เบื่องาน

เคล็ดลับแก้อาการ ” เบื่องาน เบื่อออฟฟิศ “

เคล็ดลับแก้อาการ ” เบื่องาน เบื่อออฟฟิศ “

เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึก เบื่องาน แต่มีน้อยคนนักที่กล้าปฏิเสธว่าเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไม่ใช่การทำงาน เพราะ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนึ่งวันเราต้องให้เวลากับการทำงาน 7 – 8 ชั่วโมง คิดเป็น 1 ใน 3 ของชีวิตประจำวัน…แต่จะทำอย่างไรดีล่ะ เพียงแค่นึกว่าจะต้องไปทำงานก็หมดแรงเสียแล้ว

Secret จะพาคุณไปแก้ไขให้ถูกจุดกัน…

 

เบื่องานที่ทำ

หากงานที่กำลังทำอยู่ทำให้คุณเกิดความรู้สึกว่ายุ่งเหยิง งานหนักเกินไป มีแต่คนมอบหมายงานให้มากมายเหลือเกิน และทุกคนต่างตั้งความหวังว่างานของคุณจะต้องออกมาดี ทำให้คุณมีความกดดันสูงและไม่มีความสุขในการทำงาน

วิธีแก้ไข

ลองปรับทัศนคติด้วยการมองมุมกลับว่านี่เป็นบททดสอบและเป็นประสบการณ์ที่ดีในการทำงาน หัวหน้าคงจะเล็งเห็นศักยภาพในตัวคุณว่าสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ประสบความสำเร็จได้ แต่หากคุณยังรู้สึกว่าหนักหนาอยู่ ก็ลองขอคำปรึกษาจากรุ่นพี่หรือผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า เขาอาจแสดงความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับคุณได้

จำไว้ว่า คุณไม่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ลุล่วง สิ่งที่คุณควรทำคือ พยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ตามความสามารถที่คุณพอจะทำได้ หากไม่ไหวจริงๆ ก็อย่าไปฝืนควรบอกให้หัวหน้ารู้ถึงภาระความรับผิดชอบที่มากมายของคุณเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันจะดีกว่า

 

เบื่อระบบและบริษัท

ระบบงานของบริษัทไม่ดี ซ้ำซ้อน เชื่องช้า หลายขั้นตอน มีแต่เอกสาร มีแต่การประชุม ขาดความร่วมมือและประสานงานระหว่างฝ่าย บริษัทให้เงินเดือนน้อยกว่าและสวัสดิการน้อยกว่าที่อื่น แต่ใช้งาน (เกิน) คุ้ม!

วิธีแก้ไข

ถ้าระบบงานของบริษัทไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอและคุณรู้วิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้น คุณอาจลองปรับเปลี่ยนระบบการทำงานด้วยตัวเองก่อนว่า ทำเช่นนั้นแล้วได้ผลดีขึ้นหรือไม่ จากนั้นจึงนำเสนอเจ้านายดู อาจเกิดเป็นนวัตกรรมของระบบงาน หรืออย่างน้อยเจ้านายจะได้ทราบปัญหาของระบบงานมากยิ่งขึ้น

อีกอย่างคือ ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา หากคุณเป็นเจ้าของบริษัทซึ่งต้องแบกรับภาระหลายๆ ด้าน คุณก็คงต้องวางนโยบายในเรื่องต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ (โดยเฉพาะเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการ) เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย  และเพื่อคงไว้ซึ่งเสถียรภาพอันมั่นคงของบริษัท

อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือ คุณต้องหมั่นเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาตนเองและเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้แก่ตนเองอยู่เสมอ ในอนาคตบริษัทอาจมองเห็นศักยภาพของคุณและโยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่ง พร้อมทั้งปรับขึ้นเงินเดือนให้ การพัฒนาตนเองให้มีความรู้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยก็จะเป็นต้นทุนให้แก่คุณ หากคุณต้องการจะเปลี่ยนงานใหม่ในอนาคต

 

