จิตสัมผัส

“จิตสัมผัส” เมื่อพระพุทธคุณบังเกิดขึ้นในจิต – ครูหนุ่ย งามจิต มุทะธากุล

ครั้งหนึ่งในฤดูหนาว ครูไปเข้ากรรมฐานที่วัดแห่งหนึ่ง พักในกุฏิหลังสุดท้าย ที่วัดนี้รับประทานอาหารมื้อเดียว พอถึงเวลาอาหาร ครูก็เดินไปตักอาหารใส่กะละมังสีขาวรวม ๆ กันไป แล้วก็เดินกลับไปนั่งรับประทานที่กุฏิ เวลาที่ครูไปเข้ากรรมฐาน ครูจะปิดวาจา ไม่พูดไม่คุยกับใคร สำรวมตา ไม่สอดส่ายสายตามองโน่นมองนี่ สำรวมหู ไม่เงี่ยหูฟังเสียงพูดคุยของคนอื่น สำรวมใจ คอยดูจิตไม่ให้ฟุ้งไปตามอารมณ์ เรียกว่า สำรวมอินทรีย์ ให้จิตมีสติรู้อยู่ภายในกายภายในใจของเราเท่านั้น (จิตสัมผัส)

การสำรวมอินทรีย์นี้เป็นสิ่งจำเป็นในการปฏิบัติธรรมมาก แต่ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักไม่เคร่งครัดในการนี้ ความจริงสำนักปฏิบัติธรรมที่ดี ๆ ท่านก็บอกไว้แล้วทั้งนั้นว่าให้งดพูด แต่ไม่ค่อยจะปฏิบัติกัน มุ่งแต่การปฏิบัติในห้องกรรมฐานอย่างเดียว พอออกจากห้องกรรมฐานหรือห้องปฏิบัติรวมบ้างก็เดินชมนกชมไม้ไปเรื่อย บ้างก็แอบคุยกัน บ้างก็แอบเขียนแอบจด สติจึงไม่ต่อเนื่อง สมาธิไม่รวม ขาด ๆ วิ่น ๆ จิตไม่ตั้งมั่น การปฏิบัติธรรมจึงไม่สัมฤทธิผล ทำให้เรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า “ปฏิบัติธรรมมาตั้งนานไม่เห็นจะได้อะไรเลย” ยังขี้โกรธเหมือนเดิม ปากมากเหมือนเดิม ชอบนินทาเหมือนเดิม ขี้อิจฉาเหมือนเดิม ยังถือตัวถือตน ดูถูกคนเหมือนเดิม ไปมากไปบ่อย แต่ปฏิบัติจริง ๆ น้อย ก็ได้มรรคได้ผลตามเหตุปัจจัย

เช้าวันนั้นพระท่านบิณฑบาตได้อาหารมาไม่มากนัก ครูตักข้าวกับผัดถั่วฝักยาวมารับประทาน เมื่อเดินมาถึงกุฏิ ก่อนจะรับประทานอาหาร ครูต้องถวายข้าวพระพุทธก่อน เสร็จแล้วก็เสสังฯ แล้วก็แผ่เมตตาให้ผู้บริจาคผู้บริการทุกท่านตามที่คุณแม่สิริ กรินชัย ท่านสอนมา แล้วจึงลงมือรับประทานอาหารด้วยสติ เมื่อครูตักข้าวพร้อมกับผัดถั่วฝักยาวเข้าปาก ทันทีที่ข้าวเข้าปาก ครูเกิดปีติท่วมท้นขึ้นมาในหัวใจ เคี้ยวข้าวไปน้ำตาก็ไหลไป เพราะจิตไปสัมผัสกับพลังจิตของผู้ที่ผัดถั่วฝักยาวว่า ขณะที่เขากำลังผัดถั่วฝักยาวอยู่นั้น เขาตั้งใจผัดมาก เพราะเขาอยากใส่บาตรพระ เขาตั้งใจทำบุญนี้เพราะอยากได้บุญ

