พิยุช เทวารี

พิยุช เทวารี นักบุกเบิกผู้ปฏิวัติท้องถนนอินเดียให้เป็นสีขาว

“อินเดีย” เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดในโลก

ประมาณกันว่า ในทุก ๆ 13 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างน้อย 1 ราย

พิยุช เทวารี (Piyush Tewari) เป็นคนหนึ่งที่ต้องสูญเสียน้องชายไปด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อ พ.ศ. 2550 บนถนนสายหนึ่งในเมืองเดลี แม้การจากไปของเด็กหนุ่มอนาคตไกลคนนี้จะสร้างความโศกเศร้าอาลัยให้ครอบครัวและโรงเรียนอย่างมาก แต่นั่นก็ยังไม่มากเท่ากับความจริงที่ทางโรงพยาบาลเปิดเผยว่า ถ้าเด็กหนุ่มมาถึงมือหมอ “เร็ว” กว่านี้สักนิด ก็ยังพอมีโอกาสรอดอยู่บ้าง เพราะบาดแผลของคนเจ็บไม่ได้หนักหนาอะไร จะมีก็แต่การเสียเลือดมากเท่านั้นที่ทำให้ร่างกายคนเจ็บต้านทานไม่ไหว

พิยุช เทวารี

แรก ๆ เหตุผลนี้ฟังดูคล้ายกับการปัดความรับผิดชอบของทางโรงพยาบาล แต่ทว่าเมื่อพิยุชได้ตรึกตรองถึงการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ ประกอบกับประสบการณ์การสัญจรบนท้องถนนอินเดียตลอดชีวิต 26 ปีที่ผ่านมาของตัวเขาเอง จากคำบอกเล่าจากเพื่อนฝูง คนรู้จัก ไม่นานนักเขาก็ได้คำตอบอย่างชัดเจนว่า

อินเดียไม่มีหน่วยกู้ภัย ไม่มีหน่วยช่วยเหลือฉุกเฉินเหมือนในอเมริกา ยุโรป หรือเมืองใหญ่ ๆ ในเอเชีย จะมีก็เพียง “ตำรวจจราจร” ที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้รวดเร็วที่สุด ทั้งนี้กว่าจะลำเลียงคนเจ็บส่งโรงพยาบาลได้แล้วเสร็จก็ใช้เวลาไปไม่น้อยกว่า 1 – 2 ชั่วโมง

“เวลา” จึงมีผลอย่างยิ่งในการชี้เป็นชี้ตายคนเจ็บแต่ละราย ดั่งที่ภาษานักกู้ภัยเรียกกันว่า “ชั่วโมงทอง” เพราะยิ่งได้รับความช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากเท่าไร โอกาสที่คนเจ็บจะรอดชีวิตหรือรอดพ้นจากภาวะทุพพลภาพก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้พิยุชจึงร่วมมือกับเพื่อน ๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกันก่อตั้งองค์กรทำประโยชน์แก่สังคมและไม่แสวงหาผลกำไร ภายใต้ชื่อ “Save Life Foundation” หรือ SLF ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานกู้ชีพและช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ณ กรุงเดลี

พิยุช เทวารี

ภายใต้ความร่วมมืออย่างดีจากภาครัฐ ได้แก่ หน่วยงานตำรวจ โรงพยาบาล ภาคเอกชน บริษัท ห้างร้าน ผู้ประกอบการต่าง ๆ การดำเนินงานของ SLF จึงเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วสมดังความตั้งใจของพิยุช ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น การห้ามเลือด การดึงสัญญาณชีพกลับมา (ปั๊มหัวใจ) การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ให้แก่ตำรวจจราจรกว่า 1,400 นาย อาสาสมัคร และผู้สนใจกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงการระดมทุนจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ การจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อให้สอดรับกับการเข้าถึงแต่ละพื้นที่ที่เกิดเหตุ เช่น รถมอเตอร์ไซค์ รถจี๊ป จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นจึงประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนรู้จักและเข้าใจการทำงานของ SLF

พิยุช เทวารี

ด้วยการปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งและมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ SLF ทุกคน ในที่สุดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในกรุงเดลีก็ลดลงมากถึง 1,000 รายในแต่ละปี และมีแนวโน้มจะลดลงไปได้อีกในอนาคต

สำหรับพิยุชแล้ว แม้ SLF จะประสบความสำเร็จด้วยดี แต่กระนั้นก็ยังเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ไม่ถือเป็นการแก้ไขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่พิยุชและ SLF ต้องการก็คือ การรณรงค์และผลักดันให้ถนนทุกสายในอินเดียเป็นถนนปลอดอุบัติเหตุหรือเป็นถนนสีขาวอย่างแท้จริงในอนาคต

ทุกวันนี้แม้สิ่งที่พิยุช เทวารี ทำจะไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการ “ผลักดัน” ให้อินเดียก้าวขึ้นสู่ทำเนียบประเทศอุตสาหกรรมแนวหน้าโดยตรง แต่อย่างน้อยเรื่องเล็ก ๆ ที่พิยุชทำก็มีส่วนช่วยให้คนอินเดียมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนำไปสู่รากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

พิยุช เทวารี ได้รับรางวัล Rolex Awards for Enterprise: Young Laureates Programme 2009 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้นักบุกเบิกรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 30 ปี ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความมุ่งมั่นและสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคม

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  ปาปิรัส

ภาพ   time.com, en.wikipedia.org, news.harvard.edu, echoinggreen.org, thebetterindia.com

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

เพิ่งรู้ว่า ชีวิตตัวเองมีค่า – เรื่องเล่าจากผู้อ่าน

สัปเหร่อหญิงใจบุญ ช่วยทำศพ 9 วัด ไม่รับค่าจ้างมานานกว่า 20 ปี

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.