ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล

ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสใหม่ๆ เสมอ

ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสใหม่ๆ เสมอ

จากวันที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่สร้างมากับมือต้องล้มลงในช่วงฟองสบู่แตกแบบไม่เหลืออะไรเลย ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ไม่เคยคิดท้อใจ ลุกขึ้นสู้จนกลับมาประสบความสำเร็จมากกว่าเดิมเสียอีก

ปัจจุบันเขาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทสถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด และบริษัทท็อป ซีเคร็ต ด็อกคิวเมนท์ ดิสทรัคชั่น จำกัด

จากยะลามากรุงเทพฯ

ผมเป็นลูกชาวสวนธรรมดา ๆ อยู่ที่ยะลา ครอบครัวไม่ได้ลำบาก ฐานะปกติทั่วไป ผมมีพี่น้อง 7 คน โชคดีที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายมองเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงส่งให้มาเรียนในตัวเมืองยะลา แล้วก็มาเรียนต่อ ปวส. ที่โรงเรียนเกษมโปลีเทคนิคที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ผมเกรงใจที่บ้านเลยคิดหาทางทำงานไปด้วย

เนื่องจากตอนเรียน ปวช.ผมเรียนช่างอิเล็กทรอนิกส์ หลังเลิกเรียนผมก็ไปเรียนซ่อมทีวีที่พระโขนงอาชีวะ พอเริ่มมีความรู้เรื่องการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี ตู้เย็น ก็ทำป้ายรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าไปฝากไว้ที่ร้านขายของชำใต้คอนโดที่พัก มีลูกค้าเป็นคนในซอยโดยเอามาฝากไว้ที่ร้านค้า เลิกเรียนผมก็มารับเครื่องที่ฝากไว้ไปซ่อมให้ แล้วเอาไปฝากไว้ที่ร้าน ซึ่งทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

เผชิญวิกฤติ

รับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าไปได้สักพัก ค่าเช่าคอนโดก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผมจึงขยายงานไปรับติดตั้งดาวเทียมและไฟฟ้าให้สำนักงานอาคารสูง ต่อมามีโครงการก่อสร้างโรงแรม 10 ชั้นหลังเอแบค เขาจ้างผมตีกิ๊บเดินสายไฟ ผมก็รับสมัครลูกน้องมา 10 คน ปรากฏว่าทำงานไปถึงชั้นสองโรงแรมมีปัญหาเรื่องการเงินต้องหยุดก่อสร้าง ผมรับลูกน้องมาแล้วจะให้ทำยังไง ก็เลยเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ตอนนั้นอายุ 19 ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ เรียกว่าเริ่มต้นจากศูนย์ แรก ๆ ก็ไปขอเครดิตร้านขายของ ค่อย ๆ ทำไป เก็บเงินได้บ้างไม่ได้บ้าง อาจเพราะเรายังเด็กดูไม่ค่อยมีพาวเวอร์ แต่ว่างานเราเสร็จเรียบร้อยทุกงาน ก็มีกำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง บริษัทขยายไปเรื่อยจนมีลูกน้องเป็น 100 คน ทำมาถึงปี 40 เกิดวิกฤติฟองสบู่แตก บริษัทรับเหมาเจ๊งแบบไม่เหลืออะไรเลยนอกจากปิ๊กอัพคันเดียว

ถ้าถามว่าเครียดมั้ย เครียดแน่นอน เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว คือจริง ๆ วันนั้นไม่ได้คิดถึงตัวเองหรอก คิดถึงลูกน้อง เพราะทุกคนเหมือนครอบครัว ไม่เคยคิดว่าลูกน้องคือลูกจ้าง เขาต้องไปก่ออิฐฉาบปูน เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ต้องมีข้าวกิน เขามาทำงานกับเราเพราะต้องการส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวที่ต่างจังหวัด คนคนหนึ่งต้องไปเลี้ยงคนอีกสิบคนนะ เราคิดอย่างเดียวว่าทำยังไงให้ลูกน้องเรามีข้าวกินก่อน ส่วนเรามองไม่เห็นอนาคตตัวเองหรอก ผมแก้ปัญหาโดยไปประมูลงานสร้างโรงเรียนกับอนามัยที่โคราชเพื่อให้ลูกน้องมีงานทำไปก่อน ก็กระท่อนกระแท่นไป

ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล

ค้นพบสิ่งที่ตามหา

การได้ไปทำงานรับเหมาก่อสร้างที่โคราชทำให้มีโอกาสไปดูงานรีไซเคิลที่พิษณุโลก ประมาณปี พ.ศ. 2542 ได้พบ ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัทวงษ์พาณิชย์ ท่านเมตตาแนะนำให้ความรู้ต่าง ๆ พาเดินชมรอบโรงงานที่พิษณุโลก ผมดูแล้วก็เฉย ๆ เพราะเราไม่มีความรู้ เราทำธุรกิจอย่างอื่นมา แล้วให้มาดูขวดแตก พลาสติกผุพัง กระดาษขาด ๆ ยังนึกในใจว่า โอ๊ย ทำไมต้องมาดูถึงพิษณุโลกล่ะ กองขยะแบบนี้ที่ไหนก็มี ทำไมต้องมาดูที่นี่

พอจะลากลับ เลขาฯของท่านถามว่าสนใจจะมาอบรมมั้ย ตอนนี้กำลังจะเปิดอบรมรุ่นที่ 2 ผมไม่รู้หรอกว่าอบรมเรื่องอะไร แต่ก็ตอบไปว่า ได้ครับ ตอนนั้นคิดว่าถ้าไปอบรมได้เจอคนหมู่มาก อาจมีคนจ้างผมไปต่อเติมบ้านบ้าง

แต่พอได้มาอบรมจริง ๆ ถึงได้รู้ว่า นี่คือสิ่งที่ผมหามาตลอดชีวิต ผมฝันมาตลอดเลยว่าเราอยากรวย อยากมีงานที่มั่นคง อยากมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนนู้นคนนี้ เพราะตอนเรียนอนุบาลอยากเป็นซูเปอร์แมน ได้ไปช่วยคนอื่น (หัวเราะ)

เมื่อได้มาศึกษาธุรกิจรีไซเคิลถึงได้รู้ว่า โห อันนี้มันยิ่งใหญ่จริง ๆ หลายคนมองว่าเป็นขยะ แต่เรามองว่ามันไม่ใช่ขยะ เพราะตอนที่เราอบรมวันแรกทำให้เราได้รู้ว่า อันนี้ 5 บาท อันนั้น 50 บาท อันนี้ตั้ง 100 บาท ผมตื่นตาตื่นใจเพราะว่าที่ผ่านมาเรารับเหมาก่อสร้าง เศษเหล็กพวกนี้ทิ้งไว้ระเนระนาด ใครเก็บไปเราก็ไม่สนใจ แต่พอเรามาศึกษาแล้ว ทำให้นึกย้อนไปถึงโปรเจ็กต์สุดท้ายก่อนที่จะมาทำรีไซเคิล ตอนนั้นผมรับงานต่อเติมออฟฟิศชั้นสามของสถานีดาวเทียมไทยคมซึ่งใช้เหล็กหลายสิบตัน มีเศษเหล็กกองเป็นภูเขาเลากาเลย จำได้ว่ามีสาวสวยสองคนมาติดต่อขอซื้อเศษเหล็ก ซึ่งเรามองว่ามันไม่มีราคา จึงขายเศษเหล็กกองนั้นไปกิโลละ 2 บาท

พอนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ผมขอ ดร.สมไทยดูราคาว่า ถ้าเอาเหล็กมาขายต่อกิโลละเท่าไหร่ ปรากฏว่าราคากิโลละสี่บาทกว่า ผู้หญิงสองคนนั้นเดินไปเดินมาก็ได้กำไรสองแสนกว่านะ เขาซื้อไปสองแสน ขายได้สี่แสน เงินมันอยู่ที่ใครมองเห็นจริง ๆ ตอนทำก่อสร้างเราทิ้งไปเยอะเลย เพราะไม่มีความรู้จึงไม่สนใจ ไม่เห็นโอกาส

จำได้ว่าครั้งหนึ่งตอนที่ทำรับเหมาก่อสร้าง เรายังไม่ได้รับเงินจากผู้ว่าจ้าง แต่ถึงเวลาที่เราต้องจ่ายค่าแรงลูกน้อง ต้องไปจ่ายค่าวัสดุก่อสร้างที่เราไปขอเครดิตมา คิดไปคิดมาจะทำยังไงดี ก็เหลือบไปเห็นว่าเรามีสายไฟเก่า ๆ จากไซต์งาน ผมจึงเอาไปใส่ท้ายรถปิ๊กอัพจะไปขายร้านรับซื้อของเก่า ผมนั่งอยู่ในรถเป็นชั่วโมง เพราะอายที่จะเข้าไปขาย สมัยก่อนอาชีพขายของเก่ามันไม่เหมือนปัจจุบัน คนไม่ได้มองว่าสวยหรู เราเองก็ไม่เคยสัมผัส แต่รู้ว่าร้านนี้รับซื้อสายไฟ เราก็มีสายไฟที่จะไปเปลี่ยนเป็นค่าแรงให้ลูกน้อง จนสุดท้ายคิดว่า ไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง ก็ต้องเข้าไปขายเพื่อให้ได้เงินมา แต่ตอนนั้นแค่ไปขายยังไม่เข้าใจในอาชีพนี้

ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล

เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

หลังจากอบรมเสร็จ ผมก็มาเริ่มเปิดร้านรับซื้อของเก่าที่ด่านขุนทด จากการไม่มีอะไรเลย เอาไม้ยูคาลิปตัสมาทำเป็นเสา เอาซาแรนมาทำเป็นหลังคา ลูกน้องที่ทำงานรับเหมาตามมาสิบกว่าคน ที่เหลือมีหลายคนบอกว่าเขาเป็นช่างไม้ช่างปูนฝีมือดี จะบอกที่บ้านอย่างไรว่าไปเก็บขยะขาย แต่ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน คนที่อยู่กับผมวันนั้นจนถึงวันนี้สบายหมดแล้ว มีเงินส่งกลับไปซื้อที่ดินวัว ควายที่บ้านกันทั้งนั้น

ยอมรับว่ารายได้ช่วงแรกได้น้อยกว่าทำก่อสร้าง แต่ค่าจ้างลูกน้องเท่าเดิมไม่ลด ลูกน้องได้ปกติ แต่เราขาดทุน เราคิดว่าให้ลูกน้องกินอิ่มก่อน เรากินแค่พอประทังชีวิต ประหยัดนู่นนี่ไป ที่อำเภอด่านขุนทดผมไปร่วมกับเทศบาลตั้งเป็นชมรมคนรักสิ่งแวดล้อมในอำเภอ เนื่องจากตอนนั้นอำเภอมีปัญหาเรื่องที่ทิ้งขยะ บ่อขยะที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งเต็ม ก็จะไปซื้อที่ดินเพิ่มอีกแห่ง กลายเป็นว่าชาวบ้านแถวนั้นไม่ให้ไปทิ้งก็ทะเลาะกันหน้าอำเภอ เราอาสาทางเทศบาลไปรณรงค์ให้ชาวบ้านรู้ว่าขยะอะไรขายได้บ้าง เป็นเงินกี่บาท พอชาวบ้านเริ่มมองเห็น ปัญหาขยะก็หมดไป

