เกมธรรมะ

บอร์ดเกมธรรมะ กลยุทธ์ให้คนรุ่นใหม่เข้าใจธรรมะ: พระปฏิพล ภูมิเมโธ

บอร์ด เกมธรรมะ กลยุทธ์ให้คนรุ่นใหม่เข้าใจธรรมะ: พระปฏิพล ภูมิเมโธ

หลายคนอาจสงสัยว่า เกมกับธรรมะไปด้วยกันได้หรือ วันนี้ซีเคร็ตพามารู้จักกลุ่มพระอาจารย์วัดญาณเวศกวันที่คิด บอร์ด เกมธรรมะ ขึ้น เพื่อให้คนรุ่นใหม่ไม่มองธรรมะเป็นเรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป โดยมี พระปฏิพล ภูมิเมโธ หรือท่านบิ๊ก เป็นตัวแทนบอกเล่าความเป็นมา

 

จุดเริ่มต้นของการคิดบอร์ดเกมธรรมะ

“ พระอาจารย์วัดญาณเวศกวัน 3-4 รูปได้รับนิมนต์ให้ไปสอนนักศึกษาแพทย์แผนไทยประยุกต์ ชั้นปีที่สอง มหาวิทยาลัยมหิดล ในวิชาความสุขในชีวิตและการทำงาน เมื่อใส่เนื้อหาธรรมะเข้าไป พบปัญหาว่านักศึกษาเข้าไม่ถึงในสิ่งที่พระอาจารย์สอน สังเกตได้จากนักศึกษาเบื่อง่าย ไม่ฟังจึงพยายามหาวิธีว่าทำอย่างไรดีให้นักศึกษาสนใจ จนมีอยู่คาบหนึ่งเป็นเรื่องการเงิน ซึ่งต้องแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนหนึ่งเป็นพระสอน อีกส่วนเป็นวิทยากรพิเศษหรือโค้ชมันนี่สอน ถึงแม้มืออาชีพมาสอนนักศึกษาก็ยังไม่เข้าใจเรื่องของการเงินอยู่ดี

“ จากนั้นพระกับโค้ชและทีมอาจารย์ก็ประชุมกันว่าจะปรับวิธีการสอนอย่างไรให้นักศึกษาเข้าใจเรื่องการใช้จ่ายเงินมากขึ้น โค้ชมันนี่แนะนำว่าลองเอาบอร์ดเกมมาให้นักศึกษาลองเล่นดูไหม เผื่อจะเข้าใจการใช้จ่ายเงินมากขึ้น ปรากฏว่าบอร์ดเกมที่นำมาใช้มีความขัดแย้งกับคำสอนในพระพุทธศาสนา เพราะมีความเป็นทุนนิยมมาก ทางพระอาจารย์ต้องการให้นักศึกษาเข้าใจว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต เงินเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น จึงนำบอร์ดเกมมาประยุกต์โดยแฝงธรรมะเข้าไป อย่างเกมแรกคือ Game of Life’เกมนี้เราต้องการให้ผู้เล่นเห็นถึงการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หลังจากออกแบบเกมเรียบร้อยแล้วก็นำเกมไปใช้สอนนักศึกษาปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก

“ วิชานี้จะสอนนักศึกษาคาบละ 5 ชั่วโมง ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน นักศึกษาต้องทนฟังการบรรยายธรรม น่าเบื่อ แต่พอนำเกมนี้มาให้เล่น ปรากฏว่าเวลา 5 ชั่วโมงกลับน้อยไปเสียแล้ว นักศึกษาขอเพิ่มเวลาอยากเล่นต่อจากนั้นกลุ่มพระอาจารย์ก็เริ่มคิดเกมต่อมาอีก 2 เกม และทั้ง 3 เกมนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)

 

 

มีเสียงตอบรับจากผู้เล่นอย่างไรบ้าง

Game of Life จำลองเหตุการณ์ในชีวิตจริงของคนเรา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกม ก็เป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้จริงกับผู้เล่น และตอนจบของเกมคือเหตุการณ์จำลองวันสุดท้ายของเรา จึงมีหลายคนถามว่า ‘เราจะบริหารชีวิตอย่างไรไม่ให้ผิดพลาดเหมือนในเกม’ เพราะเกมจะทำให้บางคนรู้สึกว่าตัวเองมีเงินมาก และใช้เงินซื้อในสิ่งที่อยากได้ แต่พอผ่านมาถึงสถานการณ์บังคับเขาจะต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าช่วยงานศพ ค่าสงเคราะห์ญาติ และที่รุนแรงกว่านั้นคือค่ารักษาพยาบาลมะเร็งระยะสุดท้ายของตนเองก็มี ซึ่งผู้เล่นไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเราจะเป็นอะไรในด่านต่อไป เพราะเขาไม่ได้วางแผนเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ผู้เล่นจะฉุกคิดได้ว่า ‘เราจะใช้ชีวิตอยู่บนความประมาทแบบนี้ไม่ได้แล้ว’ ซึ่งเกมนี้ได้สะท้อนให้เห็นเส้นทางชีวิตของเขาด้วยเหมือนกัน  ”

