วัดป่าเชิงเลน ซอยจรัญสนิทวงศ์ 37

วัดป่าเชิงเลน ซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 สถานปฏิบัติธรรมอันเงียบสงบกลางกรุง

วัดป่าเชิงเลน ซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 สถานปฏิบัติธรรมอันเงียบสงบกลางกรุง

วัดป่าเชิงเลน ซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 เขตบางกอกน้อย เป็นวัดป่าที่ตั้งอยู่ริมคลองชักพระ ขึ้นชื่อว่าเป็นสัปปายะสถาน โดยขับรถตามป้ายไปจนสุดซอย จากนั้นเดินไปตามทางเดิน เลียบคลองประมาณ 800 เมตร

วัดป่าเชิงเลนซ่อนตัวอยู่ในใจกลางกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีความสงบ ร่มรื่นของธรรมชาติ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เพื่อพักผ่อนทั้งกายและใจ

ความพิเศษของวัดแห่งนี้คือความร่มรื่นของต้นไม้นานาพันธุ์ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ แทรกตัวอยู่ท่ามกลางพุ่มไม้ เช่น อุโบสถหลังเล็ก ศาลาการเปรียญ ศาลากลางน้ำ และศาลาร่วมใจ มีเพียงพระสงฆ์และสามเณรเท่านั้นที่ทำหน้าที่ดูแลวัด ภายในวัดมีความเรียบง่าย ทำให้วัดป่าเชิงเลนเหมาะกับเป็นสถานปฏิบัติธรรมและละกิเลสทางวัตถุทั้งปวง  ภายในอุโบสถหลังเล็กมีพุทธพจน์ติดไว้เหนือพระพุทธสิริสัตตราช ซึ่งเป็นพระประธานว่า นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ หมายถึง สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี

ประวัติของวัดป่าเชิงเลนสันนิษฐานว่าวัดนี้คงมีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี ชาวบ้านในพื้นที่บอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า สภาพวัดในอดีตมีสภาพหักพังและถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างมานาน เมื่อตรวจสอบอิฐและวิธีการก่อสร้างพบว่าเป็นการก่อสร้างวัดรูปแบบเดียวกับที่สร้างในสมัยอยุธยา สาเหตุที่วัดถูกปล่อยให้รกร้างเป็นเพราบริเวณที่ตั้งวัด ทุกวันระดับน้ำในคลองจะขึ้นลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำท่วมขังคราวละเป็นเวลานาน จึงเป็นเหตุให้บริเวณวัดทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว จนสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ พังทลายลงในที่สุด แม้ต่อมาจะมีความพยายามบูรณะฟื้นฟูหลายครั้ง แต่ในเวลาไม่นานสิ่งปลูกสร้างก็หักพังทลายลงไปอีก หมดกำลังที่ชาวบ้านจะบูรณะต่อไปได้ จึงถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างมาเป็นร้อยปี

จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2532 พระอาจารย์อุทัย (ติ๊ก) ฌานุตฺตโม พระป่าสายอีสานศิษย์พระราชนิโรธรังสี คัมภีร์ปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ได้ธุดงค์มาพบวัดร้างนี้โดยบังเอิญ สภาพที่พบครั้งแรกเห็นเป็นบึงกว้างใหญ่ กลางบึงเป็นต้นอ้อขึ้นสูงกว่าที่อื่น ใต้พงอ้อเป็นกองอิฐปะปนอยู่ซึ่งเป็นซากโบสถ์มีกองอิฐและกองไม้โครงหลังคา และเหลือซากกำแพงบางส่วนของตัวโบสถ์โผล่พ้นน้ำเพียงนิดเดียว ซึ่งใกล้ ๆ บริเวณนี้ยังพบพระพุทธรูปเศียรขาด 3 องค์ ที่ถูกลักลอบตัดไปนานแล้ว ด้วยความรู้สึกสะเทือนใจจึงได้ดำริจะบูรณะวัดนี้ขึ้นมาใหม่ ท่านจึงได้บูรณะวัดนี้ขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม จนเสร็จสมบูรณ์ลงในปีพ.ศ. 2533 และได้ชื่อว่า วัดป่าเชิงเลน ดังนั้นพระสงฆ์ในวัดป่าเชิงเลนมีวัตรปฏิบัติแบบเดียวกับพระป่าคือ ฉันเพียงมื้อเดียว วัดนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นสาขาของวัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย

การปฏิบัติธรรมที่วัดป่าเชิงเลนไม่มีพิธีการมากมาย ไม่มีการบวชชีพราหมณ์หรือการปฏิบัติธรรมแบบค้างคืน เนื่องจากสถานที่ไม่เอื้ออำนวย และไม่มีที่พักค้างคืนสำหรับผู้หญิง แต่สามารถมานั่งสมาธิภาวนาแบบไปเช้าเย็นกลับได้ วัดนี้สอนให้ไม่ยึดติดกับพิธีกรรมจนเกินไป ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นจากใจของเราเอง ขอเพียงตั้งมั่นว่าจะถือศีลก็เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ยังไม่บังคับว่าผู้มาปฏิบัติจะต้องปฏิบัติธรรมในแนวใด ใครศรัทธาทางสายไหนก็ปฏิบัติตามสายนั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะปฏิบัติสายไหนก็นำเราไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การกำจัดความทุกข์และละกิเลสให้หมดไปจากใจ

แม้ที่นี่จะไม่ใช่สถานปฏิบัติธรรมที่เพียบพร้อมไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกเหมือนที่อื่น ๆ ไม่มีคอร์สสอนปฏิบัติธรรม ไม่มีธรรมบริกร และไม่มีแม้แต่ที่พักค้างคืน แต่วัดป่าเชิงเลนก็พร้อมต้อนรับผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลายอยู่เสมอ หากใครมีปัญหาติดขัดเรื่องการปฏิบัติธรรม พระทุกรูปยินดีช่วยแนะนำแก้ไข หรือหากมีเวลาว่าง ท่านก็แนะนำให้มาปัดกวาดวัด ลองกำหนดรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวนั่นก็ถือเป็นการปฏิบัติธรรมได้ในอีกทางหนึ่ง

ถือได้ว่า วัดป่าเชิงเลน เป็นสถานปฏิบัติธรรมที่ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องการหาสถานที่พักผ่อนที่มีบรรยากาศเงียบสงบสักที่ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมเมือง และรายล้อมไปด้วยธรรมชาติ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การชาร์ตพลังกายและพลังใจ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่หาไม่ได้นักในเมืองกรุง


บทความที่น่าสนใจ

รวม 3 สถานปฏิบัติธรรม ที่ปฏิบัติตามแนวทางของพระอริยสงฆ์ 3 รูป

ปฏิบัติธรรมท่ามกลางสัปปายะทั้ง 7 ณ วัดป่าธรรมสุข

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.