นกยุง กุลภัทร

“ความรักในสิ่งที่ทำ นำมาซึ่งความสำเร็จ” นกยูง กุลภัทร กมล

“ความรักในสิ่งที่ทำ นำมาซึ่งความสำเร็จ”

แม่ค้าของมือสอง สู่เจ้าของธุรกิจอัญมณี นกยูง กุลภัทร กมล

“นกยูง – กุลภัทร กมล” นักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ในจังหวัดชลบุรี ที่วันนี้เป็นเจ้าของธุรกิจหลากหลาย ซึ่งล้วนเกิดจากความรักและหลงใหลทั้งสิ้น

ความสำเร็จในวันนี้ไม่ได้มาโดยง่าย เพราะต้องผ่านการเรียนรู้มาตั้งแต่เป็นแม่ค้าขายของมือสอง ลองผิดลองถูกจนมีประสบการณ์ และสามารถสร้างธุรกิจหลายอย่างด้วยตัวเอง และไม่ลืมมอบความรู้และโอกาสให้แก่คนอื่น ๆ ด้วย

ชีวิตพลิกผัน จากการสูญเสียคุณพ่อคุณแม่

เดิมครอบครัวของนกยูงมีฐานะดี คุณพ่อทำธุรกิจค้าอัญมณี แต่คุณพ่อประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อนกยูงอายุ 6 ขวบ ชีวิตกลับพลิกผัน จากที่เคยเรียนที่โรงเรียนเพ็ญสมิท ที่กรุงเทพฯ ก็ต้องย้ายกลับมาอยู่บ้านสวนที่จันทบุรี พร้อมหนี้อีกก้อนหนึ่ง คุณแม่ต้องกลับมาทำสวนเพื่อหาเงินเลี้ยงนกยูงและพี่ชายเพียงลำพัง

ถึงคุณแม่เรียนจบแค่ ป.4 แต่ท่านทำมาหากินเก่ง มีรายได้เดือนละเป็นหมื่น จากการขายพืชผลในสวน ซึ่งปลูกพืชสวนผสมตามแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คุณแม่ปลูกฝังเรื่องการค้าให้นกยูงตั้งแต่เด็กโดยไม่รู้ตัว ท่านให้ช่วยเก็บหมากรอบบ้าน ขายได้เท่าไหร่ท่านให้เงินครึ่งหนึ่ง เราก็สนุกด้วยได้เงินใช้ด้วย นอกจากนี้ท่านยังสอนทำบัญชีรายรับรายจ่าย ให้เรารอบคอบเรื่องการใช้เงิน

ใจจริงคุณแม่อยากให้นกยูงเรียนเภสัชฯ เพื่อกลับมาเปิดร้านขายยา ซึ่งในเวลานั้นมีเพียงแค่ร้านเดียวในอำเภอ ท่านจึงส่งมาเรียนโรงเรียนประจำจังหวัด มาอยู่บ้านป้าซึ่งบ้านอยู่ใกล้โรงเรียน ป้าค้าขายพลอยส่งให้โรงงาน เราจึงได้เป็นลูกมือให้ท่าน ต่อมาคุณแม่ล้มป่วย เพราะเส้นเลือดในสมองแตก ต้องส่งตัวไปรักษาที่กรุงเทพฯ วันเสาร์นกยูงต้องนั่งรถทัวร์เข้ามาเฝ้าคุณแม่ วันอาทิตย์ก็กลับมาเรียน ทำอย่างนี้เป็นเดือน แต่สุดท้ายคุณแม่ก็ทรุดหนัก พี่ชายโทรมาบอกว่าให้รีบมา เราก็รู้แล้วว่าไม่ค่อยดี

คุณแม่มีอาการสมองบวมทับแกนสมอง ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าเสียชีวิตแล้ว เวลานั้นนกยูงกับพี่ชายตัดสินใจบริจาคร่างกายของท่าน เพราะท่านเคยพูดไว้ และร่างกายท่านก็ยังแข็งแรงดีทุกอย่าง เนื่องจากอายุเพิ่งสี่สิบกว่า ๆ เวลานั้นญาติหลายคนก็ไม่เห็นด้วย แต่เราหนักแน่น และสุดท้ายร่างกายของท่านก็ได้ช่วยคนอีกถึง 7 ชีวิต

