โอลก้า สปีแรนสกายา

โอลก้า สปีแรนสกายา กับภารกิจ “คืนชีวิตให้สิ่งแวดล้อม”

โอลก้า สปีแรนสกายา กับภารกิจ “คืนชีวิตให้สิ่งแวดล้อม”

ภายหลังการล่มสลายของ “สหภาพโซเวียต” เมื่อ 29 ปีก่อน นอกจากโลกจะได้ต้อนรับ 14 ประเทศน้องใหม่ซึ่งล้วนเป็นอดีตรัฐที่ขอแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตแล้ว ยังเป็นการกลับมาอีกครั้งของ “รัสเซีย” ยักษ์ใหญ่ที่ถูกล้มล้างอำนาจไปในอดีตอีกด้วย

ประชาชนทั้ง 15 ประเทศต่างตื่นเต้นยินดีในอิสรภาพครั้งนี้ โดยแทบไม่มีใครคาดคิดเลยว่า “ระบอบคอมมิวนิสต์” ที่เคยครอบงำสหภาพโซเวียตครั้งเก่าก่อนได้ทิ้ง “ระเบิดเวลา” จำนวนมหาศาลไว้ทั่วทุกแห่ง กว่าจะรู้ตัว ระเบิดเวลาเหล่านั้นก็ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนนับพัน ๆ ราย!

โอลก้า สปีแรนสกายา (Olga Speranskaya) นักวิทยาศาสตร์ทางสมุทรศาสตร์ชาวรัสเซียเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลานั้นสืบเนื่องมาจาก “ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์” นั่นเอง

โอลก้า สปีแรนสกายา

ครั้งนั้นสหภาพโซเวียตต้องการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจตามหลักคอมมิวนิสต์ ด้วยการ “เร่ง” กำลังการผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ภาคแรงงานทั้งสองฝ่ายจึงจำเป็นต้องหา “ตัวช่วย” เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ปริมาณมากที่สุดในเวลาอันจำกัด ซึ่งพวกเขาเลือกใช้ “สารเคมีนานาชนิด”

สหภาพโซเวียตสั่งนำเข้าสารเคมีจากผู้ผลิตหลายแห่งทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง จนว่ากันว่า เวลานั้นสารเคมีทั่วทั้งสหภาพโซเวียตมีปริมาณมากถึงร้อยล้านตัน! และน่าจะมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ทว่าหลังกระบวนการผลิต สารเคมีเหล่านั้นกลับไม่ได้หายไปไหน ส่วนหนึ่งปนเปื้อนอยู่ในผลผลิต อีกส่วนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตและถูกกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี ในที่สุดสารเคมีเหล่านั้นก็กลายเป็นระเบิดเวลาสุดอันตรายที่รอจังหวะทำร้ายมนุษย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โอลก้า สปีแรนสกายา

ข้อมูลที่น่าตกใจเหล่านี้ สปีแรนสกายาได้เขียนตีแผ่ลงในบทความเรื่อง การพังทลายของคอมมิวนิสต์ทำอะไรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยความหวังที่ว่าอาจจะช่วยจุดประกายให้ผู้คนในรัสเซียเริ่มตื่นตัวกับปัญหาสารเคมีปนเปื้อนได้บ้าง ทว่าผลตอบรับกลับมากลับดีเกินคาด เมื่อบทความนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ Financial Times David Thomas Prize นั่นทำให้สปีแรนสกายาเริ่มมั่นใจในสิ่งที่เธอสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

ไม่กี่วันต่อมา สปีแรนสกายาก็ตัดสินใจทิ้งตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ที่เธอรัก เพื่อออกมาทำงานรณรงค์ให้คนทั่วไปตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีที่มีต่อสุขภาพอย่างเต็มตัว (นับตั้งแต่ ค.ศ. 1997 เป็นต้นมา)

สปีแรนสกายาเริ่มงานของเธอด้วยการติดต่อขอความร่วมมือจากองค์กรพัฒนาเอกชนทุกแห่งของทั้ง 15 ประเทศ เพื่อตีแผ่ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ค่อย ๆ สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องพิษภัยของสารเคมีและแนะแนวทางการจัดการอย่างยั่งยืนเพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับประชาคมก่อนเป็นเบื้องต้น

โอลก้า สปีแรนสกายา

ด้วยความมุ่งมั่นทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในที่สุดความพยายามของเธอก็เริ่มส่งผล เมื่อพลังประชาคมนับล้าน ๆ เสียงที่เธอสร้างขึ้นมานั้น สามารถกดดันให้รัฐบาลรัสเซียและรัฐบาล 9 ประเทศเกิดใหม่ต่างเห็นชอบยินยอมลงนามในสนธิสัญญาการมีส่วนร่วมลดปริมาณสารเคมี และศึกษาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การเป็นพื้นที่ปลอดสารเคมีในอนาคตได้สำเร็จ

โอลก้า สปีแรนสกายาจะทำภารกิจพลิกฟื้นสีเขียว คืนชีวิตให้สิ่งแวดล้อมในดินแดนอดีตสหภาพโซเวียตทั้งหมดได้สำเร็จเมื่อไร…ไม่มีคำตอบ นอกจากคำมั่นที่เธอให้ไว้ว่า

“พวกเราจะทำงานเพื่อต่อต้านสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม มรดกความเจริญที่เราไม่ต้องการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้สารพิษเหล่านั้นกลับมาทำร้ายเราและลูกหลานของเราได้อีก”

 

“โอลก้า สปีแรนสกายา” ได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมน (Goldman Environment Prize) ปี 2009 ซึ่งเทียบได้กับรางวัลโนเบลด้านสิ่งแวดล้อมที่มอบให้แก่บุคคลทั่วไปที่อุทิศตนในการทำงานเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  ปาปิรัส

ภาพ  goldmanprize.org

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

มัลกอร์ชาตา กอร์สกา นักอนุรักษ์ตัวเล็กๆ ผู้กล้าล้มโครงการยักษ์ของรัฐบาล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.