ฌอง ฟรองซัวส์ ชองโปลียง

ฌอง ฟรองซัวส์ ชองโปลียง ผู้พิชิตความลับแห่งแดนไอยคุปต์

ย้อนหลังกลับไปราว 4,000 ปี ณ ดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกาในปัจจุบัน คือที่ตั้งของ “”อียิปต์”” อาณาจักรอันยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาการ

ภาพเค้ารางของอดีตที่ยังคงแจ่มชัดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพีระมิด มหาวิหาร รูปสลัก หรือแม้แต่เรื่องราวของฟาโรห์ เทพเทวีอันศักดิ์สิทธิ์ และมัมมี่ ล้วนสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหลายต่อหลายรุ่นต่างพยายามค้นคว้าไขปริศนาความลี้ลับเหล่านี้ให้จงได้ รวมถึง ฌอง ฟรองซัวส์ ชองโปลียง (Jean–-Franæois Champollion) ชายชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ถอดรหัสอักขรวิธีและความหมายของอักษรรูปภาพโบราณ “”เฮียโรกลิฟ” ” (Hieroglyph) ได้เป็นคนแรกของโลกด้วย ยังผลให้นักวิชาการสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวของอียิปต์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ชองโปลียงเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1790 ที่เมืองฟีแยค (Figeac) ทางใต้ของฝรั่งเศส เริ่มต้นชีวิตการเรียนตั้งแต่อายุเพียงไม่กี่ปีด้วยการสอนของฌากส์ โจเซฟ พี่ชายแท้ ๆ ของเขาเอง แม้จะเป็นการสอนอย่างง่าย ๆ แต่ชองโปลียงก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ผิดกับเด็กในวัยเดียวกัน และเขามีความสนใจด้าน ““ภาษา”” เป็นพิเศษ

ฌอง ฟรองซัวส์ ชองโปลียง
ฌากส์ โจเซฟ

ชองโปลียงสามารถอ่านและเขียนภาษาฝรั่งเศสได้ด้วยวัยไม่ถึง 5 ปี และเรียนรู้ภาษาทางตะวันออก ทั้งภาษาฮีบรู อารบิก ซิริแอก และภาษาจีนด้วยตนเอง จนอ่านออกเขียนได้ด้วยวัยเพียง 10 ปี

หนึ่งปีต่อมาชองโปลียงเข้าศึกษาต่อที่เมืองเกรอน็อบล์ (Grenoble) ซึ่งที่นั่นนอกจากเขาจะได้เรียนภาษาคอปติก สันสกฤต และเปอร์เซียเพิ่มเติมแล้ว ชองโปลียงยังได้พบกับ ฌอง บัปติสท์ ฟูริเยร์ ผู้ทำให้เขารู้จักอียิปต์แบบทุกซอกทุกมุม และเริ่มสนใจงานโบราณคดี การตีความอักษรภาพเฮียโรกลิฟนับแต่นั้นมา

เด็กหนุ่มวัย 17 ปีเริ่มงานด้านอียิปต์วิทยาด้วยการเขียนสารานุกรมเล่มแรกชื่อว่า ““อียิปต์ภายใต้ฟาโรห์” แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เมื่อแวดวงวิชาการมองว่า ผลงานของเขาเป็นเพียงงานรวบรวม ไม่มีการนำเสนอข้อมูลหรือทฤษฎีใหม่ ๆ

ฌอง ฟรองซัวส์ ชองโปลียง

ทว่าความล้มเหลวในวันนั้นกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้ชองโปลียงเกิดความพยายามมากยิ่งขึ้น โดยมีโจทย์สำคัญรออยู่คือ ต้องอ่านอักษรภาพเฮียโรกลิฟในแท่งหินโรเซตตาให้สำเร็จเป็นคนแรกด้วยปณิธานที่แน่วแน่ว่า

““ผมจะพยายามใช้ความรู้ความสามารถที่มีอ่านอักษรเฮียโรกลิฟให้สำเร็จจงได้ เพราะนั่นคือเกียรติยศสูงสุดในชีวิตที่จะได้ถ่ายถอดวาทะศักดิ์สิทธิ์จากเทพเจ้าให้เป็นที่ประจักษ์แก่มนุษย์รุ่นหลัง””

ชองโปลียงทุ่มเททั้งชีวิตในการศึกษารูปแบบอักษรในดินแดนใกล้เคียง ดินแดนตะวันออกไกล รวมถึงคลุกคลีอยู่กับโบราณวัตถุและโบราณสถานในอียิปต์เพื่อรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด แม้เส้นทางนี้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่เขาก็ไม่เคยย่อท้อเลยสักครั้ง คิดเพียงแต่ว่า “”นี่คือความท้าทายที่สุดในชีวิต”” และมุ่งมั่นต่อไป

ในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1828 ความมุ่งมั่นกว่าสองทศวรรษของชองโปลียงก็สัมฤทธิผล เมื่อเขาพิสูจน์ได้ว่า ชาวอียิปต์มีอักษรภาพถึง 640 ตัว เป็นพยัญชนะผสม 75 ตัว แต่ที่นิยมใช้มีประมาณ 50 ตัว อีกทั้งอักษรบางตัวยังเขียนได้หลายแบบ มีหลายความหมายภายใต้ระบบการเขียนจากซ้ายไปขวาและขวาไปซ้าย

ความลับในแท่งหินโรเซตตาที่เก็บงำมานานกว่าพันปีจึงได้เปิดเผยออกมา พร้อม ๆ กับเป็นกุญแจไขความลับในบรรดาจารึกรุ่นก่อน ๆ ได้เป็นอย่างดี และด้วยผลงานชิ้นเอกนี้ จึงทำให้ ฌอง ฟรองซัวส์ ชองโปลียง ได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งอียิปต์วิทยา (The Father of Egyptology) ผู้สร้างคุณูปการแก่นักวิชาการรุ่นต่อ ๆ มา

ฌอง ฟรองซัวส์ ชองโปลียง

ทว่าฌอง ฟรองซัวส์ ชองโปลียง กลับชื่นชมความสำเร็จนี้ได้ไม่นานนัก เพราะเพียงแค่สี่ปีให้หลัง ชองโปลียงก็ล้มป่วยและเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 42 ปีในอียิปต์ แผ่นดินที่เขาทุ่มเทศึกษาค้นคว้ามาตลอดทั้งชีวิต

เพียงเปลี่ยนความผิดหวังมาเป็นกำลังใจ ผสานกับความมุ่งมั่นและพยายาม ไม่ว่าอุปสรรคน้อยใหญ่แค่ไหนก็ไม่อาจหยุดยั้ง “”ความสำเร็จ”” ได้ ดังเช่นฌอง ฟรองซัวส์ ชองโปลียง ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  ปาปิรัส

ภาพ  wikipedia

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

อมารตยา กุมาร เซน ผู้บุกเบิกทฤษฎีพัฒนาคนให้มีความสุข

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.