ไม่เก่ง แต่ไม่หยุดความพยายาม

นกยูงเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่งนัก แต่ชอบทำกิจกรรมทุกอย่าง พอคุณแม่เสียชีวิต ต้องเริ่มวางแผนชีวิตใหม่ ท่านมีเงินเก็บก้อนหนึ่งสำหรับให้เรียนหนังสือ หลังจากหาข้อมูลทุกอย่างและคำนวณแล้ว ต้องเรียนมหาวิทยารัฐเท่านั้นถึงจะพอใช้จ่าย เมื่อมีเป้าหมาย นกยูงจึงเริ่มวางแผนการอ่านหนังสือเอนทรานซ์อย่างจริงจัง

เริ่มแรกก็ไปขอหนังสือตะลุยแนวข้อสอบจากญาติที่สอบติดจุฬาฯ มาอ่าน เอามาลบรอยดินสอที่เขาทำข้อสอบ เก็บไว้ให้ลืม ๆ ก่อนแล้วค่อยกลับมาทำ จากนั้นก็ขออาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์แนะแนวว่า ขอมาเรียน 3 วัน อีก 2 วันขออ่านหนังสือสอบอยู่ที่บ้าน เพราะหนูต้องเอนทรานซ์ให้ติดเท่านั้น อาจารย์คงเห็นความจริงจังของเรา จึงทำเรื่องขออนุญาตให้ นกยูงจึงบอกอาจารย์ว่า “หนูจะไม่ทำให้อาจารย์ผิดหวัง จะเอนท์ติดให้ได้”

สุดท้ายไม่ทันได้เอนทรานซ์ ก็ติดโควต้าหลายมหาวิทยาลัย นกยูงเลือกเรียนบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยบูรพา เพราะอยู่ไม่ไกลจากบ้าน และค่าใช้จ่ายพอไหว จริง ๆ อยากเลือกมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่คำนวณแล้วว่าค่าใช้จ่ายในชีวิตน่าจะแพงกว่า จึงตัดใจ ขอเอาตัวให้รอดก่อน

ช่วงแรกนกยูงพยายามใช้จ่ายวันละ 100 บาท แต่สุดท้ายก็ไม่ไหว เพราะเราก็อยากกินโน่นกินนี่ หรืออยากได้เสื้อผ้าแบบเพื่อนบ้าง จึงเริ่มหาช่องทางหาเงินใช้เอง เราเห็นรุ่นพี่ขายของที่ตลาดนัด ก็ไปปรึกษาเขา แต่ไม่มีทุน จึงเอาเสื้อผ้าตัวเองนี่แหละมาขาย ส่วนแผงเราไม่มีเงินเช่าประจำ ก็อาศัยมารอว่าวันไหนมีใครไม่มา ถึงได้ขาย

แรก ๆ ขายดีมาก แต่หลัง ๆ ของเริ่มหมด ก็ไปติดต่อเพื่อนที่แต่งตัวเก่ง ๆ ขอซื้อเสื้อผ้าต่อจากเขาเอามาขาย จนได้ทุนก้อนแรกจากตรงนี้มา 3,000 บาท ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับเรา หลังจากนั้นจึงเริ่มไปหาของที่ไม่เหมือนในตลาดมาขาย ไปเสาะหาต่างหูสไตล์วินเทจที่เราชอบจากสำเพ็ง ทุน 30 เราขาย 79 บาท แล้วก็ไปหารองเท้าน่ารัก ๆ จากจตุจักรมาขาย ตั้งแต่นั้นก็ขายเป็นเรื่องเป็นราวเลย

