แมคาเดเมีย

“แมคาเดเมีย” คุณค่าที่มาพร้อมมูลค่า

ในโลกสังคมทุนนิยม บ่อยครั้งที่มูลค่ามักเป็นตัวชี้วัดกำหนด คุณค่า

ยิ่งสิ่งใดหากมองดูโดยผิวเผินแล้วไม่เห็นประโยชน์…สิ่งนั้นก็ย่อมไร้ทั้งมูลค่าและคุณค่า

หากแต่กฎเกณฑ์นี้คงใช้ไม่ได้กับถั่วเปลือกหนาที่สุดในโลกอย่าง “แมคาเดเมีย”

กว่าที่ ถั่วแมคาเดเมีย (Macadamia nut) จะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะถั่วที่มีความหอม กรอบ มัน สุดอร่อยอย่างทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เมื่อมีผู้นำไม้ป่าชนิดนี้ออกเดินทางจากถิ่นกำเนิดแถบภาคตะวันออกของออสเตรเลีย * ไปยังมลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อค.ศ. 1990

ทว่าการมาถึงของแมคาเดเมียในครั้งแรกนี้ไม่ได้อยู่ในฐานะของอาหาร แต่กลับอยู่ในฐานะของ ไม้ยืนต้นที่ทำหน้าที่เป็นแนวกันลมให้แก่ไร่อ้อยของชาวฮาวาย เพราะความที่มีลำต้นสูงใหญ่ กิ่งก้านใบแข็งแรงนั่นเอง ตราบจนสี่สิบปีให้หลัง สถานีวิจัยเกษตรแห่งฮาวายจึงเกิดความคิดว่า ภายใต้เปลือกแข็ง ๆ หนา ๆ ของผลแมคาเดเมียน่าจะมีอะไรดี ๆ ซ่อนอยู่ พวกเขาลองกะเทาะเปลือกหนาออกมา จึงได้รู้ว่า เนื้อในของแมคาเดเมียนั้นหอม มัน และอร่อยเป็นที่สุด แถมยังมีคุณค่ทางโภชนาการสูงกว่าถั่วชนิดอื่น ๆ ในโลก

แมคาเดเมีย มีโปรตีน เส้นใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มพอลิฟินอล แคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ฯลฯ ที่สำคัญคือ ไม่มีคอเลสเตอรอล และช่วยลดไขมันเลวในเส้นเลือดได้

แมคาเดเมียจึงเลื่อนขั้นขึ้นเป็นพืชเศรษฐกิจในฮาวายอย่างรวดเร็ว พร้อมกับมีการขยายพันธุ์ไปในหลายภูมิภาคทั่วโลก เช่น อเมริกาใต้ อิสราเอล ไทย แม้แต่ออสเตรเลีย ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมก็เริ่มปลูกแมคาเดเมียเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการของคนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยความต้องการแมคาเดเมียในท้องตลาดที่มีมากขึ้น ๆ จึงทำให้มี“เปลือกแมคาเดเมีย” เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ไม่ต่างจากขยะไร้ค่าที่รอวันกำจัด หากแต่ ศาสตราจารย์ ดร.จิตต์ลัดดา ศักดาภิพาณิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กลับ”เห็นต่าง”และ”มองลึก”ลงไปกว่านั้น

จากการศึกษาวิจัยร่วมกับโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ในพระราชดำริสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เธอและทีมวิจัยพบว่า ไม่ใช่แค่เนื้อในของแมคาเดเมียเท่านั้นที่มีคุณค่าและมูลค่าสูงที่สุดในบรรดาถั่วทั่วโลก (ราคากิโลกรัมละ 40-60 เหรียญสหรัฐ) แต่เปลือกนอกก็มีคุณค่าและสามารถสร้างมูลค่าได้ไม่แพ้กัน

เมื่อเริ่มเผาเปลือกแมคาเดเมียที่อุณหภูมิต่ำ และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนถึง 1,000 องศานาน 1 วัน ความชื้นและสารอินทรีย์ต่าง ๆ จะถูกขจัดออกจนหมด คงเหลือไว้แต่ “ถ่านแมคาเดเมีย” * ที่มีรูพรุนขนาดเล็ก มีความหนาแน่นราว 350 ตารางเมตรต่อ 1 กรัม ประกอบไปด้วยธาตุคาร์บอนบริสุทธิ์ โซเดียม โพแทสเซียม ฯลฯ

ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ถ่านแมคาเดเมียจึงสามารถแผ่รังสีอินฟราเรดไปได้ไกลและสามารถบดบังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ เหมาะแก่การใช้งานด้านสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง

เช่น วางไว้เพื่อดับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ใช้ป้องกันรังสีจากโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือใส่ลงในหม้ออาหารเพื่อปรุงอาหารให้สุกเร็วขึ้น หรือจะใส่ลงไปในน้ำสะอาดเพื่อทำน้ำแร่สำหรับดื่มหรืออาบก็ย่อมได้ แม้กระทั่งผสมถ่านแมคาเดเมียเข้ากับเส้นใยพอลิโพรพิลิน (PP) เพื่อทำเป็นสนับเข่ารักษาโรคข้อเข่าเสื่อม หรือทำเป็นถุงเท้า สนับข้อแขน เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตในบริเวณดังกล่าวก็ได้เช่นกัน

เรื่องราวของเปลือกแมคาเดเมียจึงป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า

“อย่าด่วนตัดสินใครจากสิ่งที่เราเห็นอย่างผิวเผินหรือเชื่อตามที่เขาพูดกันมา แต่จงมองให้ลึกด้วยตาของเราเอง เพราะไม่แน่ว่ากรวดทรายที่ไร้ค่าในวันหนึ่งอาจจะกลายเป็นเพชรเม็ดงามที่ใครต่างอยากจับจองก็เป็นได้…เหมือนอย่างแมคาเดเมีย”

 

* แมคาเดเมียทั่วโลกมีด้วยกัน 10 ชนิด (พบในรัฐควีนส์แลนด์และรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย 6 ชนิด เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเชีย 1 ชนิด และหมู่กาะคาลิโดเนีย ประเทศปาปัวนิวกินี 3 ชนิด) แต่มีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่นิยมบริโภค คือ Macadamia integrifolia และ Macadamia tetraphylla 

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  ปาปิรัส

Image by sunnysun0804 from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

True Story: แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว ตาบอด ไฟไหม้ ถูกโกงเงิน แต่ฉันก็ยังอยู่ได้ !

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.