เสาไห้

วิถีชีวิตชาวไทยวน เมืองสระบุรี ณ วัดจันทบุรี อำเภอเสาไห้

วิถีชีวิตชาวไทยวน เมืองสระบุรี ณ วัดจันทบุรี อำเภอเสาไห้

เสาไห้ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสระบุรี ที่อยู่ใกล้อำเภอเมืองสระบุรีมากที่สุด (ประมาณ 7 กิโลเมตร) เลื่องชื่อในด้านประเพณีแข่งเรือยาว ผ้าทอ และข้าวสาร แต่เดิมอำเภอเสาไห้เป็นตัวเมืองสระบุรี เป็นชุมชนชาว “ไทยวน” หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์หลักในภาคเหนือของไทย ซึ่งเป็นประชากรหลักในภูมิภาคดังกล่าวจนเรียกกันว่า “คนเมือง”

 

ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก ในอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

ไทยวนมาจากไหน เหตุใดจึงอยู่สระบุรี

ประวัติความเป็นมาของชาวไทยวน หรือ ไตยวน มีกล่าวไว้ใน “ตำนานสิงหนวัศิ” เล่าว่า สิงหนวัศิกุมาร อพยพผู้คนและบริวารมาจากเมืองราชคฤห์ มาตั้งดินแดนอยู่แถบลุ่มน้ำโขงตอนกลาง สร้างบ้านเรือนอยู่ที่เชียงแสนราวต้นสมัยพุทธกาล เรียกดินแดนของตนว่า “โยนกนคร” เรียกชาวเมืองว่า “ยวน” ซึ่งเป็นเสียงเพี้ยนมาจากชื่อเมืองโยนก นั่นเอง

รัฐอิสระแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับอาณาจักรใหญ่ในยุคโบราณ ได้แก่ ขอม พุกาม และยูนนาน มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในพุทธศตวรรษที่ 17 ก่อนที่จะสถาปนาเป็นอาณาจักรล้านนา  ในกาลต่อมา จนกระทั่งปี 2101 พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า นำทัพตีเมืองเหนือ และปกครองดินแดนล้านนาเป็นเวลานานถึง 200 ปี

ในปี 2347 ซึ่งเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีบัญชาให้เจ้าพระยายมราช ยกทัพหลวงไปร่วมกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ยึดเชียงแสนคืนจากพม่า หลังจากล้อมเมืองนาน 1-2 เดือน จึงตีเมืองเชียงแสนสำเร็จ และกวาดต้อนชาวเชียงแสนกว่าสองหมื่นคนให้ไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยแบ่งเป็น 5 สายหลัก ประกอบด้วยเชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย ลำพูน และน่าน บางส่วนไปเวียงจันทน์ และส่วนหนึ่งเดินทางมาบางกอกเพื่อแปงเมืองใหม่ โดยอาศัยอยู่ริมแม่น้ำป่าสักทั้งสองฝั่งคือสระบุรี และอีกส่วนหนึ่งไปอยู่ราชบุรี

วิถีไทยยวนบนภาพจิตรกรรม

ชาวไทยยวนนิยมปลูกเรือนอยู่สองฝั่งริมแม่น้ำป่าสักซึ่งเป็นที่ลุ่มอุดมสมบูรณ์ ใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางสัญจร หันหน้าบ้านออกสู่แม่น้ำ หลังบ้านเป็นทุ่งนา การปลูกสร้างบ้านเรือนก็ยึดแบบแผนดั้งเดิมจากเมืองบรรพชน เรือนไทยวนจึงคล้ายกับเรือนทางภาคเหนือ คือเป็นเรือนกาแลมีไม้ไขว้บนหลังคาหน้าจั่วของเรือน ส่วนบนผายออก เรียกว่า เรือนอกโตเอวคอด

สะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวยวนในยุคแรกอพยพมาสร้างบ้านแปงเมืองที่งดงามและชัดเจน คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์หลังเก่าของ วัดจันทบุรี ตั้งอยู่ใน ต.เมืองเก่า อ.เสาไห้ จ.สระบุรี  ปรากฏทั้งภาพเขียนและตัวอาคารที่เป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 (แบบผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับจีน)

วัดจันทบุรี  ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด (สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3) นามวัดนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า “จันทบุรีศรีสัตนาค” ซึ่งเป็นอีกนามหนึ่งของนครเวียงจันทน์ สอดคล้องกับการตั้งถิ่นฐานของชาวเวียงจันทน์ที่อพยพมาในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 เพื่อมาแปงเมืองที่สระบุรี

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเรือนและผู้คนในยุคโบราณ การผูกเรือนแบบล้านนาหรือไทยวน หญิงชาวบ้านห่มผ้าเฉวียงบ่า นุ่งผ้าซิ่นยาว เกล้ามวย บางคนไว้ผมแบบลาว เด็กเปลือยกายไว้ผมจุก ผู้ชายนุ่งผ้า ห่มผ้าขาวม้าเฉวียงบ่าขณะทำบุญ ไว้ผมทรงฝาละมี (โกนรอบศีรษะ เหลือเฉพาะบริเวณกระหม่อม) ซึ่งเป็นทรงผมที่นิยมกันในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เป็นรอยอดีตที่มีคุณค่ายิ่ง

 

ขอขอบคุณภาพและข้อมูล :

ชุมชนบ้านต้นตาล ต.ต้นตาล  อ.เสาไห้  จ.สระบุรี


บทความน่าสนใจ

ชวนไหว้พระ-ทำบุญ สักการะหลวงปู่ไข่ วัดบพิตรพิมุข

ชวนไปส่องภาพจิตรกรรมโบราณสมัยอยุธยาตอนปลายที่ วัดไชยทิศ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.