อาชีพพระราชทาน

เลี้ยงโคนม อาชีพพระราชทาน จากในหลวงรัชกาลที่ 9

เลี้ยงโคนม อาชีพพระราชทาน จากในหลวงรัชกาลที่ 9

เลี้ยง โคนม อาชีพพระราชทาน จากในหลวงรัชกาลที่ 9

เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับ “นมไทย-เดนมาร์ค” มาตั้งแต่เด็ก หรือบางคนเรียกว่า “นมวัวแดง”  จนถึงวันนี้หลายคนโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังดื่มนมไทย-เดนมาร์ค ขณะเดียวกันได้ส่งต่อความผูกพันนี้ไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน

แต่กว่าที่จะมาเป็นนมไทย-เดนมาร์ค  เช่นทุกวันนี้ เกิดจากพระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ “ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ” ที่ทรงเล็งเห็นว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้ชาวไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่า ทั้งยังช่วยให้เกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคงและเป็นหลักแหล่ง ไม่ต้องบุกรุกทำไร่เลื่อนลอย จึงก่อเกิด “อาชีพโคนม” อาชีพพระราชทานที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยมายาวนานและยั่งยืน

พระบิดาแห่งโคนมไทย ผู้ให้กำเนิดอาชีพเลี้ยงโคนม

เดือนกันยายน พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสทวีปยุโรป ในการเสด็จทรงประทับแรมอยู่ ณ ประเทศเดนมาร์ค ทรงให้ความสนพระทัยเกี่ยวกับกิจการการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์คเป็นอย่างมาก ด้วยทรงเล็งเห็นว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้ชาวไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่า ทั้งยังช่วยให้เกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคงและเป็นหลักแหล่ง ไม่ต้องบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยอีกต่อไป

ดังพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในตอนหนึ่งว่า

“การเลี้ยงโคนมก็เป็นอาชีพที่ดีสำหรับคนไทย เหมาะกับประเทศ และถ้าใช้หลักวิชาที่เหมาะสม ก็จะทำให้มีความเจริญและมีรายได้ดี”

โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยจึงได้เริ่มต้นขึ้น ด้วยความร่วมมือด้านวิชาการการเลี้ยงโคนมระหว่างประเทศไทยและประเทศเดนมาร์ค

โดยรัฐบาลเดนมาร์ค ได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการเลี้ยงโคนม ของประเทศไทย และสำรวจพื้นที่ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย พบว่าอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี มีความเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นสถานที่เป็นหุบเขาสวยงาม มีแหล่งน้ำสะอาด และไม่ไกลจากตลาดกรุงเทพฯ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลเดนมาร์ค ได้ส่ง นายนิลส์ กุนน่าส์ ซอนเดอร์กอร์ด ผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์ค เพื่อมาพัฒนาพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย คือ ดร.ยอด วัฒนสินธุ์ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) คนแรก จนทำให้โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย เริ่มเป็นรูปธรรม

กระทั่งในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2505 นับได้ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระเจ้าเฟรดเดอริคที่ 9 แห่งประเทศเดนมาร์ค ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนม และศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค อย่างเป็นทางการ

จากนั้นในปี ในปี พ.ศ. 2514 รัฐบาลไทยได้รับโอนกิจการฟาร์มโคนม และศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีชื่อว่า “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ” พร้อมทั้งได้กำหนดให้วันที่ 17 มกราคมของทุกปี เป็นวันโคนมแห่งชาติ


ข้อมูลจาก :  brandbuffet

ภาพจาก :  brandbuffet, องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย

Secret Magazine (Thailand)


บทความที่น่าสนใจ

เจลลี่พระราชทาน อาหารพระราชทาน จากน้ำพระทัยของในหลวง ร.9

หน่วยทันตกรรมพระราชทาน น้ำพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9

ฝนหลวง ขององค์พระภูมินทร์

การอ่าน เปรียบดังธนาคารความรู้

สามเณรกรบวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 วันนี้ ณ วัดป่ามณีกาญจน์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.