แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช

ศัลยแพทย์ผู้อุทิศตนแห่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช

ศัลยแพทย์ผู้อุทิศตนแห่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช

บริษัท  อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินตามเจตนารมณ์ของคุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ด้วยการมอบรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ให้แก่บุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อวัฒนธรรมการเรียนรู้ ทั้งต่อสังคม และคุณภาพชีวิตของผู้คน อันเป็นแบบอย่างของการทำงานสร้างสรรค์ สืบเนื่องมาเป็นเวลา 16 ปี ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 นี้ แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช ศัลยแพทย์รุ่นใหม่ที่อุทิศตนช่วยเหลือผู้ป่วยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ เป็นผู้ได้รับรางวัลนี้ ซีเคร็ตชวนมาทำความรู้จักกับศัลยแพทย์หัวใจแกร่งท่านนี้กันค่ะ

 

 

พอจะจำความรู้สึกตอนผ่าตัดครั้งแรกได้ไหม

 “ คุณหมอประชา ชยาภัมชวนหมอไปช่วยที่ห้องผ่าตัด ซึ่งโดยปกติแล้วหมอที่เรียนจบ 6 ปี ที่ไม่ได้เรียนต่อด้านเฉพาะทางจะถือว่ายังผ่าตัดให้ผู้ป่วยไม่ได้ แต่หมอมีโอกาสได้ช่วยคุณหมอประชาผ่าตัดมาหลายเคส จนหมอได้ผ่าตัดผู้ป่วยเองครั้งแรก ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุ มีเลือดคั่งใต้เยื่อหุ้มสมอง ตอนนั้นตื่นเต้นและกลัวมาก แต่มีคุณหมอประชาเป็นพี่เลี้ยง คอยยืนดูเราอยู่ข้าง ๆ หลังจากผ่าตัดเสร็จ เราก็รู้สึกภูมิใจมากว่าเราทำได้ แล้วเราไปนอนเฝ้าผู้ป่วยตลอดจนเขาออกจากไอ.ซี.ยู. เพราะเขาเป็นผู้ป่วยคนแรกที่เราผ่าตัดให้ (ยิ้ม) ”

 

สิ่งที่คุณหมอได้จากการมาเป็นศัลยแพทย์ที่นี่ คืออะไร

“ หมอมองว่า ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ก่อความไม่สงบ เจ้าหน้าที่ หรือคนที่ไม่รู้เรื่อง ทุกชีวิตเป็นคนเหมือนกัน และทุกคนก็เป็นเพื่อนกัน การรักษาให้เขาหายแล้วกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับหมอ ”

 

รู้สึกกลัวบ้างไหมเวลาที่เกิดเหตุความไม่สงบ

“ กลัวนะคะ แต่เวลาที่มีระเบิดหมอก็จะอยู่แต่ในโรงพยาบาล พอได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น สัก 5 นาที ก็จะได้ยินเสียงรถพยาบาลวิ่งออกไปรับผู้บาดเจ็บ เราต้องเตรียมตัวไว้เลยเพราะจะมีผู้บาดเจ็บส่งเข้ามา เคยหนักสุดคือมีการระเบิดและเผาพร้อมกันหลายจุด ซึ่งมีจุดที่อยู่ใกล้กับคลินิกของหมอด้วย กระโปรงรถกระเด็นมาตกหน้าคลินิก โชคดีที่ไม่ตกบนหลังคา”

 

 

 

มีวันที่คุณหมอเหนื่อยล้าบ้างไหม

“ ก็จะมีบ้าง อย่างเช่นไม่ได้นอนมาคืนหนึ่งแล้ว คืนนี้ขอนอนหน่อย แต่โดนตามให้มาผ่าตัด ผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุเพราะดื่มแอลกอฮอล์ แล้วขับมอเตอร์ไซค์ล้มตอนตีสอง มีเลือดออกในสมอง ซึ่งเราต้องลุกขึ้นไปผ่าตัดแน่ ๆ หมอก็จะบ่นว่า จะมาเมาอะไรป่านนี้ ดึกแล้วยังจะออกไปเมาข้างนอกอีก ทำไมต้องทำให้เราเดือดร้อน แต่คิดได้ว่า ถ้าไม่ผ่าให้ เขาก็ต้องตาย ผ่าช้าไป เขาก็จะพิการ เราคิดได้อย่างนั้นก็ลุกขึ้นไปผ่าตัดให้ เมื่อคนไข้ออกจากไอ.ซี.ยู.แล้ว เราเห็นญาติเขามาเฝ้า ลูกเมียเขามาเยี่ยม เราก็ฉุกคิดได้ว่า ถ้าเราเอาแต่ว่าเขา แล้วใครจะเลี้ยงลูกของเขา ความคิดนี้ช่วยเติมพลังให้เรามีกำลังช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป”

 