เริ่มขยายงานเพื่อความอยู่รอด

ทำไปทำมาผมก็คิดจะขยายงานไปที่ชัยภูมิ เนื่องจากด่านขุนทดเป็นเมืองเล็ก ไม่มีโอกาสโต ดร.สมไทยมาเยี่ยมท่านบอก ถ้าอยู่อย่างนี้ไม่พอกินแน่นอนเลย เพราะลูกน้องก็หลายคน พอบอกว่าจะขยายไปอยู่ชัยภูมิ ท่านก็บอกว่า ทำเลมันใกล้เคียงกัน ให้ย้ายไปอยู่ที่ปราจีนบุรี ผมก็ขยายไปอยู่หน้านิคม 304 ที่ปราจีนฯ ไปเช่าที่เดือนละ 3,000 บาท แล้วเริ่มสร้างร้านโดยใช้เสาไม้ยูคาลิปตัสเหมือนเดิม เอาซาแรนมาทำหลังคาเพราะไม่มีเงิน นอกจากรับซื้อขยะรีไซเคิลแล้ว ยังให้บริการจัดการขยะในโรงงานอุตสาหกรรมด้วย

ตอนนั้นลองไปเสนองานจัดการขยะที่โรงงานไอบีเอ็ม เขาโทร.มาบอกตอน 4 โมงเย็นว่าต้องมีรถเข้าไปขนของวันละ 5 คัน เข้าไปวันรุ่งขึ้นเลย ถ้าทำไม่ได้จะยกเลิกสัญญา แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีรถสักคัน ผมรู้ว่าไปจ้างรถขนได้ แต่งานด่วนแบบนี้ จ้างราคาปกติอาจไม่ได้รถ ปกติค่าเช่ารถวันละ 2,500 บาท ก็เพิ่มเงินให้เป็น 3,500 บาท เราอาจได้กำไรน้อยหน่อย แต่ถ้าไม่มีรถ โรงงานก็ไม่ให้เราทำต่อ เรายิ่งไม่ได้อะไรเลย

สามปีต่อมา ผมก็ขยายธุรกิจมากรุงเทพฯ ที่สุวรรณภูมิ เพราะตอนนั้นกำลังจะมีลูก อยากให้ภรรยาออกจากงานมาอยู่บ้านดูแลลูก และในขณะเดียวกันก็คิดว่าอยากมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะปัญหาขยะในกรุงเทพฯ มันมากมายมหาศาล เมืองใหญ่ขยะเยอะ

ที่นี่เปิดพร้อมสยามพารากอน และเปิดตอนเครื่องบินขึ้นพอดี หลังจากนั้นอีกสามปีก็ขยายไปอยู่ที่นครราชสีมาตรงทางเข้าจังหวัด ทำร่วมกับ อบจ. ไปรณรงค์ชุมชนชาวบ้านให้คัดแยกขยะออกมา แล้วเราก็เป็นศูนย์เรียนรู้และรับซื้อเหมือนที่นี่ ส่วนชาวบ้านจะนำไปขายใครก็ไม่เป็นไร ปัจจุบันก็ยังทำอยู่ ปี 56 ผมมาเปิดที่ถนนฉลองกรุงอีกแห่ง และตอนนี้ผมเปิดบริษัทท็อป ซีเคร็ต รับทำลายเอกสารและโรงงานอัดกระดาษ

กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องผ่านวิกฤติมากมาย

เวลาเล่าให้ฟังเหมือนทุกอย่างง่าย แต่จริง ๆ ชีวิตไม่ได้ง่ายอย่างนั้น วิกฤติแต่ละครั้งมันหนักมาก อย่างตอนรับเหมาก่อสร้างเมื่อถึงดีลแต่ยังเก็บเงินไม่ได้ ในขณะที่ลูกน้องเป็นร้อย ต้องจ่ายเงินเป็นล้าน ไหนจะค่าวัสดุก่อสร้างอีก พอถึงเวลาจ่ายค่าแรง ลูกน้องมารออยู่รอบออฟฟิศ เรานั่งอยู่ข้างใน เคยคิดว่าเราไม่อยู่เลยดีไหม จะได้หมดปัญหา แต่สุดท้ายก็มาคิดว่า เอาวะ อยากรู้เหมือนกันว่าที่สุดของความลำบากคืออะไร สุดท้ายเราก็เปิดประตูออกไปบอกทุกคนว่าตอนนี้ยังเก็บเงินไม่ได้ แต่กำลังหาวิธีอยู่ จากนั้นก็ไปหาเงินตรงนู้นตรงนี้มาให้เขา คืออาจแบ่งจ่ายครึ่งหนึ่งไปก่อน บางทีแค่เสี้ยววินาที ถ้าเราคิดไม่ออกวันนั้นเราก็จบ แต่ก่อนที่จะจบ ก็อยากรู้ว่าที่สุดของความลำบากคืออะไร สุดท้ายพอเราสู้ก็ผ่านมาได้

อย่างไรก็ตาม ทุกวิกฤติในชีวิต ผมก็มีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามาตลอด ซึ่งถือว่าเป็นความโชคดี เมื่อหันกลับไปมอง เรียกว่าต้องขอบคุณเหตุการณ์ต่าง ๆ ขอบคุณคนนู้นคนนี้ที่ทำให้เรามองเห็นโอกาสมากมาย อย่างทุกวันนี้หลายคนมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าไม่มี แต่ของผมลูกค้าแน่นทุกที่ ตั้งแต่เปิดโรงงานมา มีแต่คนอยากมาทำงานด้วย นโยบายของผมคือทุกคนอยู่กันเหมือนครอบครัว ผมไม่เคยไล่ลูกน้องออกไม่ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีไม่เกี่ยวกับเขา เขามาทำงานก็ต้องมีรายได้ ผมไม่เคยด่าลูกน้อง นี่คือหลักปฏิบัติของผมตั้งแต่เริ่มแรก ผมถือว่าไม่มีเขาก็ไม่มีเรา กำไรขาดทุนไม่เกี่ยวกับเขา มันอยู่ที่การบริหารของเรา ลูกน้องทำตามหน้าที่ มันอยู่ที่ผู้บริหาร

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติผมจะคิดสิ่งใหม่ขึ้นมา ตอนแรกที่มาอยู่สุวรรณภูมิใหม่ ๆ เศรษฐกิจทรุดลงมาอีก ผมก็เริ่มทำโปรเจ็กต์มาตามนัด คือนอกจากรับซื้ออยู่กับที่แล้ว ผมมีรถออกไปบริการข้างนอก คือถ้าเขาไม่มา เราต้องไปหา ส่งรถไปตระเวนเก็บ ลูกค้ามีขยะรีไซเคิลโทร.มา เราก็ส่งรถไปรับ ออฟฟิศหรือหมู่บ้านใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯเป็นลูกค้าเราทั้งนั้น อีกสิ่งที่ผมคิดขึ้นมาใหม่คือบริษัทท็อปซีเคร็ต เป็นศูนย์ทำลายเอกสาร ซึ่งได้รับการยอมรับมาก ตอนนี้ขยายเป็น 4 – 5 เครื่องแล้ว ไอเดียก็ได้จากความโชคดีที่มีโอกาสได้เดินทางบ่อย เคยไปเห็นที่ต่างประเทศทำแล้วนำมาปรับใช้