ถึงจะสนุกกับการขายของ แต่ไม่เคยทิ้งการเรียน เพราะตั้งเป้าไว้ว่าต้องได้เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 ตอนกลางวันไปเรียน พอตกเย็นก็มาขายของที่ตลาดนัด ขายวันหนึ่งแบบหักลบทุกอย่างได้แล้วได้เกือบพัน พอขึ้นปี 3 นกยูงมีเงินทุนเกือบแสน จึงตัดสินใจชวนเพื่อนเปิดร้านเสื้อผ้าในห้างแหลมทอง ทำสัญญาเช่าหนึ่งปี เพราะคิดว่าน่าจะขายดีกว่า
พอมาเปิดร้านในห้างจริง ๆ จึงรู้ว่า รายได้สู้ตลาดนัดไม่ได้ ยิ่งติดเรียนก็ไม่มีใครเฝ้าร้าน แต่โชคดีที่มีรุ่นพี่ขายของร้านติดกันเขาเฝ้าให้ หรือบางวันพีคมากคือ ให้เพื่อนเฝ้าร้าน ส่วนนกยูงหอบของไปขายที่ตลาดนัดใกล้ ๆ กัน เพราะกลัวมีรายได้มาหมุนเงินจ่ายค่าเช่าไม่ทัน เราก็ทนเปิดให้ครบหนึ่งปี เพื่อให้ได้ค่ามัดจำคืน

ประสบการณ์สอนธุรกิจ

หลังเรียนจบ นกยูงไปทำงานประจำเพราะอยากรู้ว่าองค์กรใหญ่ ๆ ทำงานอย่างไร นกยูงทำงานฝ่ายจัดซื้อในบริษัทต่างชาติที่ผลิตเครื่องเล่นซีดีที่อมตะนคร เราเช่าบ้านอยู่กับพี่ชายที่บางแสน ต้องตื่นตี 5 มาขึ้นรถรับส่ง กลับถึงบ้านทุ่มกว่า ตอนนั้นได้เงินเดือนหมื่นกว่าบาท น้อยกว่าที่เราได้ตอนเป็นแม่ค้าอีก แต่ได้ประสบการณ์เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการทำงานกับคน การประสานงาน และระบบงานต่าง ๆ

ระหว่างนั้น นกยูงก็หาช่องทางทำธุรกิจควบคู่ไปด้วย เพราะไม่ชอบหารายได้เพียงทางเดียว และเคยฝันว่าอยากเปิดร้านขายกาแฟในมหาวิทยาลัยบูรพา ก็ไปถามข้อมูลจากร้านค้าที่นั่น สุดท้ายจึงได้รู้ว่ามีเปิดประมูลเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญในหอพักนักศึกษา 400 ห้อง ตอนนั้นกลับมาคิดคำนวณเลยว่าน่าจะได้เงินวันละเท่าไหร่ บวกกับคิดแล้วว่าเงินเก็บที่มีน่าจะทำได้ จึงยื่นซองประมูลแข่งกับเจ้าเก่าไป แล้วก็ได้ด้วย

นกยูงนำเงินเก็บเกือบทั้งหมดมาลงทุน ซึ่งถือว่าผิดมาก เพราะไม่ได้ศึกษาให้ดีก่อน คิดแค่ว่า ตั้งเครื่องซักผ้าไว้ ให้เครื่องทำเงินให้เรา แต่ความเป็นจริงแล้วมีปัญหามากกว่านั้นเยอะมาก เราไม่ได้คิดเรื่องค่าบำรุงรักษา ซึ่งอยู่ ๆ น้ำประปาไม่ไหล หรือน้ำในแทงก์ดำ ต้องมาล้างเครื่องซ่อมเครื่อง ไหนจะเจอเหรียญปลอม แงะเหรียญ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยปิดเทอม 3 เดือน ไม่มีใครใช้เครื่อง แต่เราต้องเสียค่าเช่าไปฟรี ๆ แสนกว่า ต้องเอาเงินเดือนหมื่นกว่าบาทของเรามาหมุน ทำธุรกิจนี้ปีกว่า ๆ เงินเก็บที่มีอยู่หายกลายเป็นศูนย์เลย

