พ่อขุนรามคำแหง

ย้อนประวัติพ่อขุนรามคำแหง มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย

ย้อนประวัติ พ่อขุนรามคำแหง มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย

พ่อขุนรามคำแหง มหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ที่ได้ทรงริเริ่มประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมา แล้วทราบไหมคะว่า ประเทศไทยได้กำหนดวันพ่อขุนรามคำแหงขึ้นด้วย ซึ่งตรงกับวันที่ 17 มกราคมของทุกปี เพื่อจัดกิจกรรมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่มีต่อประชาชนชาวไทย ซีเคร็ตจะพาผู้อ่านมาย้อนประวัติความเป็นมาของ พ่อขุนรามคำแหง กันค่ะ

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ. 1822  ถึงประมาณ พ.ศ. 1841  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย พระองค์ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยขึ้นเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาวไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ สืบทอดกันมากว่า 700 ปี พ่อขุนรามคำแหงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง

ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 19 พรรษา ได้เสด็จเข้าร่วมกองทัพกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้เป็นบิดา ไปป้องกันเมืองตากและได้สู้รบกับขุนสามชน จนได้รับชัยชนะ ด้วยความกล้าหาญในครั้งนั้นทำให้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชทานนามให้ว่า รามคำแหง ที่มีความหมายว่า รามผู้กล้าหาญเข้มแข็งในการรบ ภายหลังเมื่อประมาณ พ.ศ. 1822 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็ได้ขึ้นครองกรุงสุโขทัยสืบต่อมา 

รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง เป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟูและเจริญขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ระบบการปกครองภายในก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ไพร่ฟ้าประชาชนอยู่ดีกินดี สภาพบ้านเมืองก้าวหน้าทั้งทางเกษตร การชลประทาน การอุตสาหกรรม และการศาสนา อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล

เมื่อ พ.ศ. 1826 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้ ทำให้อนุชนสามารถศึกษาความรู้ต่าง ๆ ได้สืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ตัวหนังสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีลักษณะพิเศษกว่าตัวหนังสือของชาติอื่นซึ่งขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมาใช้ คือพระองค์ได้ประดิษฐ์พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์เพิ่มขึ้นให้สามารถเขียนแทนเสียงพูดของคำภาษาไทยได้ทุกคำ และได้นำสระและพยัญชนะมาอยู่ในบรรทัดเดียวกันโดยไม่ต้องใช้พยัญชนะซ้อนกัน ทำให้เขียนและอ่านหนังสือไทยได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นมาก นับว่าพระองค์ทรงพระปรีชาล้ำเลิศ และทรงเห็นการณ์ไกลอย่างหาผู้ใดเทียบเทียมได้ยาก

คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

ในด้านของการปกครอง เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงขจัดอิทธิพลของเขมรออกไปจากเมืองสุโขทัยได้ ในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 การปกครองของกษัตริย์สุโขทัยเป็นแบบพ่อปกครองลูก ดังข้อความในจารึกหลักที่ 1  ว่า “เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกูกูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกูกูไปท่อบ้านท่อเมือง ได้ช้างได้งวงได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู”

ข้อความดังกล่าวแสดงการนับถือพ่อแม่ และถือว่าความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ครอบครัวทั้งหลายรวมกันเข้าก็เป็นเมืองหรือรัฐ มีเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัวใหญ่ ปกครองพลเมืองเสมือนเป็นลูกหลาน ช่วยให้มีที่ทำกิน คอยป้องกันมิให้คนถิ่นอื่นมาแย่งชิงถิ่น ถ้าลูกหลานทะเลาะวิวาทกัน ก็ตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม

ยิ่งกว่านั้น พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ยังทรงใช้พระพุทธศาสนา เป็นเครื่องช่วยในการปกครอง โดยได้ทรงสร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรขึ้น ให้พระเถรานุเถระแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันพระ ส่วนวันธรรมดาพระองค์เสด็จประทับเป็นประธานให้เจ้านายและข้าราชการปรึกษาราชการร่วมกัน เมื่อประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาและประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ดีที่ชอบ การปกครองก็จะสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงได้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านไว้เพื่อสักการะ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดสุโขทัย โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ประกอบพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จากศาลพระแม่ย่าไปสถิต ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ แล้วทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528

ถัดมาประมาณสามปีคือ ปี พ.ศ. 2531 สำนักงานสภาจังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนด วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้น โดยถือเอาวันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีและทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เป็น วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช


ช้อมูลจาก : m-culture

ภาพจาก : campus-star, kapook


 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.