เคล็ดลับเปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญา

เคล็ดลับเปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญา ง่าย ๆ ทำได้ไม่ยาก

เคล็ดลับเปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญา

เคล็ดลับเปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญา ง่าย ๆ ทำได้ไม่ยาก

ธรรมชาติของปัญหาในโลกมักประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ปัญหาภายในและปัญหาภายนอก

ผู้มีจิตอริยชนควรมีสติมองปัญหาให้ทะลุ ควรจับปัญหาทั้งสองส่วนแยกออกจากกันให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การสะสางปัญหาที่มีประสิทธิภาพและถูกต้องตรงธรรม

 

ปัญหาภายนอก

ให้วิเคราะห์ตามความเป็นจริงว่าเรากำลังมีสถานการณ์อะไร กับใคร ที่ไหน เมื่อไร

วิธีแก้ไข 

ให้แก้ไปตามเหตุปัจจัยที่เหมาะสมโดยย้อนกลับมามองที่ความบกพร่องของตนเองก่อน แล้วตั้งต้นว่าเราจะแก้ไขความผิดพลาดของตนก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงค่อยแก้ที่คู่กรณี หาทางเจรจาในเวลาที่เหมาะสม ระลึกอยู่เสมอว่าการเจรจานี้เป็นไปเพื่อสะสางปัญหา มิใช่เพิ่มพูนปัญหา สถานการณ์ต่าง ๆ ก็เช่นกัน เมื่อคิดจะแก้ไขให้ทำอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน มองเป้าหมายให้ทะลุว่าอะไร คือ เป้าหมายของการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง จากนั้นจึงค่อย ๆ คลี่คลายออกมาเป็นกรรมวิธีดำเนินการที่ชัดเจน แก้ไข อย่างไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ใช้เวลากี่วัน พร้อมด้วยวิธีประเมินผลที่จับต้องได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องทำด้วยจิตที่ขาวสะอาด ใช้วาจาสุภาพเรียบร้อย ไม่เอารัดเอาเปรียบไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นไปด้วยลักษณะของผู้ทรงคุณธรรม ที่มีทั้งความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม

สูตรการแก้ไขปัญหาภายนอก

(วิเคราะห์ปัญหาตามจริงหรือโยนิโสมนสิการในปัญหา) + (ขั้นตอนการดำเนินงานหรือหามรรควิธีในการแก้ปัญหา) + (ความเพียรพยายามหรืออิทธิบาท 4) + (ความเมตตาหรือพรหมวิหาร 4) = แก้ปัญหาได้เท่าไร นั่นคือเราได้สร้างเหตุตามสมควรแล้ว  ก็ขอให้ปล่อยวางในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น อย่าได้ติดใจไม่ว่าผลนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะเราได้สร้างเหตุอย่างเต็มกำลังความสามารถแล้วก็เป็นอันว่าจบ

 

ปัญหาภายใน

ให้กำหนดวิเคราะห์ตามความเป็นจริงว่า  ปัญหาคือความธรรมดาของชีวิต เมื่อมีชีวิตเกิดขึ้น  ปัญหาในชีวิตก็ย่อมเกิดขึ้นด้วย  จงมองให้ทะลุว่าแท้จริงแล้วปัญหาทั้งปวงไม่ได้อยู่ที่เหตุการณ์ ไม่ได้อยู่ที่บุคคลอื่น แต่อยู่ที่ใจของเราล้วน ๆ อยู่ที่ใจของเราเองที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่าง ๆ ยึดว่าอยากให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้ พอมันไม่เป็นอย่างที่อยากขึ้นมาความทุกข์ใจหรือปัญหาทางใจจึงเกิดขึ้น ดังนั้นปัญหาจึงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือความยึดมั่นถือมั่นของเราเองล้วน ๆ

วิธีแก้ไข

ขอให้ตั้งสติกับตนเองและยอมรับไปตรง ๆ ว่าปัญหาทุกอย่างเกิดจากความคิด “ความคิดของเรา” คือบ่อเกิดของทุกปัญหาในโลก  แม้เราคือผู้พิการเสียแขนเสียขาเสียดวงตา  แม้เราจะเสียใครหรือเสียอะไร แต่ถ้าเราไม่คิดเสียอย่าง  อะไรหรือใครก็สร้างความทุกข์ใจแก่เราไม่ได้ นี่คือความจริงในขั้นทะลุโลกที่เราต้องยอมรับ เพื่อนำตนไปสู่กระบวนการดับทุกข์ที่แท้จริง นั่นคือกระบวนการฝึกจิตที่ช่วยให้ผู้ฝึกฝนสามารถเป็นอิสระจากการครอบงำของสถานการณ์ภายนอก เป็นอิสระจากการบีบคั้นของผู้อื่น หรือเป็นอิสระแม้กระทั่งจากความคิดของตนเอง