ไม่คิดแข่งกับใคร

เคยมีคนถามว่า ไม่กลัวคู่แข่งหรือ เจ้านั้นเจ้านี้ก็ใหญ่โต ผมบอกในชีวิตผมไม่เคยมีคู่แข่งเลยไม่ว่าไปเปิดที่ไหน เราไม่เคยคิดแข่งกับใคร ชีวิตผมคิดแข่งอย่างเดียวคือ แข่งกับการพัฒนา แข่งว่าทำอย่างไรให้ลูกน้องมีรายได้มากขึ้น ทำอย่างไรให้ลูกค้าที่มาขายของได้เงินเยอะ ๆ ทุกคนเป็นคู่ค้า ผมไม่มีศัตรูในทางธุรกิจ ไม่ว่าที่กรุงเทพฯ ปราจีนฯ โคราช เจ้าใหญ่เจ้าเล็ก เราไปสวัสดีหมด เพราะการแข่งขันทำให้ต่างคนต่างเจ็บตัว ไม่มีประโยชน์อะไร

เพราะฉะนั้นแต่ละที่ผมก็อยู่แบบสบาย ๆ และพัฒนาในแง่นโยบายที่ผมบอกพนักงานทุกคนว่า เราทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าที่มาขายของรู้สึกประทับใจ ไม่รู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ ให้เขามีรายได้เยอะ ๆ ให้เขาได้กำไรเยอะ ๆ จะได้กลับไปบอกญาติพี่น้องให้มาขายที่เรา เราไม่ต้องทำกำไรเยอะหรอก นิดหน่อยพอ เราแค่ให้พออยู่พอกิน

ยึดมั่นความซื่อสัตย์

ทำไมลูกค้าที่นี่ (สุวรรณภูมิ) ถึงเยอะ ถ้ามาเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุด แทบจะไม่มีที่จอดรถ ต่อคิวกันยาวเลย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มออฟฟิศสำนักงาน หน่วยงานราชการ โรงเรียน วัด บ้านเรือนต่าง ๆ จริง ๆ ทั้ง 5 สาขาก็เป็นอย่างนี้ ซึ่งมาจากความจริงใจที่มีให้ลูกค้า เราใช้ตาชั่งดิจิทัล แค่ขีดเดียวก็คิดเงินให้ลูกค้าตามจริง ไม่ปัดเศษขึ้นหรือลง บางทีลูกค้าไม่มีความรู้ รู้แค่ว่ามันขายได้ เอาของรวม ๆ มา เราก็ไม่ซื้อมั่ว ๆ นโยบายของผมคือ ต้องคัดแยกให้ก่อน ของ 10 บาทปนกับของบาทหนึ่ง แล้วเราไปซื้อ 1 บาทมันไม่ใช่ เราก็พยายามสอนลูกค้าไปด้วย หลัง ๆ ลูกค้าจะคัดแยกจากบ้านมาเอง การทำอย่างนี้เราไม่ต้องไปบอกว่าร้านเราซื้อแพง หรือขึ้นป้ายว่าที่นี่แพงที่สุด ลูกค้ารู้โดยอัตโนมัติแล้วบอกต่อกันไปเอง ตอนเปิดใหม่ ๆ ลูกค้าไม่เยอะ แต่พอนานวันเข้าก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราสังเกตว่า เวลาปิดร้านพาลูกน้องไปทำบุญ 4 – 5 วัน พอกลับมาเปิด โอ๊ย ลูกค้าแน่นกว่าเดิม เพราะลูกค้าไม่ไปขายที่อื่น รอมาขายที่นี่

ผมบอกลูกน้องเป็นนโยบายตั้งแต่เข้ามาทำที่นี่เลยว่า ต้องบริการลูกค้าให้เขาประทับใจ และให้ได้เงินกลับไปเยอะ ๆ เราไม่ต้องไปสนใจคู่แข่งหรอก เราแค่ขึ้นป้ายราคาเฉย ๆ ลูกค้าจะได้รู้ว่ามาขายที่นี่ราคาเท่านี้ บางคนทักว่าขึ้นป้ายแบบนี้เดี๋ยวร้านอื่นก็ขึ้นราคาแข่ง เราก็บอกว่าไม่เป็นไร อย่างร้านทองก็ขึ้นป้ายก็ไม่เห็นจะแข่งกันตรงไหน ใครจะซื้อเท่าไรก็ไม่เป็นไร มันอยู่ที่ลูกค้า ถ้าลูกค้าประทับใจ พอใจอยากมาหาก็มา การขึ้นป้ายเป็นการแสดงมาตรฐาน พอเขามาตาชั่งตรง ลูกค้าก็ชอบ