คุณหมอนำธรรมะมาใช้ในชีวิตอย่างไรบ้าง

“ ต้องขอออกตัวก่อนว่า หมอไม่ค่อยได้เข้าวัดเข้าวา สวดมนต์ก็ไม่ค่อยได้สวด ตั้งแต่เด็กมา เวลาสวดมนต์จะไม่เข้าใจว่าบทสวดแปลว่าอะไร แต่พอจะเข้าใจธรรมะบ้างในตอนที่พระท่านเทศน์เป็นภาษาไทย

“ เวลาโมโห เหนื่อย หรือว่าท้อ หมอจะรู้สึกหงุดหงิดบ้าง อย่างตอนที่สั่งยาแล้วพยาบาลทำอะไรไม่ถูกใจ เราจะว่าเขาไปบ้าง แต่คิดได้ว่า ว่าเขาไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เราจะเหนื่อยเปล่า ๆ  (หัวเราะ) และอาจทะเลาะกัน เพราะพยาบาลเขาก็ช่วยงานเรา จึงยึดหลักของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ”

 

มีเคสผู้ป่วยที่ประทับใจที่สุดไหม

“ เคสที่ประทับใจที่สุดของหมอคือ ผู้ป่วยที่เป็นผู้ชายวัย 60 กว่าปี คุณลุงมีอาการกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท และอาการของโรคนี้คือเดินไม่ได้ เขาไปหาหมอมาหลายที่แล้ว แต่เขากลัว สุดท้ายเขาก็เดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็นอย่างเดียว เวลาไปห้องน้ำก็ต้องอุ้มไป คือคุณลุงป่วยมานานมาก ถ้าไม่ผ่าตัดมีหวังนอนติดเตียงแน่  ๆ หมอบอกแกว่า การผ่าตัดก็เสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่หมอจะช่วย พอคุณลุงได้รับการผ่าตัดแล้วแกอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถเดินได้ด้วยวอล์คเกอร์ จากนั้นก็เดินได้ด้วยตนเอง อาบน้ำ และกินข้าวได้ด้วยตนเอง มีวันหนึ่งหมอนั่งตรวจคนไข้อยู่ที่ โอ.พี.ดี. คุณลุงเดินถือผ้าไตรมาหา เราเห็นก็ทักแกว่า ‘คุณลุงเป็นอย่างไรบ้างคะไม่ได้เจอกันตั้งนาน’ คุณลุงบอกว่า ‘ผมจะบวชให้คุณหมอครับ’ เราก็ถามแกว่า ‘คุณลุงจะบวชวันไหน’ แกตอบว่า ‘ผมคิดว่าคุณหมองานยุ่งไม่สามารถไปวัดได้แน่ ๆ ไม่อยากรบกวนเวลาคุณหมอ ผมเลยถือบทสวดมาให้คุณหมอสวดกับผ้าไตรนี้’ (ยิ้ม) ”

 

 

ความฝันของคุณหมอในตอนนี้คืออะไร

“ อยากให้โรงพยาบาลยะลา เป็นโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยระบบประสาทสมองในสามจังหวัดภาคใต้ เพราะเท่าที่หมออยู่ที่นี่มา  10 กว่าปี ยังมีผู้ป่วยมุสลิมบางส่วนไม่ยอมรักษา หรือว่าไปรักษากับหมอชาวบ้าน หรือบอกว่าโรคนี้เกินกำลังของโรงพยาบาลยะลา ต้องส่งผู้ป่วยข้ามเขตไปรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เราจึงอยากให้โรงพยาบาลยะลามีศักยภาพมากขึ้น อยากให้น้องหมอ ประสาทศัลยแพทย์ที่มาอยู่ด้วยกันใหม่ ๆ อยู่กันนาน ๆ และมีทีมที่แข็งแกร่ง สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจะได้ดีขึ้นด้วย ”

 

ความสุขของคุณหมอคืออะไร

ความสุขคือการที่ได้เห็นผู้ป่วยหายจากโรคที่มาหาหมอ ได้กลับไปใช้ชีวิตโดยที่ไม่เป็นภาระใคร ได้เป็นตัวของตัวเอง แล้วก็สามารถอยู่กับครอบครัวได้ ”

 

เรื่อง : แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช

เรียบเรียง : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์

ภาพ : สำนักพิมพ์อมรินทร์

ติดตามอ่านบทความซีเคร็ตล่าสุดได้ที่ >>> Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ 

นุ่น-ต๊อด ทำบุญกฐิน สร้างอุโบสถวัดทางภาคเหนือ มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ และทุนการศึกษาให้กับ 7 โรงเรียน 

ดั่งกันและกัน บทความดี ๆ สื่อถึงความประทับใจของผู้ป่วยจาก นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกำพล

อายุไม่ได้เป็นเพียงตัวเลข บทความชวนคิดจาก นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกำพล

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.