เบื่อเจ้านาย ลูกน้อง และเพื่อนร่วมงาน

  >>เจ้านายเข้มงวดเกินไป ไม่มีความยุติธรรม อ่อนแอเกินไป ไม่มีความเป็นผู้นำ

วิธีแก้ไข

รู้จักปรับตัวให้เข้ากับเจ้านาย เช่น หากเจ้านายเป็นคนเจ้าระเบียบ จู้จี้จุกจิก คุณก็ควรทำงานให้เป็นระบบ ละเอียดรอบคอบ และเรียบร้อย แต่หากเจ้านายเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ อ่อนแอ หรือยังใหม่ในการทำงาน คุณก็ควรศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะได้ช่วยเสนอแนะทางเลือกใหม่ๆ ให้แก่เจ้านาย เขาจะได้คิดและตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและรัดกุมขึ้น วิธีการเหล่านี้น่าจะง่ายกว่ารอให้เจ้านายปรับตัวเข้าหาคุณ

>>ลูกน้องไม่ขยันทำงาน ไม่ตั้งใจทำงานให้เต็มที่ ตักเตือนก็แล้ว ลงโทษก็แล้วแต่ก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย ไม่ปรับปรุงตัวเอง

วิธีแก้ไข

รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ในกรณีเช่นนี้คุณอาจต้องย้อนกลับมามองตัวคุณเองว่าแข็งเกินไปหรือเปล่า อ่อนเกินไปหรือเปล่า คุณต้องรู้จักสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ยอมรับฟังปัญหา ให้ความช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับลูกน้องให้การยอมรับ มองเห็นและเข้าใจในตัวตนของลูกน้องแต่ละคน “เต็มที่” กับลูกน้อง แล้วลูกน้องจะ “เต็มที่” กับคุณเช่นกัน

>>เพื่อนร่วมงานไม่น่าคบหา ชอบแทงข้างหลัง เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คุณ

วิธีแก้ไข

เพิกเฉยและให้อภัยเพื่อนร่วมงานประเภทนี้ บางทีจิตอันเป็นกุศลของคุณจะดลบันดาลให้เขาเลิกวุ่นวายกับคุณ กลับเนื้อกลับตัวได้ และจำไว้ว่า ยิ่งต่อสู้คุณก็จะยิ่งเป็นทุกข์ เสียเวลาทำงานของคุณอีกต่างหาก

 

เบื่อตัวเอง

คุณอาจมีปัญหาเข้ามารุมเร้า ทั้งเรื่องครอบครัว การเงิน เพื่อน ความรัก หรืออาจสับสนกับเป้าหมายชีวิตของตัวเองจนเกิดอาการข้างเคียงพานลามมาถึงเรื่องงาน ทำให้รู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวังกับทุกสิ่ง และไม่มีเรี่ยวแรงจะทำงานในแต่ละวัน

วิธีแก้ไข

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณจะเบื่อตัวเอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ.วนิทรา นวลละออง แพทย์ด้านจิตวิทยากล่าวว่า “…สิ่งที่พบมากและเป็นปัญหามากที่สุดด้านสุขภาพจิตในการทำงานคือ ความเครียดของบุคลากรเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว…”

สิ่งที่คุณควรทำคือ ตั้งสติ ลำดับความคิด แยกปัญหาแต่ละปัญหาออกจากกันแล้วทยอยแก้ทีละปัญหา ไม่ควรนำปัญหาส่วนตัวมาปะปนกับเรื่องงาน เพราะจะทำให้ปัญหาเรื่องงานที่ว่าหนักอยู่แล้ว เพิ่มดีกรีความหนักหนาสาหัสขึ้นอีกหลายเท่ากลายเป็นเสียหายทั้งสองเรื่อง

เชื่อเถอะว่าหากคุณรู้จักปรับทัศนคติ มองด้านบวก มีความอดทน และใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา ทุกความเบื่อจะสูญสลายหายไปเองในที่สุด

ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต

ภาพ : https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ

 รู้ทันสันดานคน  ด้วยจริต 6 ผลงานของทันตแพทย์สม สุจีราอีกเล่มที่น่าอ่าน

9 เทคนิค การทำงานกับคนต่างวัย ร่วมงานกันได้แบบไม่ต้องทะเลาะ

เคล็ดลับจัดการ เพื่อนร่วมงานนิสัยไม่ดี  น่ายี้ ทั้ง 5 สไตล์

แก้ไขปัญหาเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ธรรมะจากท่านว.วชิรเมธี

การรับมือกับความทุกข์ของคนโดนไล่ออกจากงาน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.