ดร.อัมเบดการ์

ดร.อัมเบดการ์ ผู้คืนแสงแห่งธรรมสู่ดินแดนภารตะ

ดร.อัมเบดการ์ ผู้คืนแสงแห่งธรรมสู่ดินแดนภารตะ

ทว่า พุทธศาสนาในอินเดียอาจตกต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากไม่มีบุรุษที่ชื่อ ดร.อัมเบดการ์ (Dr. Bhimrao Ramji Ambedkar)

ที่จริงแล้วดอกเตอร์อัมเบดการ์เกิดในครอบครัวที่นับถือศาสนาฮินดูเหมือนคนอินเดียส่วนใหญ่ แต่เพราะเขาเกิดเป็นจัณฑาล และถูกเหยียดหยามตั้งแต่เกิด จึงเห็นคุณค่าของพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง

ดอกเตอร์อัมเบดการ์ประทับใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า คนเรานั้นมีความเป็นพุทธะในตัวเอง สามารถฝึกได้และพัฒนาได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ตรงข้ามกับศาสนาฮินดู ซึ่งแบ่งคนออกเป็น 4 วรรณะ ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร และการแต่งงานข้ามวรรณะเป็นสิ่งต้องห้ามเด็กที่เกิดจากการแต่งงานข้ามวรรณะจะกลายเป็นจัณฑาล (อธิศูทธก็เรียก) มีสถานะเป็นบุคคลที่ไร้ตัวตน ว่ากัน
ว่า หากเกิดเป็นสุนัขยังดีกว่าเกิดเป็นจัณฑาลเสียอีก เพราะชาวฮินดูยอมตัดขนให้สุนัข แต่จะไม่ยอมตัดผมให้จัณฑาลโดยเด็ดขาด!

เมื่อเกือบร้อยปีก่อน เวลาที่เด็กชาย พิม สักปาล (Bhim Sakpal ชื่อเดิมของดอกเตอร์อัมเบดการ์) ต้องการตัดผม เขาต้องให้พี่สาวเป็นคนตัดให้ และแม้ว่าเขาจะโชคดีกว่าเด็กจัณฑาลทั่วไป เพราะได้เรียนหนังสือ ทว่าพิมไม่เคยได้นั่งเก้าอี้เขียนหนังสือบนโต๊ะเหมือนเด็กอื่นๆ เพราะครูและเพื่อนร่วมห้องรังเกียจเขา พิมต้องปูผ้ากระสอบผืนเล็กๆ ที่มุมห้อง และนั่งเรียนอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวที่สุด
แม้แต่น้ำดื่มที่เตรียมไว้ให้นักเรียน พิมก็ไม่ได้รับอนุญาตให้แตะก๊อกน้ำ แท็งก์น้ำ และแก้วน้ำ เขาจะได้ดื่มน้ำก็ต่อเมื่อมีเพื่อนในวรรณะสูงกว่าเมตตาช่วยเหลือ โดยพิมจะแหงนหน้ารอน้ำที่เพื่อนค่อยๆ เทใส่ปากให้

อย่างไรก็ตาม ด้วยคำสอนและแรงผลักดันจากผู้เป็นพ่อ พิมจึงเป็นเด็กที่รักการศึกษา เขายังได้รับความเมตตาจากครูท่านหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนนามสกุลจากสักปาลเป็น “อัมเบดการ์” ซึ่งเป็นนามสกุลของพวกพราหมณ์ตามครูท่านนั้น เพื่อที่คนจะได้เลิกรังเกียจพิมที่สำคัญ พิมได้พบกับชาวฮินดูที่ไม่รังเกียจจัณฑาลมากมาย หลายคนในจำนวนนี้ช่วยออกทุนให้เขาได้เรียนหนังสือ พิมขยันศึกษาจนมี
ความแตกฉานในด้านนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ปรัชญา ฯลฯ และสามารถเรียนจนจบปริญญาเอกจาก London School of Economics ตั้งแต่นั้นคนอินเดียจึงรู้จักเขาในนาม “ดอกเตอร์อัมเบดการ์”

ดอกเตอร์อัมเบดการ์กลายเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจัณฑาลหลายต่อหลายครั้ง และเป็นตัวแทนของคนชั้นล่างนับล้านในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

ในเวลาต่อมา ดอกเตอร์อัมเบดการ์ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้อินเดียใช้ระบบการเลือกตั้ง
แบบแบ่งกลุ่ม (Separate Electorate System) ซึ่งหมายถึงคนแต่ละเชื้อชาติ ศาสนา มีสิทธิเลือกผู้แทนของตนเองได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่า คนทุกกลุ่มจะมีตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในสภา

แม้ปัจจุบันระบบวรรณะจะยังมีอยู่ แต่อย่างน้อยที่สุดชาวอินเดียทุกคน ไม่ว่าจะเกิดในเพศใด มีสถานะใด นับถือศาสนาใด ต่างก็ได้รับสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน

ด้วยความศรัทธาอันแรงกล้าในพุทธศาสนา ดอกเตอร์อัมเบดการ์ได้ออกแบบธงชาติอินเดียให้มีธรรมจักรอยู่ตรงกลาง และออกแบบตราแผ่นดินให้เป็นรูปสิงห์สี่ตัวหันหลังชนกัน โดยดัดแปลงมาจาก
ลวดลายหัวเสาพระเจ้าอโศกมหาราช องค์อุปถัมภ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพุทธศาสนา

วีรกรรมยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายของดอกเตอร์อัมเบดการ์คือ การเป็นผู้นำจัณฑาล 5 แสนคนเข้าร่วมพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ พิธีนี้จัดขึ้นที่เมืองนาคปุระ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1956 ซึ่งเป็นพิธีเปลี่ยน
ศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

การเคลื่อนไหวครั้งนั้นทำให้พุทธศาสนาผลิใบในดินแดนภารตะอีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็ทำให้ชาวโลกตระหนักร่วมกันว่า คนเรานั้นจะเจริญหรือตกต่ำ ไม่เกี่ยวกับชาติกำเนิดแต่อย่างใด

 

ที่มา : นิตยสาร Secret ปีที่ 3 ฉบับที่ 63 (10 ก.พ. 54) หน้า 79 (ปี 2554)

คอลัมน์ : Inspiration

ผู้เขียน/แต่ง : Violet

ภาพ : http://www.booksandideas.net

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

อินเดียไม่เคยเปลี่ยนเราต่างหากที่ต้องเปลี่ยน – บันทึกการเดินทางในดินแดนภารตะ

ลิ้มรสอาหารอินเดีย อร่อยระดับมหาราชา ที่ “รางมาฮาล”

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : ปฏิบัติธรรมที่อินเดียทำให้ เห็นธรรม ถ่องแท้กว่าหรือไม่

“อินเดีย” เดินสู่สติ สไตล์กาละแมร์

อินเดียให้บริการสุขภาพสุขภาพผู้หญิง ในวันสตรีสากล

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.