ลาออกจากงานประจำ มาทำธุรกิจเต็มตัว

นกยูงทำงานประจำสักพักก็เริ่มรู้ว่า สถานภาพทางการเงินของบริษัทไม่ดี มีการค้างชำระหลายเดือน พอโทรไปสั่งของก็โดนด่า แต่เจ้านายบอกว่า ต้องสั่งของมาให้ได้ เรารู้สึกว่าไม่ถูกต้อง แต่ไม่พูดอะไร ช่วงนั้นหลังเลิกงาน นกยูงให้แฟนขับรถตระเวนหาที่ทางทำมาค้าขาย

วันหนึ่งนกยูงเห็นร้านในย่านธุรกิจของชลบุรีติดป้ายเซ้ง จึงรีบโทรไปถาม ราคาเซ้งเท่ากับเงินเก็บที่เราเหลืออยู่เป๊ะอีกแล้ว แต่อยากได้มาก จึงขอยืมเงินแฟนมาเป็นค่ามัดจำก่อน แล้วทยอยผ่อนคืนเขาจนหมด เมื่อได้ร้านมา นกยูงตั้งใจขายเสื้อผ้าวินเทจมือสอง เพราะรู้ว่าเด็ก ๆ ที่มาช็อปปิ้งไม่ค่อยมีเงิน อยากขายของสวย ๆ ในราคาที่เด็กเข้าถึงได้

นกยูงไปเลือกเสื้อผ้ามือสองจากญี่ปุ่นสวย ๆ จากที่เขาส่งมาขายที่ท่าเรือ นำมาซักรีดแล้วขาย โดยตั้งราคา 100 บาททั้งร้าน และตั้งชื่อว่า ร้าน 100 อารมณ์เหมือนกับร้านร้อยเยนของญี่ปุ่น และงัดกลยุทธ์การตลาดทุกอย่างที่เราเคยอยากให้ร้านเสื้อผ้ามีมาใช้ ร้านเราจึงให้ลองได้ ไม่มีพนักงานเดินตาม จะมาวินโดว์ช็อปปิ้งก็ได้นะ เพียงแต่ไม่มีแอร์เย็น ๆ ให้แค่นั้น

เปิดร้านวันแรก คนต่อคิวรอเข้าเลย ขายดี จากนั้นก็เป็นการตลาดแบบปากต่อปากไป พอเห็นแบบนี้ นกยูงตัดสินใจเขียนใบลาออกเลย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอาจไม่ได้ขายดีอย่างนี้ตลอดไป แต่เราเชื่อว่าเราทำได้ จึงเริ่มทำธุรกิจเต็มตัวแต่นั้น แรก ๆ นกยูงดูแลร้านเองคนเดียว เปิดเที่ยงวันถึงเที่ยงคืนไม่มีวันหยุด

พอทำไปสักพักก็เริ่มเจอปัญหาเลียนแบบ และเสื้อผ้าวินเทจเริ่มขายไม่ดี นกยูงจึงอยากทำเสื้อผ้าแฟชั่นมือหนึ่งแทน ไปติดต่อโรงงานตัดเสื้อรายใหญ่ เขาก็ไม่สนใจรายย่อยแบบเรา จึงติดต่อโรงงานอาซ้อ ๆ หน่อย เพราะเรามีทุนแค่สามหมื่นเอง เขาก็ยอม จากนั้นก็ Clearance Sale เสื้อผ้ามือสองออกไปให้หมด แล้วขายมือหนึ่งแทน แต่ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะลบภาพลักษณ์ของร้านมือสองออกหมด และขายสินค้ามือหนึ่งในราคา 100 บาทเหมือนเดิม เพราะเราได้ราคาทุนจากผู้ผลิต ไม่ผ่านใคร

บุกเบิกธุรกิจขายของออนไลน์

นกยูงขายเสื้อผ้าทางออนไลน์ตั้งแต่ยุค hi5 และ BB เพราะเรานั่งเฝ้าร้านเฉย ๆ ก็ไม่อยากรอลูกค้า จึงขอแลกพินกับลูกค้าประจำ พอชุดใหม่มาก็ส่งให้เขาดูทีละคน เขาก็รู้สึกว่าเป็นคนพิเศษ ได้ดูของก่อนใคร เขาก็จองแล้วมารับของที่ร้าน หลัง ๆ มี Facebook ก็เริ่มลงขายเป็นเจ้าแรก ๆ เลย พอมี Live ก็ใช้ไลฟ์ขาย เป็นเจ้าแรก ๆ เลยที่ทำ

