ซินเนสทีเซีย

ซินเนสทีเซีย ปรากฏการณ์ประสาทสัมผัสมหัศจรรย์

ซินเนสทีเซีย ปรากฏการณ์ประสาทสัมผัสมหัศจรรย์

แม้ “สมอง” จะเป็นก้อนเนื้อเล็ก ๆ แต่มีหน้าที่ความรับผิดชอบแสนยิ่งใหญ่ระดับ ผบ.รก. (ผู้บัญชาการร่างกายสูงสุด) หน้าที่หลักของสมองคือ ควบคุมการทํางานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้เป็นไปตามกลไกที่ธรรมชาติสร้างมา (ซินเนสทีเซีย )

อย่างไรก็ดี มีคนบางกลุ่มที่สมองของพวกเขามีความสามารถกํากับดูแลการทํางานของประสาทสัมผัสทั้งห้าที่เราทุกคนมีเหมือน ๆ กันได้มากกว่าปกติ…มากจนกลายเป็นความมหัศจรรย์ที่ยากจะอธิบายให้เข้าใจได้โดยง่าย

ความมหัศจรรย์ที่ว่านี้แม้จะเกี่ยวโยงกับ “ประสาทสัมผัสทั้งห้า” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ดวงตา ของคนเหล่านี้จะมองเห็นภาพได้ชัดเจนกว้างไกลดั่งนกอินทรี หู และ จมูก จะแยกแยะเสียงและกลิ่นได้ว่องไวเหมือนสุนัข หรือ ผิวกาย จะอ่อนไหวและไวต่อการสัมผัสเหมือนอย่างต้นไมยราบ

หากแต่เมื่อพบกับสิ่งเร้า ประสาทสัมผัสของคนเหล่านี้ตั้งแต่สองอย่างขึ้นไปจะเกิดการรับรู้พร้อม ๆ กันในเวลาเดียวกัน! บางคนอาจเรียกอาการประหลาดนี้ว่า ประสาทสัมผัสหลอน แต่ในทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า ซินเนสทีเซีย (Synesthesia หรือ Synaesthesia)

ตัวอย่างของอาการที่ว่านี้ อย่างเช่น

เมื่อ ดวงตา มองเห็นสิ่งใด ลิ้น ก็จะพลอยรับรู้รสชาติของสิ่งน้ันไปด้วย เช่น เวลาที่อ่านหนังสือก็จะมีความรู้สึกถึงรสเปรี้ยว หวาน ฯลฯ โดยที่ในขณะนั้นไม่ได้กินอะไรเลย

เมื่อ หู ได้ยินเสียง ดวงตา ก็จะพลอยเห็นภาพของสิ่งนั้น ๆ ไปด้วย เช่น ฟังเพลงก็รู้สึกว่ามองเห็นตัวโน้ตมีสีสันต่าง ๆ นานา

เมื่อ จมูก ได้กลิ่น ดวงตา ก็จะพลอยเห็นถึงรูปร่างของสิ่งที่ได้กลิ่นว่ามีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม กลม แบน ฯลฯ

เมื่อ ลิ้น รับรส กาย ก็จะพลอยรู้สึกเหมือนได้สัมผัสกับรูปร่างของสิ่งที่กินเข้าไปด้วย เช่น ขณะที่กินอาหารก็จะสัมผัสได้ถึงรูปร่างของอาหารที่กินไม่ต่างจากใช้มือจับเลย

และเมื่อ กาย สัมผัสสิ่งใด ลิ้น ก็จะพลอยรับรู้ถึงรสชาติของสิ่งท่ิ่มาสัมผัสกายด้วย เช่น หยิบของไว้ในมือก็พลอยรู้สึกถึงรสชาติของสิ่งนั้นราวกับได้ใช้ลิ้นสัมผัสโดยตรง

แม้ซินเนสทีเซียจะดูเหมือนเป็นโรคประหลาดที่ยากจะเยียวยาแต่แพทย์และนักวิจัยกลับไม่คิดอย่างนั้น พวกเขาเห็นตรงกันว่า

ซินเนสทีเซียไม่ถือว่าเป็นโรคภัยแต่อย่างใด แต่เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมองซึ่งจะเป็นอาการที่อยู่กับคนคนนั้นไปจนชั่วชีวิตโดยไม่มีความรุนแรงของอาการเพิ่มขึ้น

จากการวิจัยพบว่า ในจํานวนประชากร 25,000 คน จะมีเพียง 1 คนที่อยู่ในภาวะเสี่ยง โดยผู้หญิงมีโอกาสเป็นซินเนสทีเซียมากกว่าผู้ชาย คิดเป็นอัตราส่วน 3 ต่อ 1 เท่า

