อ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์

อ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์ ใครถูกใครผิดไม่สำคัญเท่ากับการที่เราไม่หาทางแก้ปัญหาอะไรเลย

อ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์ ใครถูกใครผิดไม่สำคัญเท่ากับการที่เราไม่หาทางแก้ปัญหาอะไรเลย

จากเหตุการณ์ที่นักเรียนชายคนหนึ่งลงไม้ลงมือเพื่อตอบโต้อาม่า ซึ่งเป็นฝ่ายเข้ามาทำร้ายร่างกายก่อน จนกลายเป็นคลิปที่ได้รับความสนใจในโลกออนไลน์อย่างล้นหลาม ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่าง ๆ นานา วันนี้ซีเคร็ตได้พบกับดีเจสายธรรมอย่าง อ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์ จึงได้ถามความเห็นต่อกรณีนี้

“ วันนั้นถ้าอ้อมเป็นเด็ก อ้อมเชื่อว่าอ้อมน่าจะทำหนักกว่าน้องคนนี้ เพราะตอนเด็กอ้อมก็ไม่ธรรมดา อ้อมก็แรง อาจจะกระโดดเตะด้วยเพราะตัวเบากว่า และเร็ว คือบอกไม่ได้ว่าวันนั้นคิดอะไร ถูกผิดอาจจะยังไม่รู้ แต่ที่แน่ ๆ กลไกการปกป้องตัวของมนุษย์มันมี แต่พอโตขึ้นเราก็เริ่มเรียนรู้ว่า มันมีวิธีปกป้องตัวเองแบบไหนให้ไม่เดือดร้อนคนอื่น

“ เอาจริงๆ อ้อมก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้น เลยไม่อยากจะตัดสินใคร อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อาม่าขอโทษแล้ว ถ้าลองนึกถึงใจเขาใจเรา วันนั้นไม่มีใครรู้ว่าอาม่าเป็นอะไร เราไม่รู้เลยว่าอาม่าโดนอะไรมา หรือเขาอาจมีบริบทในสังคมที่เราไม่เคยรู้มาก่อน หรือเอาง่าย ๆ เวลามีใครมาเตือนเราต่อหน้าคนอื่น เราอายไหม เราก็อาย อาม่าก็คงอาย

“อ้อมว่าปัญหาของคนอยู่ที่ว่าวันนั้นสติดีหรือไม่ดี สติในแต่ละขณะก็มากน้อยไม่เท่ากัน อันนี้สำคัญ วันนั้นอาม่าอาจจะอ่อนไหว หรืออายต่อหน้าเด็ก แล้วคนเราเวลาอายมันทำทุกอย่างได้จริง ๆ นะ ความอายทำให้คนอาละวาดได้ เพราะเสียหน้า วันนั้นคนหนึ่งคนกำลังเสียหน้า แล้วเขาอาจจะเลือกทำสิ่งที่หลายคนมองว่าผิด และตอนนี้เขาได้รับผลในสิ่งที่เขาทำแล้ว

“ ในภาพรวมอ้อมมองว่า ทุกครั้งที่เด็กมีปัญหากันในโรงเรียน ครูคือคนที่เราต้องพึ่งพา ครูต้องสังเกตก่อน ชาร์จก่อน ถ้าโรงเรียนไหนครูชาร์จก่อน โรงเรียนนั้นจะสงบ เรื่องก็จะจบง่าย และการแก้ปัญหาของครูก็จะกลายเป็นตัวอย่าง

“อย่างที่เขาบอกว่าถ้าอยากได้ลูกแบบไหน พ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบนั้น อยากได้ลูกศิษย์แบบไหน ครูก็ต้องเป็นแบบนั้น ครูเห็นปัญหาเร็ว ชาร์จเร็ว แยกได้ ไม่ปล่อยให้เด็กทะเลาะกัน พอเป็นอย่างนี้เด็กเขาก็จะเห็นตัวอย่าง แล้วได้เรียนรู้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ข้างนอก เด็กก็จะเอาไปใช้ได้

“ถ้าโรงเรียนไหนครูมัวแต่ยืนดู ตัดสินใจช้า เด็กก็จะเรียนรู้พฤติกรรมอีกแบบหนึ่ง แต่มันไม่ใช่ว่าครั้งเดียวแล้วเด็กจะเข้าใจ ต้องทำเป็นตัวอย่างในหลาย ๆ กรณี ไม่ใช่แค่กรณีเด็กตีกัน หรือผู้ปกครองมีปัญหา แต่ในทุก ๆ กรณีเลย ครูสามารถแอ็คชั่นได้เร็วในหลาย ๆ เรื่อง เด็กจะเห็นเลยว่า ครูเป็นแบบอย่างในเรื่องการเป็นที่พึ่ง

“ ถามว่าอ้อมห่วงอะไร หลังจากเห็นคลิปนี้ อ้อมห่วงหลานของอาม่า แต่ถ้าเพื่อนและครูแยกแยะได้ ถ้าหลานของอาม่าปกติเป็นเพื่อนที่ดี เป็นคนที่เพื่อนรักอยู่แล้ว คงไม่มีใครที่ไม่ดีกับเขา ไม่ล้อเขา มันจะช่วยให้เด็กคนหนึ่งไม่มีปมจากเรื่องที่กลายเป็นกระแสสังคมขึ้นมาโดยที่เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ซึ่งอันนี้ก็คงต้องพึ่งพาครูให้ช่วยอีกเช่นกัน

“ ครูที่ดีหลายคนที่อ้อมเห็นมาต้องว่องไวและช่างสังเกต และโรงเรียนนี้อาจโชคดีที่มีเด็กนักเรียนเรียบร้อย ครูเลยไม่ต้องเหนื่อยกับการสังเกตมาก แต่มันไม่ได้บอกว่านักเรียนเรียบร้อยแล้วสกิลของการสังเกตจะต้องลดลงนะคะ เหมือนซ้อมหนีไฟ มันยังคงต้องซ้อมอยู่เรื่อย ๆ ถ้ามีปัญหาจะได้เห็นเร็ว ชาร์จเร็ว ใช้สถานการณ์เป็นบทเรียน

“เอาเป็นว่าถ้าถามว่า อ้อมคิดยังไงกับเหตุการณ์นี้ อ้อมคิดว่าเมื่อเรื่องหนึ่งเรื่องเกิดขึ้น สิ่งสำคัญอันดับแรกอาจไม่ใช่การโทษใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราน่าจะลองคิดหาทางออกที่ดีที่สุดไว้ก่อน ดีกว่าไม่ลองทำอะไรเลย ”

 

เรื่อง : สุนิสา สุขบุญสังข์

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการซีเคร็ตออนไลน์

ภาพ : นิตยสารซีเคร็ต


บทความน่าสนใจ

เส้นทางสู่ “ความว่าง” ของอ้อม - สุนิสา สุขบุญสังข์

ซีเคร็ตรีวิว : งานวัดน้อย ๆ ลอยฟ้า ธรรมเทศกาลขนาดมินิใจกลางเมือง เพื่อความสุขน้อย ๆ กลางใจคุณ

ลูกไม่ใช่นักแสดง คุณไม่ใช่ผู้กำกับ การบังคับจึงไม่ใช่ทางออก – แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

ความตาย แบบฝึกหัดชิ้นสำคัญของชีวิต บทความจาก แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

พ่อแม่ให้ชีวิตลูก แต่ไม่ใช่เจ้าของชีวิตลูก บทความข้อคิดดีๆ จาก แม่ชีศันสนีย์ 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.