 

เกมจำลองให้เห็นชีวิตจริงอย่างนี้ ผู้เล่นจะไม่รู้สึกหดหู่หรือ

อาตมามองว่า เกมเป็นแค่การจำลองเหตุการณ์ในชีวิตจริงเพื่อให้เรียนรู้เท่านั้น ให้เราเห็นทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งไม่ดี เป็นการเตือนสติให้เราเห็นว่าถ้าเราใช้ชีวิตอย่างไม่มีสติ จะเป็นเหมือนในเกม และมีโยมหลายคนที่เล่นไปแล้วบอกกับอาตมาว่า พวกเขามีเกมเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนสติ เวลาจะทำอะไรก็จะนึกถึงตอนเล่นเกมนั้นตลอดเลย  ”

 

 

ทราบว่ามีอีกหลายเกมที่ทางกลุ่มพระอาจารย์เป็นผู้คิด

นอกจาก Game of Life หรือ ‘เกมชีวิต’ แล้ว ยังมีเกมสงครามวัวชน สังคมโคบาลและ เกมหกทิศมิตรภาพ สองเกมนี้เกิดขึ้นหลังจากคิดเกมแรกสำเร็จแล้วเห็นว่ามันสามารถเข้าถึงผู้เล่นได้จริง มีค่ายนักศึกษานิมนต์ไปจัดกิจกรรมทุกปี ซึ่งพบว่าหัวข้อที่กลุ่มอาตมาสอนเรื่อง “สิงคาลกสูตร” ซึ่งเป็นพระสูตรพูดถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนรอบข้าง พบว่านักศึกษาที่มาร่วมกิจกรรมไม่เข้าใจ เลยคิดว่าน่าลองมาทำเป็นเกมดู เผื่อจะได้ผล แล้วก็แบ่งเป็นกลุ่มละ 3 รูป มาแข่งกันว่าเกมไหนจะได้เอาไปใช้สอนนักศึกษา ปรากฏว่ากลุ่มอาตมาคิดเกมสงครามวัวชนชนะ เหตุที่ใช้วัวเพราะวัวเป็นตัวแทนของจิต อย่างวัวขาวแทนจิตที่เป็นกุศล ส่วนวัวดำแทนจิตที่เป็นอกุศล เกมนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเกมบันไดงู เมื่อเอาเกมนี้ไปใช้สอน ปรากฏว่าได้ผลตอบรับดี ผู้เล่นจะเห็นตัวเองส่งวัวดำ (อกุศลจิต) วัวขาว (กุศลจิต) ออกมา ก็คือได้เห็นด้านดีและด้านไม่ดีของตนเองผ่านเกม และเกมนี้ยังสะท้อนได้หลายแง่มุม เพราะเราจะเห็นเลยว่าผู้เล่นแต่ละคนเป็นอย่างไร ” 

 

เกมสงครามวัวชนให้อะไรแก่ผู้เล่นบ้าง

“ เกมจะทำให้ผู้เล่นเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างอย่างไร แล้วสิ่งนั้นก็จะวนกลับมาหาเขาเช่นกัน ทำให้ผู้เล่นเห็นตัวเองมากขึ้น และกลับมาระมัดระวังการกระทำของตนเองมากขึ้น ถ้าผู้เล่นเห็นสิ่งเหล่านี้ก็เท่ากับเป็นการตอบโจทย์กลุ่มอาตมาแล้ว เพราะพวกเขาจะได้ธรรมะหลายเรื่อง เช่น อรรถะ 3, ละเว้นอคติ 4 , สังคหวัตถุ 4 , ละเว้นจากกิเลส และ ละเว้นอบายมุข

 

 

ระหว่างกลุ่มวัยทำงานกับกลุ่มวัยเรียน กลุ่มไหนได้ประโยชน์จากเกมนี้มากกว่ากัน

อันนี้กำหนดไม่ได้ อย่างวัยเรียนก็จะเห็นเรื่องของการกระทบกระทั่งกันระหว่างเขากับเพื่อน รวมถึงคนวัยทำงาน แม้ว่าผู้เล่นในวงนั้นจะรู้จักหรือไม่รู้จักกันก็ตาม เขาก็จะเห็นว่าเขาได้ใช้ชีวิตอย่างไร และตอนสุดท้ายของเกม พระจะชวนถอดบทเรียน แล้วเราก็จะมาวางแผนต่อว่าจะใช้ชีวิตกันอย่างไร 

