พระนเรศวร

เรื่องราวของ พระนเรศวร ตำนานแห่งเอกราชของชาติไทย

เรื่องราวของ พระนเรศวร ตำนานแห่งเอกราช

                        อุรารานร้าวแยก                         ยลสยบ

                        เอนพระองค์ลงทบ                      ท่าวดิ้น

                        เหนือคอคชซอนซบ                    สังเวช

                        วายชีวาตม์สุดสิ้น                        สู่ฟ้าเสวยสวรรค์

คำโคลงจากวรรณคดีเรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย บทนี้คงทำให้หลายคนนึกถึงพระแสงของ้าวที่สมเด็จ พระนเรศวร ทรงเงื้อง่าปลิดพระชนมชีพของพระมหาอุปราชาในการทำสงครามยุทธหัตถีเมื่อสี่ร้อยกว่าปีก่อน ชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรนอกจากจะหมายถึงเอกราชของกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยังทรงได้รับการถวายพระเกียรติว่าทรงเป็นระมหากษัตริย์ผู้สร้างตำนานแห่ง “เอกราช” มาจนถึงทุกวันนี้

แม้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ พระองค์ดำ จะเจริญพระชันษาขึ้นในยามที่กรุงศรีอยุธยาตกเป็นรองกรุงหงสาวดี เมื่อถูกพระเจ้าบุเรงนองขอตัวไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม พระองค์ดำจึงจำใจขึ้นหลังม้าจากลาดินแดนอยุธยาอันเป็นที่รักในขณะที่พระองค์มีพระชันษาเพียง 8 พรรษาเท่านั้น

สมเด็จพระนเรศวรทรงอดทนใช้ชีวิตอยู่ที่หงสาวดีเป็นเวลาหลายปี สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชซึ่งเป็นพระราชบิดาจึงมีพระราชสาส์นขอตัวสมเด็จพระนเรศวรกลับมาช่วยราชการที่กรุงศรีอยุธยา การกลับอยุธยาของสมเด็จพระนเรศวรในครั้งนั้นมีข้อแลกเปลี่ยนคือ พระพี่นางสุพรรณกัลยาต้องยอมเป็นพระชายาของพระเจ้าบุเรงนองอยู่ที่กรุงหงสาวดี

สมเด็จพระนเรศวรทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาให้ฟื้นจากพิษสงคราม ปราบศึกน้อยใหญ่ที่โจมตีกรุงศรีอยุธยาอย่างองอาจห้าวหาญ เกียรติยศทางการยุทธ์ของพระองค์เลื่องลือกำจรกำจาย ชาวประชาที่เคยแตกฉานซ่านเซ็นหนีภัยสงครามต่างกลับคืนบ้านเกิดเมืองนอน การ “กลับบ้าน” ของสมเด็จพระนเรศวรครั้งนั้นจึงหมายถึงการคืนชีวิตให้ดินแดนอยุธยาที่เคยรกร้างเพราะศึกสงคราม

แต่ข่าวความเป็นปึกแผ่นของกรุงศรีอยุธยากลับทำให้พระเจ้านันทบุเรงซึ่งขึ้นครองเมืองต่อจากพระเจ้าบุเรงนองคิดวางแผนกำจัดสมเด็จพระนเรศวร เมื่อพระองค์ทรงทราบ ไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยาและหงสาวดีจึงขาดสะบั้นลง สมเด็จพระนเรศวรตัดสินพระทัยยกทัพไปยังหงสาวดีเพื่อพาชาวอยุธยาหนีทหารพม่ากลับคืนกรุงศรีอยุธยา

ขณะที่ทรงม้าข้ามแม่น้ำสะโตงอันกว้างใหญ่เกินกว่าวิถีของกระสุน พระองค์กลับทรงยิงพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงปลิดชีพแม่ทัพชาวพม่าล้มแดดิ้นลง บรรดาทหารพลรบต่างตื่นตะลึงต่อกฤดาภินิหารครั้งนั้น ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรเองก็ทรงรับรู้สัญญาณแห่งความเป็นไทจากพระแสงปืนกระบอกนั้นด้วยเช่นกัน

พระนเรศวร
ภาพ : aco.psru.ac.th

แสนยานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรทำให้พระเจ้านันทบุเรงเร่งจัดพลครั้งใหญ่มาปราบกรุงศรีอยุธยา โดยมีมังกะยอชวาผู้เป็นพระมหาอุปราชาเป็นผู้นำในการศึกครั้งนั้น พระยาไชยานุภาพช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรเกิดตกมันและวิ่งเข้าไปอยู่ในวงล้อมของข้าศึก

อาจเป็นด้วยความที่สมเด็จพระนเรศวรเคยทรงฝึกเจริญวิปัสสนากรรมฐานจากพระมหาเถรคันฉ่องมาอย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้พระองค์ทรงมีกำลังพระสติที่ว่องไวและทรงมีจิตใจที่หนักแน่น แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์คับขันหมิ่นเหม่จะถูกระดมยิงได้ทุกเมื่อ สมเด็จพระนเรศวรก็มิได้ทรงหวาดกลัว พระองค์ยังคงหยัดยืนต้านศึกด้วยพระสติ และตัดสินพระทัยประกาศท้าพระมหาอุปราชาเพื่อทำยุทธหัตถี ซึ่งนอกจากจะเป็นการตัดสินแพ้ชนะอย่างชายชาติทหารแล้ว ยังถือเป็นพระเกียรติยศที่จะได้ฝากไว้บนผืนแผ่นดินอีกด้วย

รางวัลแห่งชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรในการสงครามยุทธหัตถีในวันนั้น ก็คือผืนแผ่นดินที่คนไทยเราได้อยู่อาศัย

แม้ว่า “สงครามยุทธหัตถี” จะล่วงเลยไปสักกี่ร้อยกี่พันปี แต่แบบอย่างของ “ความเสียสละ ความกล้าหาญ และความจงรักภักดี” ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีต่อชาติบ้านเมืองยังคงมีคุณค่าและความหมายที่ยิ่งใหญ่ต่อหัวใจของคนไทยเสมอ

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  อิสระพร บวรเกิด

Image by Free-Photos from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ตามรอยพ่อ ณ โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ

เปิดตํานาน “พระเจ้าตนหลวง” พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในล้านนา

ชวนไปส่องภาพจิตรกรรมโบราณสมัยอยุธยาตอนปลายที่ วัดไชยทิศ

“บุโรพุทโธแห่งสยามประเทศ” วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) จังหวัดร้อยเอ็ด

ศาลาธรรม ศาลาแห่งความสงบ เน้นความเรียบง่าย ในจังหวัดปทุมธานี

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก วัดแห่งมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙

สักการะพระปางอัฏฐมีบูชา วัดอินทาราม สันติสถานแห่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สุจริตธรรม (ธรรมแห่งการประพฤติดี) คือหนทางแห่งความสุขที่แท้จริง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.