ลูกค้าที่นี่มีทั้งคนขับรถหรู ๆ แพง ๆ หรือคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ขับรถเข้ามาขาย เป้าหมายที่นี่ไม่ใช่ซาเล้งซึ่งเก่งอยู่แล้ว พี่ ๆ ซาเล้งเก่งกว่าเราอีกนะ ทำมา 30 – 40 ปี มาหลอกเราอีก (หัวเราะ) มีหลายวิธีการ เวลาเอาขวดมาขายใส่น้ำมาบ้าง เอากระป๋องมาขายใส่ทรายมาบ้าง แต่เราก็ซื้อนะ

เป้าหมายของเราคือคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราก็ไปร่วมมือกับสำนักงานเขตลาดกระบัง รณรงค์ในทุกชุมชนตามหมู่บ้านโรงเรียนต่าง ๆ ไปสอนแยกขยะ หลายคนมองว่า ไอ้นี่มันบ้า ออกไปเสียเวลา เที่ยวออกไปสอน ไม่อยู่โรงงาน ทำไปก็ไม่ได้ตังค์ จริง ๆ เรากำลังไปทำการตลาดนะ (หัวเราะ) บางทีไปซื้อราคาที่หน้าบ้านเท่ากับเขามาขายกับเราเลย ทั้งที่ออกไปรับซื้อเรามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่เราได้ฐานลูกค้าแล้วเราก็ได้คอนเน็กชั่น และได้ไปช่วยเหลือให้เขามีรายได้

ผมถือว่าที่ผมมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะหลายคนเอาขยะมาขายที่ผม ผมก็อยากคืนกลับไปให้ และผมก็โชคดีที่ได้รับโอกาสจากท่าน ดร.สมไทย ซึ่งผมก็อยากให้โอกาสอย่างนี้กับหลาย ๆ คนเช่นเดียวกัน อย่างที่สุวรรณภูมิก็เป็นที่ศึกษาดูงานด้วย

มีคณะผู้สนใจเข้ามามากมาย นักเรียนนักศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ หน้าที่เราคือดูแล กาแฟฟรี อบรมให้ความรู้ฟรี

ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล

เป้าหมายในชีวิต

สิ่งที่เราได้มาคือวันนั้นเราล้มแล้วเราไม่ยอมล้ม ล้มแล้วพยายามลุกขึ้นใหม่ และใช้สติค่อย ๆ คิด ต้องคิดว่าชีวิตคนเราไม่มีอะไรแน่นอน มันมีขึ้นมีลง วันนี้เราล้ม พรุ่งนี้เราก็ลุกได้ ผิดเป็นครู ไอ้ที่เราผิดก็ไม่เป็นไร เอามาเรียนรู้เป็นประสบการณ์ใหม่ ชีวิตผมไม่เคยท้อเลย โอเค เราอาจล้ม เจ็บก็ไม่เป็นไร เปลี่ยนใหม่ คือชีวิตผมเป้าหมายชัดเจน ผมอยากรวยตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ในความหมายของผมคือ เอาแค่พออยู่สบาย อยากกินอะไรได้กิน อยากซื้ออะไรก็ได้ซื้อ อยากทำบุญได้ทำบุญ ซึ่งผมก็ทำได้แล้ว ผมอยากมีธุรกิจที่มั่นคงถึงลูกหลาน ผมก็เจอแล้ว อยากมีธุรกิจที่เราไม่ต้องไปทำงานก็มีรายได้เข้ามาทุกวัน ซึ่งคือสิ่งที่ทำอยู่ และได้ช่วยเหลือสังคมอย่างลูกน้องหรือพนักงานหลายร้อยคนใน 4 – 5 สาขา คนเหล่านี้บางคนสังคมไม่ให้เขาเข้าทำงาน เพราะไม่มีวุฒิการศึกษา คนเฒ่าคนแก่ แต่เรารับหมด ขอให้คุณมีใจก็แล้วกัน คุณทำงานกับเรา มีข้าวกินแน่นอน เหมือนเราได้สร้างอาชีพให้คน เราได้ทำบุญ ผมเชื่อเรื่องบุญ บุญมีจริง

