ธรรมะโดย พระอาจารย์นวลจันทร์

“เสน่ห์มัดใจ สร้างได้ด้วยธรรม” ธรรมะโดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

“เสน่ห์มัดใจ สร้างได้ด้วยธรรม”

ธรรมะโดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

ถ้าพูดตามหลักการ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวถึง หลักสังคหวัตถุ 4 อันเป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ
ผูกไมตรีกับผู้อื่น ประกอบด้วยทาน ปิยวาจา อัตถจริยาและสมานัตตตา ถือเป็นการสร้างเสน่ห์ในเชิงพุทธได้
ทานคือ การให้ จะเห็นได้ชัดเลยว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก

ถึงแม้หน้าตาไม่สะสวย แต่เป็นคนแบ่งปันเอื้อเฟื้อก็ถือเป็นคนน่ารัก ปิยวาจาคือ การพูดจาที่ไม่ทำร้ายจิตใจ บางทีอาจไม่ใช่คำหวานไพเราะ เพราะคำไพเราะเชือดเฉือนคนได้ เหมือนกับที่เขาว่า น้ำผึ้งอาบยาพิษ

ดังนั้นคำพูดต้องเป็นคำที่จรรโลงใจ ไม่ทำร้ายจิตใจใคร อัตถจริยา คือการสงเคราะห์ทุกชนิด การทำตัวเป็นจิตอาสา ช่วยเหลือผู้อื่น และสุดท้าย สมานัตตตา คือ การประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย คือประพฤติสามข้อข้างต้นสม่ำเสมอ

ไม่ใช่ว่าทานคือการให้ ก็ให้ครั้งเดียว คราวหน้าไม่ให้แล้ว ปีหน้าก็ไม่ให้ ปีหนึ่งให้ครั้งเดียวคือวันเกิด เราก็จะน่ารักเพียงวันเดียวคือวันที่เราให้ ท่านจึงบอกว่า ประพฤติให้สม่ำเสมอ ทำเรื่อย ๆ มีโอกาสทำก็ทำ แล้ว
ต่อไปจะทำได้บ่อยขึ้นจนเป็นนิสัย สุดท้ายก็ซึมเข้าไปในจิตวิญญาณ คือ ทำได้ทันที ทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่เกี่ยวกับคนหรือสถานที่

ถ้ายังไม่ถึงจุดนั้นก็ฝึกว่า เราอยู่กับใครหรือสถานที่ไหนแล้วทำได้บ่อย ทำได้ง่าย ก็อยู่ตรงนั้นไปก่อน เช่น อยู่กับ
บางคนแล้วพูดปิยวาจาไม่ได้เลย พูดไม่ออก แต่อยู่กับอีกคนพูดได้ ก็ควรไปอยู่กับคนที่ทำให้เราพูดได้ไปก่อน
คือเลือกอยู่กับคนที่ทำให้สิ่งดีงามจากข้างในได้เกิดขึ้น เพราะเสน่ห์เกิดจากข้างใน แล้วก็ฝึกทำบ่อย ๆ จนต่อไปก็เกิดเองโดยธรรมชาติ เข้าไปถึงวิญญาณ อยู่กับใครที่ไหนก็ทำได้

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การสร้างเสน่ห์ในเชิงพุทธนั้นเราทุกคนสามารถทำได้ด้วยหลักสังคหวัตถุ 4 ซึ่งเป็นหลัก
ที่ทำให้คนหมู่มากอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข 


ที่มา: นิตยสาร Secret

เรื่อง: พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ เรียบเรียง: เชิญพร คงมา

Photo by Timothy Paul Smith on Unsplash


บทความน่าสนใจ

อย่าประมาท ธรรมะเพื่อฝึกใจ โดยพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

การให้โอกาสเป็นสิ่งที่ดี ข้อคิดชีวิตเป็นสุข โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

แสงใด ๆ ไม่สุกสว่างเท่าแสงธรรม ข้อคิดโดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

ชีวิตสองขั้ว ข้อคิดเพื่อจิตสบาย โดย พระจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.