 

แล้วเกมทิศหกมิตรภาพ มีจุดประสงค์อย่างไร

“ เกมนี้เกิดขึ้นมาจากการที่พระมหาธีรพงษ์ อุตตฺโมได้ไปสอนเด็กประถมศึกษาเรื่องทิศหก ซึ่งหลักธรรมนี้มีเนื้อหาเยอะมาก และบังเอิญนักเรียนต้องสอบเรื่องนี้ แต่นักเรียนจำได้ไม่หมด ท่านเลยออกแบบเกมนี้ขึ้นมาเพื่อให้นักเรียนได้สนุกกับการจำ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้เล่น พระอาจารย์ทดสอบมาทั้งเด็กเล็กเด็กโต รวมถึงผู้ใหญ่ด้วย ผลปรากฏว่าแม้แต่คนที่ไม่รู้จักทิศหก หรือไม่เคยเรียนมาก็สามารถเล่นและรู้จักทิศหกได้จากเกมนี้  ”

 

 

ท่านจะพัฒนาหรือคิดทำบอร์ดเกมธรรมะอื่นเพิ่มอีกหรือไม่

“ ปีหน้าเราจะมีเกมใหม่อีก เช่น เกมเที่ยวทั่วพระไตรปิฎก, เกมรมณีย์ (เกมนี้เกิดขึ้นจากการที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ ปยุตฺโต) เน้นย้ำเกี่ยวกับความเป็นรมณีย์ คือความร่มรื่น ความเป็นธรรมชาติ ให้มนุษย์เห็นคุณค่าของธรรมชาติ ต้นไม้ และสรรพสัตว์ ซึ่งปัจจุบันนี้เราได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมาก เช่น ฝุ่น PM 2.5 เกมนี้อาตมาคิดขึ้นมาเพื่อหวังให้เด็กและผู้ใหญ่เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติจะได้ช่วยกันดูแลรักษา)คิดว่าจะพัฒนาออกมาตามอายุผู้เล่น คือ เวอร์ชั่นสำหรับเด็ก และเวอร์ชั่นสำหรับผู้ใหญ่

“ เกมสงครามกาม เกมนี้ต้องการให้ผู้เล่นเห็นถึงพิษภัยของมารสามตนคือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดสงคราม และการทะเลาะวิวาทในสังคม อีกเกมที่คิดออกมาแล้ว แต่ยังทำไม่เสร็จคือ เกมกลเกมการเมือง เป็นการสะท้อนเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน เกมนี้จะจำลองผู้เล่นเป็นนักการเมือง โดยแบ่งเป็น 5 สี คือ 5 พรรคการเมือง จำลองว่าเรากำลังนำเสนอนโยบายและมีการโต้แย้งกัน ซึ่งเกมนี้จะทำให้เราเข้าใจนักการเมืองมากขึ้น และทำให้เห็นมุมมองของประชาชนที่ทั้งสนใจการเมือง และไม่สนใจการเมืองมากขึ้น แล้วเราทุกคนจะช่วยกันพัฒนาประเทศนี้ไปกันได้อย่างไร ”

 

เกมกลเกมการเมือง ผู้เล่นจะทะเลาะกันไหม เพราะผู้เล่นต่างมีทัศนคติเป็นของตนเอง

ก่อนเริ่มเกมเราจะบอกผู้เล่นให้ชัดเจนเลยว่า อย่าเอาความเป็นตัวเองมาใส่ไว้ในเกม บางครั้งผู้เล่นรู้จักกัน และขอความช่วยเหลือต่อกัน ‘พี่ต้องช่วยหนูนะ’‘พี่ต้องช่วยผมนะ’ เราในฐานะกระบวนกรก็จะบอกว่า เกมนี้ไม่มีใครเป็นพี่เป็นน้อง ทุกคนต้องถอดหัวโขนออกซึ่งเท่าที่ทดลองให้เล่นก็ยังไม่มีใครทะเลาะกัน ถึงผู้เล่นจะรู้จัก หรือไม่รู้จักกันก็ตาม พอเล่นเกมเสร็จ พระจะชวนผู้เล่นถอดเกมว่าเกมนี้ได้อะไร บางคนอาจเสนอความเห็นที่ค้างคาใจในตอนที่เล่น ซึ่งเราจะได้คลายข้อสงสัยของผู้เล่นกับผู้เล่นด้วยกันอีกด้วย

 

 

บอร์ดเกมธรรมะนี้คิดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสื่อธรรมะสำหรับนักเรียนและนักศึกษา ได้คิดจะเผยแผ่ไปให้กว้างกว่านี้หรือไม่

