ดร.พลเดช วรฉัตร

“ยึกยือ” ศิลปะภาวนาพัฒนาจิต ดร.พลเดช วรฉัตร

Alternative Textaccount_circle
event
ดร.พลเดช วรฉัตร
ดร.พลเดช วรฉัตร

“ยึกยือ” ศิลปะภาวนาพัฒนาจิต ดร.พลเดช วรฉัตร

ดร.พลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ที่ใช้เวลาหลังวัยเกษียณกับการภาวนาด้วยงานศิลปะที่ตนเองค้นพบ ลายเส้นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความงามของทะเลมัลดีฟส์ ซึ่งท่านเรียกว่า “ยึกยือ” งานศิลปะนี้ช่วยให้ผู้วาดพัฒนาจิตได้อย่างไร

 

การปฏิบัติธรรมคือเครื่องมือพัฒนาจิต

การพัฒนาจิตต้องรู้วิธีการเหมือนกับเราเรียนวิทยาศาสตร์ คือต้องมีเครื่องมือและวิธีการแต่ที่เป็นอยู่คือการปฏิบัติธรรม เช่น นั่งสมาธิ หรือวิปัสสนา บางทีเป็นเรื่องยากและหลายคนเข้าใจผิดว่าการปฏิบัติธรรมต้องเข้าวัดไปนั่งสมาธิหลับตา ที่จริงแล้วการปฏิบัติธรรมคือการพัฒนาจิต เป็นการปฏิบัติกับจิต ก็มักจะนั่งสมาธิเพราะเห็นพระพุทธรูปอยู่ในท่านั่งมากที่สุดก็จริงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็อยู่ในท่านั่ง แต่ที่จริงแล้วพระพุทธรูปในท่าเดิน ท่ายืน ท่านอนมีไหม ก็มี ดังนั้นไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ล้วนทำสมาธิได้หมด การปฏิบัติธรรมจริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องไปวัดอย่างเดียวเท่านั้นเพราะเราปฏิบัติที่ใจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถสอดแทรกในชีวิตประจำวันได้เสมอ

 

 

บวชที่ใจ

ครั้งหนึ่งผมเคยนึกเกลียดความทุกข์ เกลียดกิเลส มองว่าเป็นความไม่ดีของมนุษย์ เคยคิดจะบวช ถ้าไม่เจอวิปัสสนาก็คงจะบวชไปแล้ว ตอนนั้นคิดว่าจะหนีความทุกข์ หนีภัยสังคม ไปบวชดีกว่า แต่ก็พบว่าชีวิตของพระก็มีความทุกข์ มีกิเลสแบบพระไม่ต่างจากฆราวาส พอได้ฝึกวิปัสสนาทำให้มีสติรู้ว่าทุกอย่างอยู่ที่ใจ จะอยู่ในสถานะใดก็ทำตรงนั้นให้ดีด้วยสติได้ ก่อนหน้านั้นเคยตระเวนไปศึกษาและอ่านเรื่องพลังจิต ไปแสวงหาอาจารย์จากที่ต่าง ๆ ทั้งทางภาคเหนือและอีสาน เช่น หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หลวงพ่อวัดถ้ำเสือ เป็นต้น จนมาสุดท้าย เราก็ยังหาคำตอบให้ใจไม่ได้ จนได้มีโอกาสเจอคุณแม่สิริ กรินชัยที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ จึงได้รู้ว่าไม่จำเป็นต้องไปบวช แต่มันอยู่ที่ใจ อยู่ที่สติ ถ้ามีสติไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ จึงเลิกความคิดที่จะบวช

 

ใจคือภาชนะ

ทุกวันนี้ผมปฏิบัติด้วยการกำหนดอิริยาบถเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ด้วยความที่ผมมีสมาธิเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงมุ่งฝึกสติ กำหนดรู้ทุกอิริยาบถ ถ้าเราไม่มีสติอาจถูกหลอกได้ง่าย สติจะมีขึ้นได้ต่อเมื่อเราพัฒนาสมาธิให้มั่นคงก่อนแล้วกำหนดสติให้ว่องไว อันนี้สำคัญมาก เราสามารถกำหนดสติได้ตลอดในชีวิตประจำวัน ก็จะเป็นเหมือนพลังบวกที่เราคว้ามาเก็บสะสมได้ตลอด นอกจากนั้น ใจเป็นนามธรรมจึงมองไม่ค่อยเห็น แต่ถ้าจะเปรียบให้เป็นรูปธรรมก็เป็นเหมือนภาชนะ อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดก็เหมือนอาหารที่ใส่บนภาชนะ เช่น ถ้าใจเป็นจานชาม เวลาเราจะทานอาหาร ก็เอาอาหารใส่จานชามนี้ เราใช้กันทุกวันโดยไม่รู้เลยว่ามีลักษณะเป็นภาชนะ ลองคิดดูว่าถ้าเราใช้ภาชนะทุกวัน ๆ โดยไม่เคยล้าง มันจะสกปรกเพียงใด สิ่งนี้คือสิ่งที่คนเรามักไม่เคยคิด ถ้าเป็นจานชามเรายังต้องล้างทำความสะอาดทุกครั้ง การทำความสะอาดใจก็ต้องทำเช่นกันคือการนั่งสมาธิเจริญสติในทุก ๆ วัน  ถ้าเรารู้และทำได้ก็จะดีมาก

