ไม่แน่ใจว่า ทำบาป หรือ ทำบุญ

ชาวพุทธหลายคนรู้ดีว่าการทำชั่วหรือผิดศีล ถือว่าเป็นบาป แต่มีหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่ทำเอาชาวพุทธอย่างเราสับสนว่าตกลงแล้วบาปหรือไม่บาปกันแน่ Secret จึงรวบรวมคำถามยอดฮิตเรื่องการ ทำบาป จากข้อเขียนของพระไพศาล วิสาโล มาเฉลยให้ฟัง

 

  1. ทำหมันสัตว์

ใครมีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะแมวคงเข้าใจดีว่า การทำหมันมีประโยชน์ต่อทั้งตัวแมวและผู้เลี้ยง คือช่วยให้แมวลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคติดต่อ ทำให้แมวออกไปเที่ยวนอกบ้านน้อยลง ซึ่งถือเป็นวิธีป้องกันแมวประสบอุบัติเหตุ ช่วยให้แมวปัสสาวะเป็นที่เป็นทาง แถมยังลดภาระการเลี้ยงดูของผู้เลี้ยงด้วย…แม้เราจะหวังดีกับสัตว์เลี้ยงขนาดนี้ แต่รู้ไหมว่า นี่แหละบาป

พระไพศาล อธิบายว่า การทำหมันให้สัตว์เป็นบาป แต่บาปน้อยเพราะไม่ไช่การทำร้ายร่างกายหรือจิตใจของเขา แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ (สำหรับคนที่เชื่อเรื่องสิทธิสัตว์ ก็ถือว่านี้เป็นการละเมิดสิทธิของเขา) การทำหมันนั้นอาจเป็นประโยชน์ต่อสัตว์อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ทำเพื่อประโยชน์ของผู้เลี้ยง จะเรียกว่าเป็นความจำเป็นของผู้เลี้ยงก็ได้ หาไม่ภาระจะเพิ่มขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงต้องชั่งตรองเอาเองระหว่างผลดีที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงสัตว์ (เช่น มีเพื่อนแก้เหงา) กับผลเสียหรือภาระที่ต้องแบกรับ (เช่นการที่ต้องทำบาปบางอย่าง รวมทั้งการกำจัดเห็บหรือหมัดที่รบกวนตัวสัตว์เลี้ยงด้วย)

 

  1. การุณยฆาต

ใครเคยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือหมาแมวที่ป่วยเจียนตายคงเข้าใจเรื่องนี้ดี การุณยฆาต  คือ การลงมือกระทำให้ผู้ป่วยตายโดยเจตนาเพื่อให้เขาเหล่านั้นจากไปอย่างสงบ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเป็นบุคคลที่ทุกข์ทรมานหมดหนทางที่จะรักษา หรือสมองไม่ทำงาน โดยต้องได้รับการช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น

พระไพศาล กล่าวว่า การุณยฆาต แม้จะทำด้วยความปรารถนาดี ก็ถือเป็นปาณาติบาต แม้บาปจะน้อยกว่าการฆ่าด้วยความโกรธแค้นก็ตาม อยากให้คุณชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีกับผลเสีย แต่หากไม่อยากผิดศีล ก็ขอแนะว่าพยายามช่วยเขาอย่างถึงที่สุด จนกว่าเขาจะไปเอง

คลิกที่นี่! หากต้องการอ่านข้อเขียนเพิ่มเติมเรื่อง “การุณยฆาตในมิติของพุทธศาสนา” โดยพระไพศาล

 

  1. ตำหนิพระที่ประพฤติไม่ดี

เชื่อว่าหลายคนเคยเห็นพระสงฆ์ไม่ประพฤติตามพระวินัยหรือหลงในอามิส พุทธบริษัทอย่างเราๆ ก็อดเตือนท่านไม่ได้ แต่หารู้ไม่ การเตือนบางรูปแบบก็จัดเป็นบาป

พระไพศาล กล่าวว่า บาปหรือไม่บาปอยู่ที่เจตนา หากเตือนด้วยความปรารถนาดี ก็ไม่บาป แต่ถ้าตำหนิต่อว่าด้วยความโกรธเกลียดหรืออยากให้เขาเจ็บปวดเป็นทุกข์ อันนั้นจึงจะเป็นบาป เพราะทำด้วยเจตนาที่เป็นอกุศล

อย่างไรก็ตามแม้เตือนด้วยความปรารถนาดีแล้ว จะให้ได้ผลก็ต้องดูกาละและเทศะ รวมทั้งใช้วิธีการที่นุ่มนวล คือใช้วาจาสุภาพรวมทั้งมีกุศโลบายด้วย

 

  1. โกหกด้วยเจตนาดี

การโกหกด้วยเจตนาอันดี หรือเรียกอีกอย่างว่า การโกหกสีขาว (White Lies) นั้นแม้จะเป็นไปเพื่อรักษาน้ำใจคนอื่น แต่รู้ไหมว่านี่แหละบาป