ส่วนข้อมูลเชิงลึกถึงสาเหตุการเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์นี้บรรดาแพทย์และนักวิจัยต่างเทน้ําหนักไปที่ความผิดปกติของการเชื่อมต่อเส้นประสาทในสมอง บ้างก็ว่าเส้นประสาทมีจํานวนมากเกินไป บ้างก็เปรียบเทียบว่าผู้มีอาการเช่นนี้เส้นประสาทจะมีลักษณะเหมือนสายโทรศัพท์ที่พันกัน ในขณะที่บางคนมีความเห็นว่าเป็นเรื่องของกระบวนการแปลความจากสมองไปยังอวัยวะต่าง ๆ มีความผิดปกติ จึงส่งสัญญาณไปยังอวัยวะหลายแห่งแทนที่จะส่งไปแห่งเดียวฯลฯ

อาจกล่าวได้ว่า จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีทฤษฎีใดที่สามารถยืนยันสาเหตุการเกิดซินเนสทีเซียได้อย่างแน่ชัด

อย่างไรก็ดี ความมหัศจรรย์ของซินเนสทีเซียอาจกลายเป็น“พรสวรรค์” ได้ไม่ยาก หากบุคคลผู้นั้นสามารถนําเอาประสาทสัมผัสพิเศษที่ไม่เหมือนใครของตนมาปรับใช้ร่วมกับความสามารถและความสนใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ฟรานซ์ ลิสต์(Franz Liszt, ค.ศ. 1811–1886) คีตกวีและนักเปียโนชาวฮังการีผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้หนึ่งที่เมื่อได้ยินเสียงดนตรีขึ้นมาครั้งใด ก็จะสามารถมองเห็นโน้ตดนตรีเป็นสีต่าง ๆ (ทั้งที่เขียนด้วยสีดำ) ได้ตั้งแต่วัยไม่ถึง 10 ปี นั่นจึงทําให้เด็กชายลิสต์สนุกไปกับการเล่นเปียโน เขียนเพลง และมีฝีมือก้าวไกลอย่างรวดเร็ว

ดนตรีของลิสต์มีความโดดเด่นตรงที่เขาได้สอดแทรกจินตนาการไว้ในดนตรีอย่างแยบคาย ทําให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมจินตนาการตามได้โดยง่าย ดังบทเพลงที่ว่าด้วยเรื่องสงคราม ทุกโน้ตเพลงของเขาก็จะสื่อถึงเสียงอาวุธ กลองศึก แตรสัญญาณ สร้างอารมณ์ความฮึกเหิมราวกับผู้ฟังได้อยู่ในสนามรบจริง ๆ

ริชาร์ด ฟิลลิปส์ ไฟยน์แมน (Richard Phillips Feynman, ค.ศ. 1918 – 1988) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน เป็นซินเนสทีเซียที่นําความสามารถในการมองเห็นตัวอักษรและตัวเลขเป็นรูปเป็นร่างและมีสีสันมาใช้กับวิชาฟิสิกส์ ด้วยการคิดแทนค่าลงไปในโจทย์ปัญหาสมการที่ว่ายากและน่าเบื่อ ทําให้มองเห็นโจทย์ปัญหา“ชัดเจนเป็นรูปร่าง จับต้องได้จริง ๆ”

ไม่นานนักชื่อของไฟยน์แมนก็จัดอยู่ในทําเนียบนักฟิสิกส์ชั้นนํามผลงานเป็นที่ยอมรับ เช่นเดียวกับความสามารถในการสอนหนังสือที่เขาทําได้อย่างเยี่ยมยอด เขาสามารถสอนวิชาฟิสิกส์ให้สนุกเร้าใจได้อย่างไม่เคยมีใครทําได้มาก่อน ซึ่งต่อมาวิธีการสอนแบบไฟยน์แมนก็ได้กลายเป็นต้นแบบแก่ครูอาจารย์รุ่นต่อ ๆ มา

ไฟยน์แมนได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1965 และได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ผู้ทรงอิทธิพลของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 20

นอกจากนี้แล้วยังมีซินเนสทีเซียคนอื่น ๆ ที่ใช่้ความพิเศษที่ตนมีสร้างผลงานให้โดดเด่นเป็นที่รู้จักระดับโลก เช่น วาซิลี คันดินสกี(Wassily Kandinsky, ค.ศ. 1866-1944) จิตรกรชาวรัสเซีย และโอลีวีเยร์ เมสเซียง (Olivier Messiaen, ค.ศ. 1908-1992)

สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรือมีลักษณะอะไรที่แตกต่างไปจากคนอื่น ๆ ในโลกใบนี้ ขอจงภูมิใจกับตัวตนของคุณและดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ให้เต็มที่ เมื่อนั้นแล้วความแตกต่างที่ว่าก็อาจกลายเป็นพรสวรรค์อันโดดเด่นที่ไม่จําเป็นต้องปิดบังซ่อนเร้นอีกต่อไป…

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์

Photo by Kiwihug on Unsplash

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

เทมเพิล แกรนดิน อัจฉริยะออทิสติกผู้พลิกโฉมวงการปศุสัตว์ของอเมริกา

สตีเฟน วิลต์เชียร์ “มนุษย์กล้องถ่ายรูป” ศิลปินออทิสติกสุดยอดอัจฉริยะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.