 

 

“ยึกยือ” ศิลปะภาวนาที่เรียกใจมาอยู่กับปัจจุบันขณะ

การกำหนดอิริยาบถคือการรู้ตัวในปัจจุบันขณะว่าเรากำลังทำอะไรอยู่  เช่น เวลาเราตื่นนอนขึ้นมา เรามีความปรารถนาสิ่งนั้นสิ่งนี้ ตลอดเวลาแต่หารู้ไม่ว่ามันคือการส่งใจให้ล่อยลอยไปในอดีตบ้างและอนาคตบ้าง ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันขณะเลย จริงๆ แล้วปัจจุบันขณะมีความสำคัญมาก ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไม่ว่าจะยุบหนอพองหนอ หรือเดินจงกรมก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ปัจจุบันขณะนี่เอง และเผอิญศิลปะยึกยือที่ผมค้นพบก็เป็นการเอาธรรมะและศิลปะมาผสมผสานกัน ซึ่งวิธีการวาดลายเส้นแบบยึกยือเป็นการพัฒนาสมาธิและสติเพื่อให้เห็นปัจจุบันขณะได้เหมือนกับการปฏิบัติธรรม

ผมเคยนำผลงานศิลปะยึกยือไปออกบูธกับกระทรวงการต่างประเทศที่ชุนชนวัดสวนเงิน ซึ่งเป็นกิจรรมเพื่อสังคมของกระทรวงฯ ในงานนั้น ท่านรัฐมนตรีฯ ดอน ปรมัตถ์วินัยได้แวะเยี่ยมตามบูธต่างๆ รวมทั้งที่บูธศิลปะยึกยือขอผมด้วย ท่านเลยได้รับฟังความเป็นมาและวิธีการวาดศิลปะยึกยือ ซึ่งท่านชื่นชมว่าเป็นการนำเอาสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเห็นว่าควรจะเผยแพร่ศิลปะนี้ ท่านจึงกรุณาสนับสนุนให้จัดนิทรรศการขึ้นที่กระทรวงการต่างประเทศ ในหัวข้อ“ศิลปะยึกยือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับความสำเร็จอย่างดียิ่งมีคณะทูตต่างประเทศในไทยมาร่วมงานกันมากมาย แล้วผมได้เปิดสอนศิลปะยึกยือที่ห้องสมุดของกระทรวงการต่างประเทศมานานเป็นเวลาเกือบสองปีแล้ว โดยสอนทุกวันพฤหัสบดีที่ 3 ของทุกเดือน เวลา 13.00-14.30 น. คนข้างนอกก็สามารถเข้ามาเรียนได้ แต่ลูกศิษย์ส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการและอดีตข้าราชการประจำกระทรวงฯ ซึ่งปัจจุบันได้รวมตัวกันเป็น “กลุ่มศิลปะยึกยือ กต.”

 

ภาพจาก www.bangkokbiznews.com

 

จากลายผิวน้ำทะเลมัลดีฟส์สู่ศิลปะยึกยือ

เมื่อ 6 ปีที่แล้วผมเป็นทูตไทยที่ศรีลังกาและมัลดีฟส์ ตอนนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเยือนศรีลังกาและมัลดีฟส์จึงได้มีโอกาสถวายงานพระองค์ และไปมัลดิฟส์บ่อยมากเพราะต้องไปดูแลคนไทยที่มัลดีฟส์ด้วย ได้เห็นทะเลมัลดีฟส์ซึ่งทะเลและหาดทรายที่นั่นสวยงามมาก ไม่เหมือนทะเลที่ใดในโลกเพราะไม่ได้เป็นทรายสีเหลืองเหมือนที่บ้านเรา แต่เป็นทรายสีขาวมาจากการทับถมของปะการังจนโผล่มาเป็นเกาะเล็ก ๆ และด้วยความงามของน้ำทะเลมัลดิฟส์ที่ใสราวกับน้ำในสระน้ำ เมื่อมีแสงกระทบผิวน้ำก็จะเป็นประกายระยิบระยับสวยงามติดตาติดใจมาก เมื่อผมกลับมาที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาก็พยายามนึกถึงความงามของทะเลดังกล่าว จึงเอาปากกาลูกลื่นสีดำมาวง ๆ เป็นลายผิวน้ำบนกระดาษ