พระไพศาล อธิบายว่า การพูดโกหกนั้นแม้จะมีเจตนาดี แต่ถ้าตั้งใจโกหก ก็ถือว่าผิดศีลทั้งนั้น แต่ก็ยังมีส่วนดีตรงที่มีเจตนาดี ต้องมองแยกเป็นส่วน ๆ จะให้ดีก็ควรมีทั้งเจตนาดีและพูดความจริง

การพูดความจริงโดยไม่ก่อผลร้ายต่อผู้ฟังนั้น ทำได้เสมอ อยู่ที่ว่าจะพูดอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องทักษะและปฏิภาณ จะเรียกว่าเป็น social skill อย่างหนึ่งก็ได้ ใหม่ ๆ ยังทำได้ไม่ถนัด ก็อย่าท้อถอย หมั่นทำไปเรื่อย ๆ ก็จะทำได้ดีขึ้น ๆ

การโกหกด้วยเจตนาดีนั้น หากทำบ่อย ๆ จะติดนิสัย และโกหกง่ายขึ้น แม้แต่เรื่องเล็กน้อย ก็โกหกเพียงเพื่อความสะดวกของผู้พูดเท่านั้น แต่อาจจะเอาความปรารถนาดีต่อผู้อื่นมาเป็นข้ออ้างก็ได้ พอเป็นนิสัยแล้วจะแก้ยากมาก

 

  1. ทำบุญกฐิน ผ้าป่าด้วยความอึดอัดใจ

หลายคนอึดอัดกับการทำบุญแจกซองผ้าป่า กฐินที่มีมาบ่อยๆ แม้เจ้าตัวจะทำบุญไปแล้ว แต่ก็อดรู้สึกแย่ไม่ได้

พระไพศาล กล่าวว่า การทำบุญให้ทาน แม้ไม่เต็มใจ ก็ยังถือว่าได้บุญ แต่ก็มีบาปหรืออกุศลธรรมเจือปน  บาปหรืออกุศลธรรมที่ว่า หมายถึงความหม่นหมอง ความหงุดหงิด หรือโทสะ ซึ่งล้วนทำให้เป็นทุกข์

อันที่จริงหากคุณไม่พร้อมจะทำบุญ ก็เพียงแต่เก็บซองไว้เฉย ๆ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกเป็นลบก็ได้  แต่ที่คุณรู้สึกอึดอัดคงเป็นเพราะคุณรู้สึกถูกกดดันให้ต้องบริจาคเงิน  คำถามก็คืออะไรทำให้คุณควักเงินเมื่อไม่มีใครบังคับคุณ เป็นเพราะคุณกลัวเขาตำหนิหรือเปล่า  ปัญหาของคุณอาจอยู่ที่ตรงนี้ คือไม่ได้อยู่ที่คนแจกซอง แต่อยู่ที่คุณต้องการการยอมรับจากคนอื่น หรือกลัวเขาไม่ชอบคุณต่างหาก   คงเป็นเพราะคุณเอาตัวเองไปผูกติดกับสายตาของคนอื่นมากเกินไป  คุณจึงรู้สึกจำยอมต้องควักเงินทั้ง ๆ ที่ไม่เต็มใจ

ถ้าคุณแคร์สายตาคนอื่นน้อยลง จะมีซองผ้าป่ากี่ซองมายื่นให้คุณ คุณก็จะไม่รู้สึกอึดอัด และหากอยากเก็บซองนั้นไว้เฉย ๆ เพราะยังไม่พร้อมจะให้ ก็จะไม่รู้สึกเป็นทุกข์เลย   และเมื่อถึงคราวที่คุณพร้อมจะทำบุญ  คุณก็จะทำด้วยความรู้สึกเป็นสุข เพราะเป็นการทำด้วยความเต็มใจ โดยไม่ได้ปรารถนาการยอมรับจากใคร  อย่างนี้ต่างหากที่เป็นการทำบุญอย่างแท้จริง

 

รู้หรือไม่! ไม่ต้องรอตายก็ลงนรกได้

พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า มีนรกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ตายก่อน เรียกว่า “ฉผัสสายตนิกนรก” หรือ นรกที่เกิดจากอายตนะทั้ง 6 คือเกิดความร้อนใจเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ลิ้นได้รับรส จมูกได้กลิ่น กายได้สัมผัส ใจคิดนึกในอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา ไม่ชอบใจ นรกแบบนี้เกิดขึ้นกับคนที่ทำบาป รวมทั้งกับคนทั่วไปด้วยเวลามีความโลภ อิจฉาริษยา เป็นต้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://qaphrapaisal.wordpress.com/

ภาพ : www.pexels.com

บทความน่าสนใจ

ทำบุญด้วยใจ เงื่อนไขไม่จำเป็นต้องมี

มอง ความตาย ใน 3 ศาสนา

อานิสงส์แห่งการทำบุญกับพระอาพาธ

ความมหัศจรรย์แห่งการทำบุญไว้ในกาลก่อนของพระมหากัปปินะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.