เป็นสะพานบุญ

ผมจะพาลูกน้องไปทำบุญทุกปี ปิดบริษัทกันไปเลย ทำแบบนี้มา 10 กว่าปีแล้ว พอถึงหน้ากฐิน ผมจะขึ้นป้ายไว้เลย เรียนเชิญลูกค้าผู้มีอุปการคุณทุกท่านรวมทั้งพนักงานร่วมเดินทางไปทอดกฐิน ใครมาลงชื่อก่อนก็ได้ไป ผมกำหนดไว้ว่าจะเอารถบัสไปกี่คัน ก็ประมาณ 3 – 5 คัน ผมออกให้หมด ค่าเดินทาง อาหาร ที่พักจนถึงวันกลับ ฟรีหมด คุณจะทำบุญแค่บาทเดียวก็ได้ ผมทำแบบนี้มา 10 ปีแล้วก็ไม่เห็นจะจนลง ผมเชื่อว่า การที่ผมโชคดีมาจนถึงวันนี้ได้เพราะผมมีโอกาสได้ทำบุญ และบุญมันมีจริง ผมอาจทำธุรกิจไม่เก่ง แต่ผมมีคนมาช่วยทำงาน งานทุกวันนี้ล้นมือ ทำกันไม่ทัน

ผมบอกลูกน้องทุกคนว่า นอกจากผมให้โบนัสเป็นเงินแล้ว ผมยังให้โบนัสเป็นบุญด้วย เพราะว่าผมเชื่อว่า คนเราเกิดมาชาตินี้เพราะกรรมเก่า ประกอบกับผมได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อย พอมองย้อนดูก็เห็นว่า คนไทยเกิดมาสวยหล่อ ร่างกายครบสามสิบสอง สติปัญญาดี และอยู่ในเมืองไทยที่อุดมสมบูรณ์ แสดงว่าอดีตชาติเราทำบุญมาดี มีอาหารการกินมากมาย ไม่ได้ไปเกิดอยู่ในประเทศที่อดอยากแร้นแค้นอย่างที่ผมไปเห็นมา ผมมักบอกลูกน้องว่า ไม่ว่าเกิดมาชาตินี้เป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไรหรอก ถ้ามาอยู่กับผม ผมจะเป็นสะพานบุญให้ อยู่ที่ว่าใครจะเดินขึ้นสะพานหรือไม่ก็แล้วแต่บุญกรรมของแต่ละคน

 

Secret’s Quote

ชีวิตคนเราไม่มีอะไรแน่นอน มันมีขึ้นมีลง วันนี้เราล้ม พรุ่งนี้เราก็ลุกได้

– ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล –

 

ที่มา : นิตยสาร Secret  ฉบับที่ 228

เรื่อง : ชนาฉัตร

ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร


บทความน่าสนใจ

การให้โอกาสเป็นสิ่งที่ดี ข้อคิดชีวิตเป็นสุข โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

พลังสุขภาพจิต กู้วิกฤติเป็นโอกาส

เอาชนะอุปสรรค เพิ่มโอกาสความสำเร็จ

ทำบุญด้วยใจ เงื่อนไขไม่จำเป็นต้องมี

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.