 

ภาพจาก ดร.พลเดช วรฉัตร

 

ตอนที่วาดแรก ๆ ก็ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นเส้นวงแบบนี้ เพียงแต่ต้องการจะสื่อถึงลายผิวน้ำที่มันระยิบระยับของมัลดิฟส์ที่อยู่ในใจ พอเอาปากกาลูกลื่นมาวงไปวงมาก็เลยกลายเป็นภาพแบบนี้ขึ้นมา ส่วนรูปเกาะของมัลดีฟส์ก็วง ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจจะเป็นเส้นแบบนี้ตั้งแต่แรกเช่นกัน พอวาดเสร็จแล้วพบว่าการวาดภาพด้วยเส้นโดยไม่ยกปากกาทำให้มีสมาธิและสติอยู่กับปัจจุบันขณะ รู้ว่ารูปกับนามมันแยกจากกันอย่างไร มือกับตาและใจต้องจดจ่ออยู่กับเส้นและปากกา มันไม่ต่างจากการปฏิบัติธรรมเลยคิดว่าลายเส้นแบบนี้น่าจะทำงานศิลปะและฝึกพัฒนาจิตได้ จึงลองวาดเส้นแบบนี้เป็นรูปอย่างอื่นมากขึ้น ผมพบว่าเป็นงานศิลปะที่ไม่เห็นมีใครทำมาก่อน ได้ค้นในอินเตอร์เน็ตแล้วก็ยังไม่เจองานศิลปะแบบนี้เลย เมื่อพิจารณาดูแล้วมันเหมือนกับลายปักผ้าแต่เป็นการเอาปากกาลากไปบนกระดาษแทน เลยคิดว่าจะตั้งชื่อภาพแบบนี้ว่าอะไร พอสังเกตอีกครั้งเลยตั้งชื่อว่า “ศิลปะยึกยือ” คืออาการของมือที่ลากเส้น ซึ่งคำนี้ในพจนานุกรมให้ความหมายว่า ลายเส้นที่มันไม่เป็นระเบียบ วกไปวกมา วนไปวนมา ความหมายก็ตรงกับลักษณะของลายเส้นนี้พอดี และในเวลานั้นไม่มีคำว่าศิลปะยึกยือ จึงถือว่าผมเป็นคนแรกที่ใช้คำนี้

เมื่อวาดภาพด้วยเส้นแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เห็นว่าช่วยให้เกิดสมาธิและสติจดจ่อได้จริง ๆ และบังเอิญมีประชุมปฏิบัติการของลูกเสือโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกที่ไต้หวัน จึงเอาศิลปะยึกยือไปสอนด้วย ปรากฏว่าลูกเสือไต้หวันชอบกันมากและมีการนำเอาศิลปะนี้ไปสอนกันต่อรวมทั้งในหมู่ลูกเสือญี่ปุ่น ทุกวันนี้ได้มีโอกาสสอนในโอกาสต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย

 

ภาพจาก https://younghappy.com

 

คนที่จะฝึกวาดศิลปะยึกยือได้ต้องเป็นคนที่มีวินัยเป็นสำคัญเช่นเดียวกับการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ  หลายคนเรียนไม่ไหวเพราะมันละเอียดและใจต้องนิ่งมาก การสอนศิลปะยึกยือถือว่าเป็นการสอนที่สอดแทรกธรรมะไปด้วย เช่น ตอนไปสอนเด็ก  ๆ ผมเอารูปน้ำตกให้ดู และถามเขาว่า มีก้อนหินกี่ก้อน เด็ก ๆ ตอบว่า นับไม่ได้ ก้อนหินเยอะไปหมด ผมก็จะบอกเด็ก ๆ ว่า ก้อนหินทุกก้อนเราต้องวาดเองทั้งหมดเลยตั้งแต่ก้อนแรกจนถึงก้อนสุดท้าย จะสะท้อนให้เด็ก ๆ เห็นว่าก็เหมือนกับชีวิต การจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จต้องเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อน และในชีวิตก็ไม่มีอะไรเลยที่ไม่สำคัญ ทุกสิ่งไม่ว่าเล็กน้อยหรือใหญ่ล้วนสำคัญหมด ถ้าเราอยากทำให้สำเร็จ ต้องลองเริ่มจากจุดเล็ก ๆ แต่จะเริ่มจากตรงไหนต้องคิดก่อน อันนี้จึงเป็นการฝึกให้มีการวางแผน ซึ่งเป็นประโยชน์ของผู้วาด

 

ภาพจาก ดร.พลเดช วรฉัตร

 

