เสียบแทง

เวทนาคือสิ่งที่เสียบแทงจิตใจ : ท่านพุทธทาสภิกขุ 

เวทนาคือสิ่งที่ เสียบแทง จิตใจ : ท่านพุทธทาสภิกขุ

นี่มาพูดถึงคำว่า เสียบแทง กันบ้าง อย่าถือเอาตามความหมายของภาษาไทยธรรมดาว่าต้องแทงด้วยมีด ด้วยอะไรทำนองนั้น เสียบแทงคือมันมีอะไรมาทำให้เจ็บปวด เหมือนกับถูกของแหลมแทง ร่างกายถูกแทงด้วยมีด เป็นต้น แต่จิตมันถูกแทงด้วยความรู้สึกบางชนิด

ความทุกข์นั่นแหละเสียบแทงจิต แม้กิเลสก็เสียบแทงจิต ความโลภ ความโกรธ ความหลง เต็มตัวจะเสียบแทงจิตทีนี้วิญญาณนั้นมีทิฏฐิ ความคิดเห็นผิดหรือถูกเป็นเครื่องเสียบแทงวิญญาณ หรืออวิชชาโดยเฉพาะนี่ นี่เราดูให้ชัดลงไปว่า คนเราอยู่ในโลกเป็นประจำวันนี่มันมีเรื่องสำคัญอยู่ 3 เรื่องที่เรียกว่าเวทนา

เรารู้สึกสบายใจเป็นสุขนี้เรื่องหนึ่ง เราไม่รู้สึกสบายใจ และเป็นทุกข์นี้เรื่องหนึ่ง ถ้าเรารู้สึกไม่รู้ว่าจะเรียกว่าสุขหรือทุกข์ คือยังไม่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือมันไม่แน่นี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่เรียกว่าเวทนามี 3 ชนิดอย่างนี้ สุขเวทนา-รู้สึกเป็นสุขสบายใจ, ทุกขเวทนา-รู้สึกเป็นทุกข์ไม่สบายใจ, อทุกขมสุขเวทนา-ไม่รู้อย่างไรแน่ มันอยู่ในสภาพที่สงสัย หวัง วิตกกังวล

อันนี้ไม่จัดเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จัดเป็นอทุกขมสุขแต่ก็เป็นเวทนา ทีนี้ขึ้นชื่อว่าเวทนาแล้วทั้ง 3 ชนิดนี้จะเสียบแทงทั้งนั้น ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ให้ทุกคนสังเกตให้ดี ๆ จากจิตใจของตน ถ้ามีอะไรมาถูกใจเรา สิ่งที่ถูกใจเรามันก็เสียบแทงใจเรา

เดี๋ยวจะพังไม่ถูก อะไรไม่ถูกใจเรามาหาเรามันก็เสียบแทงใจเรา อะไรที่ยังไม่แน่ว่าสุขหรือทุกข์มันก็เสียบแทงใจเรา ไอ้ของรักของชอบใจมาสัมผัสมันเสียบแทงชนิดที่ไม่รู้สึกเสียบแทงลึกซึ้ง แล้วก็ทำให้เกิดความทุกข์ชนิดลึกซึ้งเข้าใจยาก นี่พูดง่าย ๆ ว่าไอ้ความรักนี่แหละมันเสียบแทง แล้วเข้าใจได้ยากในอาการที่เรียกว่าเสียบแทง

ดูได้ง่ายในเมื่อดูที่อาการร้อนรน เมื่อความรักเกิดขึ้นก็ร้อนรนเหมือนเสียบแทง เมื่อความไม่รัก คือ ความโกรธ ความเกลียด เกิดขึ้นมันก็เสียบแทง ทีนี้ไม่รักและไม่เกลียดแต่ว่ามันเป็นเรื่องสงสัย ลังเล วิตกกังวลมันก็เสียบแทง ถ้าไม่เข้าใจข้อเท็จจริงนี่แล้ว จะเข้าใจธรรมะไม่ได้ คือจะเกิดไปแยกกันว่าเวทนาบางชนิดไม่เสียบแทง

แต่ข้อเท็จจริงนั้นเวทนาทั้ง 3 ชนิดล้วนแต่เสียบแทงของรักจะเสียบแทงอย่างของรัก ของเกลียดจะเสียบแทงอย่างของเกลียด แล้วของไม่รักไม่เกลียดก็จะเสียบแทงอย่างของที่ไม่รักไม่เกลียด ขี้นชื่อว่าเวทนาแล้วจะต้องเสียบแทงแต่มันจะต้องต่างกันมาก ต่างกันมากเกือบตรงกันข้าม