“ เราเปิดให้โยมที่มาวัดเข้ามาเล่นด้วย ซึ่งส่วนมากจะเป็นคนวัยกลางคนขึ้นไป แต่พอเราประกาศออกไปทางช่องทางต่าง ๆ  ก็มีวัยรุ่นและวัยทำงานต้น ๆ สนใจเข้ามาเล่นเกมนี้กันมากขึ้น และมีไปจัดกิจกรรมนอกสถานที่ก็มี เช่นที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ทางหอจดหมายเหตุขอจัดกิจกรรมเกม ทางเราก็จัดทีมกระบวนกรไปให้  ”

 

พระเล่นเกมไม่ได้ ทำไมจึงคิดเกมออกมาได้

“ พระอาจารย์ที่คิดเกมด้วยกันก็ตั้งคำถามว่า ‘คนทั่วไปจะมองพระอย่างไรกับพระเล่นเกม พระนำเล่นเกม’ ซึ่งก็มีคำถามแบบนี้จากโยมที่เข้ามาร่วมเล่นเกมอยู่เหมือนกัน แต่ในเบื้องต้นเราพอจะทำได้คือ สื่อสารให้ชัดเท่าที่จะทำได้ ว่าเรามีความตั้งใจสื่อสารธรรมะผ่านบอร์ดเกม  ”

 

 

ความหวังของพระอาจารย์ที่มีต่อเกมเป็นอย่างไร

“ ปัจจุบันมีคนเข้ามาเล่นเกมมากขึ้น ตอนนี้เริ่มอยู่ในขั้นที่สองคืออบรมโยมให้เป็นกระบวนกร สามารถนำเล่นเกมได้ เริ่มจากโยมที่มาเล่นเกมนี้แหละ หรือโยมที่มีความสนใจเป็นจิตอาสาอยากช่วยเหลืองานพระ โยมสนใจอยากนำเกมไหนก็บอกกัน พระก็จะอบรมสอนให้ ตอนนี้มีโยมที่มีจิตอาสาอยู่จำนวนหนึ่งประมาณ 20-30 คนได้ ในขั้นแรกเราก็จะสอนให้นำเล่นได้ก่อน แต่ในตอนท้ายของเกมคือการชวนถอดบทเรียนก็ยังเป็นพระอยู่ จากเมื่อก่อนพระเป็นผู้นำเล่น ตอนนี้จะเริ่มถอยออกมา เป็นคนสังเกตการณ์และเป็นกระบวนกรกลางคือคอยแนะนำบ้างเล็กน้อย การถอดบทเรียนคือการที่พระเข้ามานั่งแล้วชวนสนทนาเพื่อโยงเข้ากับธรรมะ ขั้นต่อไปก็จะให้โยมที่เป็นกระบวนการทำหน้าที่ถอดบทเรียนเอง เมื่อเขาจะไปนำเกมนี้ที่ไหน เขาก็จะทำได้อย่างเต็มรูปแบบ ตอนนี้มีหลายคนที่นำเกมนี้ไปใช้ในองค์กรของตนเอง เช่น บางคนอยู่ในมูลนิธิก็เอาไปเล่นกับเด็ก ๆ บางคนเป็นคุณครูก็เอาไปเล่นกับนักเรียน มันจึงเริ่มขยายมากขึ้น ซึ่งทางเราไม่ได้ประชาสัมพันธ์อะไรมาก ถ้าใครสนใจและคิดว่าเอาเกมนี้ไปใช้แล้วเป็นประโยชน์จริงๆ  เราก็ยินดี เพราะ สสส. สนับสนุนจัดพิมพ์เกมมาเยอะ ”

ถ้าท่านใดสนใจก็สามารถเข้ามาเล่นกันได้ มาลองดูว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรจากบอร์ดเกมธรรมะ แล้วนำไปปรับใช้กับชีวิตอย่างไร ต้องมาสัมผัสด้วยตัวเองจึงจะได้คำตอบ 

ผู้ที่น่าสนใจสามารถสอบถามและติดต่อได้ที่ เพจ www.facebook.com/WatNyanaves.official

เรื่อง : พระปฏิพล ภูมิเมโธ

ภาพ : จักรพงษ์  นุตาลัย

สามารถส่งเรื่องราวดี ๆ หรือปัญหาธรรมมาได้ที่ >>> Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

คิลานธรรม กลุ่มพระอาสาเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติ : พระวรท ธมฺมธโร

สิงคาลมาณพ : ชายหนุ่มผู้ไหว้ทิศ 6 ตามคำสั่งของบิดา

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความตาย โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

อยู่ด้วยการรู้เท่าทันว่าเป็นธรรมดาของชีวิต โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

อิทธิบาท 4 : ทางแห่งความสำเร็จในการทำงานอย่างเป็นสุข โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.