คนเห็นแก่ตัว

Dhamma Daily : วิธีร่วมงานกับ คนเห็นแก่ตัว

Dhamma Daily : วิธีร่วมงานกับ คนเห็นแก่ตัว

ถาม : ดิฉันต้องทำงานกับ คนเห็นแก่ตัว โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เขาพูดถึงดิฉันในทางที่ไม่ดีกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น พอรู้ตอนแรกก็โกรธมากค่ะแต่พอผ่านไปสักครู่ก็คิดว่าไม่เป็นไร ช่างมันแต่เดี๋ยวก็ไม่สบายใจอีกควรทำอย่างไรคะ

พระมหา ดร.ธนาธิป มหาธมฺมรกฺขิโต ตอบปัญหานี้ไว้ว่า

ตอบ : แน่นอนว่าการอยู่ร่วมกันในสังคม คนย่อมมีนิสัยที่แตกต่างกันออกไป เพราะพื้นฐานการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันนั่นเอง แต่ท่านจำเป็นต้องอยู่ร่วมชายคากับคนเห็นแก่ตัวโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ประเด็นนี้พอมีวิธีที่จะแก้ได้

ว่าด้วยส่วนตนท่านก่อน ทุกครั้งเมื่อต้องร่วมงานกับเขา ท่านต้องตั้งใจไว้ในส่วนเบื้องต้นก่อนว่า ท่านจักทำหน้าที่ในส่วนของตนให้สมบูรณ์เรียบร้อยโดยหาข้อบกพร่องไม่ได้เพื่อปิดช่องโหว่ให้ตนเองเสียก่อน ต่อเมื่อผู้นั้นแสดงความเห็นแก่ตัวออกมาก็จะไม่กระทบเรา เพราะหน้าที่ของเราสมบูรณ์ดีแล้ว การแสดงความเห็นแก่ตัวของเขาก็จะไร้ผลและจงพยายามแสดงการมีน้ำใจแก่เขาบ่อย ๆ แต่อย่าคาดหวังผลลัพธ์ของการแสดงน้ำใจของเรา ให้คิดเสียว่าเรากำลังสละความเห็นแก่ตัวของเราเองด้วยการมีน้ำใจต่อเขาเป็นการบำเพ็ญบารมีหรือสร้างบุญให้กับตัวเอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า จงชนะผู้โกรธด้วยการไม่โกรธตอบ ชนะคนชั่วด้วยความดี ชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ชนะคนเห็นแก่ตัวด้วยการมีน้ำใจ ส่วนกรณีที่ว่า เขามักนินทาท่านลับหลังในทางเสียหาย ประเด็นนี้ให้ท่านพิจารณาด้วยว่า เรื่องที่เขานินทานั้นเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องโกหกพกลมถ้าเป็นเรื่องจริงก็ไม่จำเป็นต้องโกรธ ควรขอบคุณเขาด้วยซ้ำเพราะเขากำลังชี้ขุมทรัพย์อันล้ำค่าให้กับชีวิตของท่าน ท่านก็ควรแก้ไขตัวเอง

แต่ถ้าเป็นเรื่องพกลม ปั้นน้ำเป็นตัว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปโกรธเขา เพราะมันเป็นเรื่องไม่จริง ถ้าท่านมีความดีในตัว ความจริงก็จะปรากฏเอง ไม่จำเป็นต้องกังวลกับคนรอบข้างว่าเขาจะคิดอย่างไรกับท่าน เพราะท่านห้ามความคิดของคนเหล่านั้นไม่ได้ ถ้าท่านได้รับผลกระทบในทางเสียหายจริง ก็จงยกความจริงขึ้นมาอธิบายให้พวกเขาได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเท่านั้นก็พอ

ท่านควรตระหนักแค่ว่า ได้คิดเชิงบวกอันประกอบด้วยเมตตามากเท่าไรกับคนเหล่านั้นก็เพียงพอแล้ว ท่านจะเป็นสุขมากกว่า ความจริงจะดีหรือร้าย จะสุขหรือทุกข์ขึ้นอยู่กับการปรับใจ มีปัญญารู้ และแก้ความไม่พึงประสงค์ของใจเราได้ คนอื่นเป็นเพียงบางส่วนที่ทำให้ใจเราหวั่นไหวตามเท่านั้น ถ้าปล่อยใจเราให้มีสภาพแกว่งไกวเช่นนี้ ความทุกข์ก็จะอยู่ที่เราเอง ไม่ควรเสียเวลานำเขามาสร้างความทุกข์ให้ตัวเองไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่ท่านเลย


หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่

Secret Magazine (Thailand)


บทความที่น่าสนใจ

Dhamma Daily: เพราะเหตุใดคนเราจึงมัก กังวลเรื่องความตาย อยู่ตลอดเวลา

อิทธิบาท 4 : ทางแห่งความสำเร็จในการทำงานอย่างเป็นสุข โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

วิธีการแก้ปัญหาการทำงานที่ดีที่สุดคือ การพาตัวเองไปอยู่ในงานนั้น

โต๊ะทำงานวัดประสิทธิภาพของการทำงานได้อย่างไร

การทำงานของไตรสิกขา โดย พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.