ปัจจุบันกลายเป็นว่าตอนนี้ ขยายเพิ่มเป็น ร้าน 100 พลัส ขายเสื้อผ้าสาวอวบด้วย โดยขายออนไลน์เป็นหลัก มีห้องสตูดิโอถ่ายไลฟ์ และมีรอบไลฟ์ทั้งวัน คนดูแต่ละครั้งก็เป็นแสน เราตั้งเป้าว่าต้องขายให้ได้สองหมื่นชิ้นต่อเดือน นกยูงก็ปล่อยให้ผู้จัดการร้านดูแล และแบ่งหุ้นให้เขา เด็กที่ร้านก็จ้างน้องนักศึกษาปี 4 ซึ่งพอเรียนจบก็มาทำงานกับเราได้เลย

ยุคออนไลน์เต็มตัว นกยูงทำธุรกิจอีกหลายอย่าง หลายปีที่แล้วเคยทำธุรกิจครีมชื่อ Senses Skincare ตั้งแต่ปี 2006 แต่ตอนนี้ขายแบรนด์ให้กัมพูชาไปแล้ว เพราะการแข่งขันรุนแรงมากในตลาด กลายเป็นว่าราคาทุนของเราเท่ากับราคาขายของคนอื่น เราก็สู้ไม่ไหว เพราะใช้แต่ของคุณภาพ แต่กัมพูชาซึ่งเป็นลูกค้าเรามานาน เขารับได้ จึงขายแบรนด์ให้เขาไป

ส่วนนกยูงก็มาต่อยอดทำธุรกิจอาหารเสริม ต่อมาก็ขายชาเขียวมัตชะ เพราะชอบดื่มมาก จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ คุณน้าทำงานบริษัทญี่ปุ่น เจ้านายเอาชาเขียวมาให้ แต่น้าก็เอามาให้เรา ดื่มตอนอ่านหนังสือแล้วไม่ง่วงเลย จึงคิดว่าสิ่งนี้เคยทำให้ชีวิตเราดีขึ้น เวลานั้นก็ไปเดินตามงานโอท็อปทุกงาน เพราะอยากขายของไทย แต่ชิมมาหมดแล้วก็ไม่เหมือนกับชามัตฉะของญี่ปุ่น จึงต้องสั่งจากผู้ผลิตในประเทศญี่ปุ่นโดยตรง พอนำมาขายทางออนไลน์ ก็ขายดีมาก ยอดสั่งเพิ่มขึ้นเยอะ เราก็ขอเซ็นสัญญาให้เขาขายเราเพียงเจ้าเดียว แต่เขาก็ไม่ยอม เพราะมองเราเป็นรายย่อย จนสุดท้ายยอดขายของเราเยอะมาก เขาจึงยอมเซ็นขายให้เราเพียงผู้เดียว

ก้าวสู่ธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น

มื่อเริ่มทำธุรกิจใหญ่ขึ้น นกยูงก็กลัวนะคะ และเชื่อว่าทุกคนต้องเคยรู้สึกแบบนี้ แต่ความเข้มแข็งในใจมันยิ่งใหญ่กว่าความกลัวนั้นมาก ถ้าไม่ลองทำก็ไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาเราก็ล้มลุกมาเยอะ แต่เราก็เดินต่อมาได้ เพราะเราสู้ และไม่จมอยู่กับอดีต วันนี้นกยูงก็ก้าวมาอีกขั้นคือ การทำธุรกิจอัญมณี

ธุรกิจล่าสุดนี้เกิดจากที่ทุกปีนกยูงจะไปจันทบุรีเพื่อเยี่ยมคุณป้าและญาติที่เคยเลี้ยงดูมา ท่านอยู่ตลาดพลอยเหมือนเดิม เราพูดคุยกันเรื่องคุณพ่อ นกยูงจึงคิดว่า เรารู้จักธุรกิจนี้ดี และมีคอนเน็คชั่นแล้ว ทำไมไม่ทำ จากตรงนั้นจึงใช้ทุนสองหมื่นบาท ซื้อพลอยเม็ดน่ารัก ๆ มาทำตัวเรือนเงิน และขายในราคาพันปลาย ๆ ถึงสองพัน ปรากฏว่าวันเดียวขายหมดเลย