ณ วินาทีนั้นความรู้ต่าง ๆ ก็หลั่งไหลเข้ามาในจิตของครู

“ทานที่เขาถวายมานี้ก็เหมือนกับเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ดี พระสงฆ์ผู้เลี้ยงชีพด้วยการบิณฑบาตและผู้ปฏิบัติธรรมที่อาศัยข้าวก้นบาตรเลี้ยงชีพเปรียบเหมือนผืนนา ถ้าเขาหว่านเมล็ดพันธุ์ลงบนผืนนาที่อุดมสมบูรณ์ ข้าวเปลือกของเขาก็จะงอกงามให้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเป็น ‘นาที่อุดมสมบูรณ์’ ให้แก่เขา โดยการตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ดีที่สุด” ความกตัญญูมันเกิดขึ้นขณะที่กำลังเคี้ยวข้าวคำนั้น ทำให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้าอย่างอัศจรรย์

การที่เราเอาข้าวปลาอาหารไปถวายพระพุทธ ครูเคยคิดเสมอว่าเหลวไหล พระพุทธเจ้าท่านปรินิพพานไปนานแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับพระองค์เลย แต่ครั้งนั้นเพิ่งเข้าใจว่า กุศลจากการนี้คือให้เราสำนึกว่า อาหารนี้ที่ได้มาก็ด้วยพุทธบารมีของพระพุทธเจ้า ลำพังตัวเราไม่มีใครเขาให้หรอก แต่เพราะเป็นสาวกของพระพุทธองค์ เราจึงได้ข้าวได้น้ำนี้มา เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ด้วยสำนึกกตัญญูต่อพระพุทธองค์ เราต้องไม่ทำให้เสื่อมเสียถึงพระบรมศาสดา

เช้าวันนั้นครูนั่งกินข้าวไปน้ำตาไหลไป นึกในใจว่า ถ้ามีคนแอบมองอยู่ คงจะเข้าใจว่าเราร้องไห้เพราะไม่มีอะไรกิน แต่สำหรับครูแล้ว อาหารมื้อนั้นเป็นอาหารที่มีคุณค่า เลิศรสที่สุดในชีวิต รำพึงอยู่ในใจว่า “เออนะ…เวลาไปเที่ยวที่ไหน หรือได้ยินว่าที่ไหนมีของอร่อย เราต้องดั้นด้นไปกิน ของดีของแพงก็กินมาไม่น้อย ไม่เห็นเคยเกิดปีติจนน้ำตาไหลเลยสักครั้ง นี่แค่ผัดถั่วฝักยาวอย่างเดียว ไม่มีหมู ไม่มีไก่ ทำไมวิเศษอย่างนี้”

พลังจิตสามารถฝังลงไปในวัตถุหรือสัญลักษณ์อะไรก็ได้ เช่น เวลาที่เราได้ยินเสียงสวดมนต์แล้วรู้สึกสงบ ก็เพราะเราเคยมีความรู้สึกสงบขณะที่ฟังพระสวดมนต์มาก่อน ขณะนั้นความรู้สึกสงบได้เชื่อมโยงกับเสียงสวดมนต์เอาไว้ กระบวนการนี้ศาสตร์ NLP เรียกว่า “แองเคอร์” (Anchor)

พระพุทธองค์ทรงฝังพลังพระพุทธคุณไว้ในพระธรรมที่พระองค์เสด็จไปประกาศสั่งสอนตลอด 45 พรรษา หากเราตั้งใจฟังหรือตั้งใจอ่านทุก ๆ คำในบทสวดมนต์หรือทุกคำในพระพุทธพจน์ จิตของเราจะสัมผัสได้ถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า

เมื่อพระพุทธคุณบังเกิดขึ้นในจิตของเราแล้ว เราก็จะไม่ต้องไปแสวงหาพระพุทธคุณจากวัตถุใด ๆ อีกเลย

(จิตสัมผัส)

ที่มา  คอลัมน์ Power of Mind นิตยสาร Secret

เรื่อง  ครูหนุ่ย – งามจิต มุทะธากุล

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

จิตสงบด้วยการภาวนา “ พุท–โธ ” ธรรมะโดย ส. ชิโนรส (พระมหาสุภา ชิโนรโส)

หัวใจของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่การเจริญกุศล โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.