ส่วนการวาดศิลปะยึกยือช่วยฝึกสติได้ดีนั้นก็ชัดเจน เพราะปากกาที่ใช้มีขนาดเพียง 0.5 ซึ่งเล็กมาก เหมือนกับการปักเข็มลงบนผืนผ้าทำให้เราต้องตั้งใจมาก และสุดท้ายยังเป็นการฝึกจินตนาการที่ดี ว่าเราใช้เส้นยึกยือซึ่งมีสองแบบและก้อนหินเป็นองค์ประกอบนี้วาดเป็นรูปอะไรได้บ้าง  สุดท้ายเป็นการฝึกความอดทนเพราะกว่าจะวาดเสร็จต้องใช้เวลามากโดยเฉพาะก้อนหินซึ่งบางภาพมีนับร้อยและหลาย ๆ ร้อยก้อน ศิลปะยึกยือจึงไม่ใช่แค่การวาดภาพ  แต่เป็นกระบวนการพัฒนาจิตของผู้วาด ซึ่งด้วยเครื่องมือและวีธีการทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้โดยปริยาย หากลายเส้นนิ่งแสดงว่าจิตข้างในของผู้วาดนิ่งเพราะข้างในกับข้างนอกต้องตรงกัน เส้นที่ปรากฏบนกระดาษคือสภาวะของจิตข้างในนั่นเอง

 

 

ยิ่งวาดยิ่งเห็นตัวเอง

การวาดภาพแบบนี้ไม่ต่างจากการกำหนดยุบหนอพองหนอหรือเดินจงกรม ทำให้เราเห็นตัวเรา รู้ใจตัวเองในตอนนั้นว่าใจไม่นิ่ง ใจร้อน หรือใจนิ่ง ลูกศิษย์บางคนเป็นคนวัยเกษียณบอกผมว่า ศิลปะยึกยือทำให้เขาเห็นตัวเองชัดเจน สิ่งนี้คือการฝึก ศิลปะภาวนาที่เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้วาดรู้จักตัวเองได้ดี ถ้าวาดจนชำนาญจะยิ่งวาดได้ละเอียดขึ้นเรื่อย ๆ และแสดงว่าเราสามารถควบคุมบริหารจิตได้ดี ผมบอกกับลูกศิษย์เสมอว่าชีวิตที่ควบคุมจิตไม่ได้เป็นชีวิตที่มีปัญหาอย่างแน่นอน

การวาดรูปนี้จึงเป็นการฝึกควบคุมจิตอย่างหนึ่ง ทั้งยังได้ความสุขและผลงานทางศิลปะ ด้วยมีหลายครั้งที่เด็ก ๆ เมื่อเรียนแล้วเอาภาพกลับไปให้พ่อแม่ที่บ้านชม พ่อแม่ก็ตกใจกันใหญ่ ไม่คิดว่าลูกฉันจะวาดได้อย่างนี้เลยเหรอ (ลายเส้นละเอียด) เด็ก ๆ ก็ภูมิใจและตื่นตัวกับการเรียนทุกครั้ง มีครั้งหนึ่งที่ดีใจมากเมื่อทราบว่าเด็ก ๆ ที่เคยเรียนกับผมได้นำความรู้นี้ไปสอนเพื่อน ๆ ในห้องต่อ ถือว่าเป็นการต่อยอดที่ดีมาก จริง ๆ แล้วถ้าเด็ก ๆ ได้ทำในสิ่งที่สนุกและชอบ จะทำให้พัฒนาจิตและจินตนาการได้ดี

ศิลปะภาวนานี้ นอกจากช่วยพัฒนาจิตแล้ว ยังทำให้ผู้วาดส่งต่อความรู้เรื่องการเจริญสติไปยังคนอื่นได้อีกด้วย

 

 

ผู้สนใจทดลองวาดได้ www.facebook.com/poldejwora หรือwww.facebook.com/poldej.yukyur

 

เรื่อง : ดร.พลเดช วรฉัตร

เรียบเรียง : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์

ภาพ : พีรพันธุ์ วิจิตรไกรวิน

สามารถส่งปัญหาธรรม หรือเรื่องราวดี ๆ สร้างแรงบันดาลใจมาได้ที่ >>> Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ 

ปฏิบัติธรรมอย่างไรไม่ให้ท้อใจ ธรรมะให้สติปัญญา โดย พระภาวนาเขมคุณ วิ. (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี)  

ทำบุญให้ดี ทำทีเดียวได้ครบทั้งทาน-ศีล-ภาวนา

จิตสงบด้วยการภาวนา “ พุท–โธ ” ธรรมะโดย ส. ชิโนรส (พระมหาสุภา ชิโนรโส)

เมธี จันทรา กับการภาวนาด้วยขลุ่ยเซน เพื่อไปสู่ความสงบจากข้างใน

รวมข้อสงสัย สำหรับมือใหม่หัด ภาวนา 

keyboard_arrow_up