นกยูงมองว่า ธุรกิจนี้ต้องใหญ่ขึ้นและเป็นธุรกิจเพชรแท้ทองแท้ เราคงทำคนเดียวไม่ได้ เพราะมูลค่าสูง อีกอย่างคือนกยูงถนัดทำยอด แต่ไม่ถนัดเรื่องโปรดักชั่นส์และดีไซน์ จึงชวนน้องสาวที่ลูกพี่ลูกน้อง และเป็นลูกสาวช่างทองที่อยู่จันทบุรีด้วยกันมาทำด้วยกัน จดทะเบียนในรูปแบบบริษัท ขายทางออนไลน์เป็นหลัก ขายกันสองคนกับน้อง จนธุรกิจโตขึ้นมาก

ตอนนี้มีช่างทำที่จันทบุรี 6 คน จ้างจิวเวอรีดีไซเนอร์ ซึ่งเรียนที่ด้านนี้ที่ ม.บูรพา จันทบุรี เพราะเรารู้ว่าที่นี่เด่นเรื่องนี้โดยเฉพาะ เราหาคนที่อยู่ในละแวกนั้นทำ ส่วนการขายก็มาไลฟ์ขายทางออนไลน์ และมีหน้าร้านแล้ว แต่ยังไม่มีเวลา แกรนด์โอเพ่นนิ่งร้าน Bevel Jewel เลย

ตอนนี้นกยูงเลือกทำแต่สิ่งที่รัก เพราะ หลักการทำธุรกิจของนกยูงคือ ต้องเลือกสิ่งที่เรารักและหลงใหล เพราะเราจะทำได้ดี ที่ผ่านมามีธุรกิจที่นกยูงทำไม่รอดเหมือนกัน เช่น ตู้ซักผ้าหยอดเหรียญ และร้านถ่ายเอกสารเอกสาร นั่นเป็นเพราะเราไม่รักมันมากพอ เราหวังแต่จะกอบโกยเงินจากลูกค้า หวังแค่กำไร สุดท้ายก็ไปไม่รอด แต่พอทำธุรกิจที่เราชอบ ก็สนุก และทำหลายอย่างมาก ทำเพจให้ความรู้เรื่องสุขภาพ ที่มีคนตาม 3 แสนกว่าคน แล้วก็ยังแบ่งเวลาเป็นอาจารย์พิเศษด้วย

ส่งมอบความรู้ให้กับเด็กรุ่นใหม่

หลังจากทำงานได้สักพัก นกยูงก็เรียนปริญญาโท ไม่ได้เรียนเพื่อจะเอาวุฒิการศึกษา แต่เรียน MBA เพราะอยากได้ความรู้เพิ่ม และอยากรู้จักกับคนที่เป็น CEO จากองค์กรใหญ่ที่เขามาเรียน เพราะเวลาค้าขายเราก็อยู่ในวงของแม่ค้าด้วยกันเท่านั้น เวลานั้นนกยูงมีลูกน้องที่ไว้ใจได้ จึงมีเวลาไปเรียนช่วง 6 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม

ต่อมาก็เรียนปริญญาเอกที่ม.บูรพา พอดีได้ทุนรัฐบาลเรียนด้วย จึงช่วยค่าเทอมได้เยอะ นกยูงเลือกทำวิจัยเรื่องแนวทางการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นการค้าขายชายแดนอุบลราชธานีและหนองคาย หลังมีห้างขนาดใหญ่จากประเทศจีนมาเปิด โดยต้องไปคุยกับภาครัฐเพื่อคิดหาโมเดลป้องกัน และวางแผนเรียกคนลาวกลับมาซื้อของที่เราเหมือนเดิม แม้จะทำงานหนัก แต่ก็ดีใจที่ได้มีส่วนช่วยเรื่องนี้ ซึ่งผลที่ได้เกินคาด เพราะกลายเป็นว่ามีคนจีนย้ายมาทำงานเป็นหมื่นคน แล้วก็มาซื้อของจากเรามากขึ้นด้วย