สูตรการแก้ไขปัญหาภายใน

(วิเคราะห์ตามความเป็นจริงว่า  ปัญหาทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นจากความคิดจากตัวกูของกู ความเข้าใจผิดว่ามีตัวกูของกูนั่นเองคือปัญหาที่แท้จริงของเรา หรือการรู้อริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง รู้ว่าตัวเรานี้คือต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง) + (ขั้นตอนการทำลายความเป็นตัวกูหรือมรรคมีองค์ 8) + (ความเพียรในการดำเนินมรรคหรือความเพียรในการทำลายอัตตาตัวตนด้วยสมาธิ  วิปัสสนา  หรือการทำความเพียรให้ครบองค์อินทรีย์ 5 พละ 5) + (ความเมตตาหรือพรหมวิหาร 4) = ขัดเกลาอัตตาตัวตน ขัดเกลากิเลสของตนเอง ได้เท่าไรก็ให้มีความเบิกบาน อย่าเร่งรีบ อย่านิ่งนอนใจ แต่ให้ทำไปเรื่อย ๆ วันละเล็กละน้อย จนกว่าอัตตาตัวตนของเราจะสิ้นซากลงไป

 

ข้อสังเกต 10 ประการ

1. ปัญหาภายนอกนั้นเป็นปัญหาที่ไม่รู้จบ  จะมีเข้ามาชั่วชีวิต ทั้งอดีตชาติ  ชาตินี้  และชาติหน้า ใช้เวลาแก้เท่าไรก็ไม่รู้จักจบสิ้น

2. ปัญหาภายในนั้นมีวันจบ แต่เป็นปัญหาที่คนไม่ชอบแก้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ถูกหลอกให้มองนอกตัว แต่ไม่เคยมองเข้าไปที่กิเลสตัณหาของตนเองเลย

3. ชีวิตทางโลกจำเป็นต้องแก้ทั้งภายในและภายนอกไปพร้อมกัน  จะละเลยส่วนหนึ่งส่วนใดไปไม่ได้

4. ปัญหาภายนอกเป็นเรื่องระหว่างเรากับเขา ส่วนปัญหาภายในเป็นเรื่องของเราล้วน ๆ

5. การแก้ปัญหาภายนอกเพียงส่วนเดียวโดยละทิ้งการแก้ปัญหาภายในนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้ง ความหยิ่งยโส สงคราม  และความเห็นแก่ตัว

6. แม้สุดท้ายแล้วปัญหาภายนอกแก้ไม่ตก แต่หากเราแก้ปัญหาภายในตก  ก็เป็นอันว่าปัญหาภายนอกย่อมไม่มีผลต่อจิตใจของเรา

7. วิชาทางโลกแก้ปัญหาภายนอกได้  ส่วนวิชาทางธรรมแก้ได้ทั้งภายในภายนอก

8. จงตั้งสติแล้วแยกปัญหาให้ออก  จับมันแยกออกเป็นชิ้น ๆ แล้วฝึกฝนการแก้ปัญหาแบบอริยชนจนติดเป็นนิสัย

9. ขณะที่แก้ปัญหาใด ๆ จงสำรวมกาย วาจาให้อยู่ในขอบเขตของความดี ส่วนมิติของจิตใจนั้นให้ใส่ความเมตตาลงไปมาก ๆ เพื่อให้ใจมีความเบิกบานอยู่ได้ขณะที่ปัญหายังไม่สิ้นสุด

10. ไม่มีชีวิตใดหลีกหนีปัญหาไปได้ อย่าได้หนีปัญหา จงเผชิญหน้ากับมันด้วยสติ ความดี และมองให้เห็นตามความเป็นจริงว่าปัญหาจะไม่ใช่ปัญหา ถ้าเราไม่เอาใจไปยึดมั่นถือมั่น มองเห็นอย่างนี้ได้ปัญญาที่แท้จริงจะเกิด ทำให้มีโอกาสพัฒนาตนเองให้กลายเป็นผู้อยู่เหนือสถานการณ์  เป็นผู้อยู่ในกระแสแต่ไม่ถูกกระแสพัดพา เป็นหยดน้ำบนใบบัวที่อยู่กับพื้นผิวแต่ไม่ถูกสัมผัสแตะต้อง  เป็นผู้อยู่กับโลกแต่มีจิตวิญญาณเป็นผู้เหนือโลก เหล่านี้คือการแก้ปัญหาแบบอริยบุคคลที่ได้ทั้งการแก้ปัญหาและไขความลับแห่งชีวิตให้กระจ่างไปในคราวเดียวกัน

ขอให้ทุกท่านใช้ความเป็นอริยชนที่ซ่อนอยู่ภายในข้ามพ้นทุกปัญหาไปได้ด้วยดีนะครับ

 

เรื่อง พศิน อินทรวงค์

ข้อมูลจาก คอลัมน์ Heart and Soul นิตยสาร Secret

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

มีแฟนแล้วทุกข์ ความสุขอยู่ตรงไหน? เก็บมุมคิดจาก พศิน อินทรวงค์ (ชมคลิป)

10 ข้อคิดเปลี่ยนชีวิตที่คับแคบให้กลายเป็นท้องฟ้ากว้างใหญ่ โดยคุณพศิน อินทรวงค์

เดินไปสู่ความสุข กับ พศิน อินทรวงค์

เพื่อนมนุษย์ ความทุกข์ และความตาย บทความเตือนสติมนุษย์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.