แต่ว่าเป็นการเสียบแทง คือ เผาลนจิตใจ เพราะฉะนั้นราคะก็เสียบแทง โทสะก็เสียบแทง โมหะก็เสียบแทง ราคะ โลภะนี่เป็นเรื่องรัก เป็นเรื่องได้ เป็นเรื่องบวก มันก็เสียบแทง ไอ้โทสะหรือโกธะนี้เป็นเรื่องไม่ได้ เป็นเรื่องโกรธเรื่องขัดใจ เป็นเรื่องลบ มันก็เสียบแทง

นี่โมหะนั้นไม่อยู่ในรูปบวกหรือลบชัดเจน มันก็ปน ๆ กันยุ่ง เป็นความวิตกกังวลเป็นความข้องใจด้วยความสงสัย ไอ้โมหะนี่ก็เสียบแทง เพราะฉะนั้นทั้ง 3 อย่างนี่เป็นโรค โลภะ ราคะก็เป็นโรค โทสะ โกธะก็เป็นโรค โมหะก็เป็นโรค ต้องรู้จักไอ้โรคนี้ให้ดีเสียก่อน จึงจะรู้จักพระพุทธเจ้าที่เป็นนายแพทย์ผู้รักษาโรคของสัตว์โลกทั้งปวงเหมือนที่ได้กล่าวมาแล้ว

เพราะสัตว์โลกทั้งปวงเป็นโรค 3 ชนิดนี้อยู่ตลอดเวลาไม่มากก็น้อย รู้สึกบ้างไม่รู้สึกบ้าง จะไม่เป็นก็เว้นแต่ที่ไม่มีเวลาที่ไม่ปรากฏ โลภะ โทสะ โมหะ ตามปกติสัตว์นี่สะสมความเคยชินที่จะเกิดโลภะ โทสะ โมหะไว้มากมาย จนเป็นอันว่ามันเกิดเมื่อไรก็ได้

อารมณ์ที่น่ารักมามันก็รัก อารมณ์ที่น่าเกลียดน่าโกรธมามันก็โกรธ มันก็เกลียด อารมณ์ที่ชวนให้ทึ่ง ให้สงสัย ให้ฉงน ให้ข้องใจ นี่มันก็ทึ่งขึ้นมา ไม่ได้อยู่เป็นปกติ นี้คือโรคถ้ามันเนื่องกับกายมันก็เสียบแทงกาย ถ้ามันเนื่องกับจิตมันก็เสียบแทงจิต ถ้าเนื่องกับวิญญาณมันก็เสียบแทงวิญญาณ

กระทั่ง 3 อย่างนี้มันเนื่องกัน ความรู้สึกทางกายล้วน ๆ มันรู้สึกไม่ได้ มันรู้สึกไม่ได้ มันรู้สึกทางจิต ถ้าจิตไม่รู้สึกเสีย กายมันก็ไม่รู้สึกทางสติปัญญาก็เหมือนกัน มันอาศัยจิตเป็นที่ตั้งนั้นมันเพียงแต่ว่ามันไปแสดงออกที่ส่วนไหนมากเท่านั้นเอง

ไอ้เรื่องที่เกิดขึ้นน่ะมันแสดงออกกันส่วนมากที่ร่างกาย หรือมีร่างกายเป็นต้นเหตุ หรือว่ามันแสดงออกทางจิตโดยตรง มีเรื่องของจิตโดยตรง หรือไปแสดงออกทางสติปัญญา หรือทางที่เรียกว่าทิฏฐิ ความคิดความเห็นนั่น นั่นมันก็เป็นโรคกันที่นั่น

 

เรายังไม่เป็นพระอรหันต์เพียงไร

เราก็ไม่ปลอดจากโรคทางวิญญาณโดยสิ้นเชิง

อยู่เพียงนั้น

 

ที่มา : ผู้เยียวยาสัตว์โลกทั้งปวง บรรยายธรรมโดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

ภาพ : www.pexels.com


บทความน่าสนใจ 

ทำอย่างไรจึงจะพ้นจาก ความกำหนัด แห่ง กามคุณ ได้ : ท่านพุทธทาสภิกขุ

โรคทางกาย เกิดขึ้นเพราะจิตที่ พิรุธ : ท่านพุทธทาสภิกขุ

ความโกรธ มีเสน่ห์ เพราะเป็น ความอร่อย ของ คนโง่ : ท่านพุทธทาสภิกขุ

สูตรยา ระงับ สรรพทุกข์ สร้างสรรค์สูตรโดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

ทำไม ท่านพุทธทาสภิกขุสอนเรื่อง การทำบุญ เปรียบเหมือน เลี้ยงไก่

ทำไมต้องรู้จัก กับ ความทุกข์ ธรรมะ เปิดปัญญา โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ 

โลกนี้มีแต่ คนบ้า บ้าบอ กันไปหมด แล้วใครคือ คนที่ไม่บ้า ในมุมมองของ ท่านพุทธทาสภิกขุ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.