นอกจากนี้นกยูงก็ได้เป็นอาจารย์พิเศษ สอนเรื่องธุรกิจออนไลน์ และการบริหารการขาย สอนทั้งปริญญาตรีและโทสำหรับปริญญาโท นิสิตทำธุรกิจส่งออกได้จึงจะจบ นกยูงก็ได้ถ่ายทอดความรู้ที่มีให้เด็กเต็มที่ หลังเลิกเรียนก็มาถามได้ ยินดีสอนให้ทุกคน เพราะดีใจมากที่เห็นลูกศิษย์ประสบความสำเร็จจากการนำความรู้ที่เราให้ไปใช้ได้จริงและใช้อย่างยั่งยืน นกยูงภูมิใจมาก ที่ได้มีส่วนช่วยพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นด้วยการเป็นอาจารย์ ถึงจะยุ่งอย่างไรก็จะแบ่งเวลามาทำงานนี้ให้ได้

วันนี้นกยูงไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ ไม่คิดว่าตัวเองเก่ง เพราะยังต้องมีเรื่องที่ต้องพัฒนาอีกเยอะ นกยูงจะอ่านหนังสือและฟังคลิปเพื่อพัฒนาตัวเองวันละสองชั่วโมง เพราะมีเป้าหมายอื่น ๆ ที่อยากทำอีกเยอะ แต่นกยูงไม่ได้คิดที่จะรวยล้นฟ้า เพราะพอใจที่จะทำธุรกิจที่รักและทำด้วยสมองและสองมือของตัวเองขับเคลื่อนให้คนมีรายได้ ให้โอกาสคนมีอาชีพ เหมือนกับที่เราเคยอยากได้โอกาสนั้น ซึ่งถือเป็นการให้ในอีกรูปแบบหนึ่ง

ตอนที่เปิดร้านเสื้อผ้าแรก ๆ มีเด็กมาสมัครงาน ตัวเล็กตัวเหลืองมาเลย เพราะน้องไม่มีเงิน ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีคนรับ แต่นกยูงเห็นความตั้งใจและอยากให้โอกาส วันนี้เขาก็เป็นแม่พิมพ์ของชาติไปแล้ว เราก็ภูมิใจในตัวเขามาก
วันนี้การที่ได้เห็นคนในองค์กรและคนรอบตัวมีชีวิตที่ดีขึ้นจากธุรกิจของเราถือเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ของนกยูงแล้วค่ะ

หลักการทำธุรกิจให้สำเร็จ
• เลือกทำธุรกิจที่ตัวเองรักและหลงใหล
• ศึกษาหาความรู้ให้รอบคอบ
• ไม่คิดจะเอาแต่เงินและกำไร
• ไม่จมอยู่กับความสำเร็จในอดีต
• กล้าที่จะทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ
• เมื่อล้มก็ต้องลุกเองให้ได้
• ไม่ลืมที่จะมอบโอกาสให้ผู้อื่นด้วย


ที่มา: คอลัมน์ Secret of Life  นิตยสาร Secret
เรื่อง: เชิญพร คงมา ช่างภาพ: สรยุทธ พุ่มภักดี ผู้ช่วยช่างภาพ: ชลิตา รักธรรมนูญ, จักรินทร์ คำราช


บทความน่าสนใจ

สู้สุดหัวใจ นิยามชีวิตของ จอห์น มกจ๊ก ตลกหญิงร่างเล็กใจสู้

ชีวิตนี้ที่เลือกเอง  ปุ๊กกี้  ปริศนา พรายแสง

ความสุขพอดี และชีวิตพอเพียง ของ แชมเปญ เอ็กซ์

หนุ่ม กะลา กับช่วงเวลาที่พบธรรม จากวันที่ทุกข์ถึงวันที่ซึ้งธรรม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.