ส่าหรีสีชมพู

Heroine in Pink Sari วีรสตรีในชุดส่าหรีสีชมพู

“เธอ” สวมอาภรณ์แห่งความกล้า ส่าหรีสีชมพู ดูอ่อนหวาน แววตากล้าแกร่งแฝงอหังการ เพื่อสร้างตำนานศักดิ์ศรีสตรีอินเดีย

สัมพัต ปาล เทวี (Sampat Pal Devi) ผู้ก่อตั้งแก๊งกัลลาบิ (Gulabi แปลว่า สีชมพู) หรือแก๊งส่าหรีสีชมพู คือ “เธอ” คนนั้น…คนที่จะไม่ยอมให้ผู้หญิงอินเดียถูกกดขี่อีกต่อไป

สัมพัต ปาล เทวี เป็นลูกสาวคนเลี้ยงแกะแห่งเมืองบันดา (Bunda) รัฐอุตตรประเทศ ดินแดนที่ขึ้นชื่อว่ายากจนที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย

ส่าหรีสีชมพู

ชีวิตวัยเด็กของสัมพัต ปาล เทวี ก็ไม่ต่างจากเด็กหญิงชาวอินเดียทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ไปโรงเรียนเหมือนเด็กผู้ชาย แต่ถึงกระนั้นสัมพัต ปาล เทวี ก็ไม่ได้เหนื่อยหน่ายหรือสิ้นหวังในชีวิต เธอหาทางเล่าเรียนด้วยตัวเองอย่างถึงที่สุด อาศัยถามไถ่บทเรียนจากพี่ชายและน้องชายบ้าง ฝึกอ่านฝึกเขียนโดยใช้กำแพงบ้านเป็นกระดานดำ หรือไม่ก็หัดคัดลายมือโดยการเขียนตัวอักษรลงบนกล่องกระดาษเปื้อนฝุ่นบ้าง

แต่เชื่อหรือไม่ว่า การเรียนอันแสนอัตคัดเช่นนั้นกลับเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตของสัมพัต ปาล เทวี ไม่ไร้การศึกษาจนถึงกับสิ้นไร้ไม้ตอก

ขณะที่สตรีคนอื่นใช้ชีวิตอยู่ใต้ร่มเงาของสามี สัมพัต ปาล เทวี กลับลุกขึ้นก้าวเดินด้วยขาของตัวเอง

ความรู้ความสามารถทำให้สัมพัต ปาล เทวี ได้งานทำในตำแหน่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่เธอทำงานอยู่ได้ไม่นานก็ลาออก ด้วยเหตุผลแห่งอุดมการณ์ว่า…

“ฉันต้องการทำงานเพื่อมวลชน ไม่ใช่เพื่อตัวเอง ที่สำคัญ ฉันได้สร้างเครือข่ายสตรีที่ต้องการปกป้องสิทธิของตนเองไว้แล้วด้วย”

ท่ามกลางข่าวการทำร้ายและกดขี่ผู้หญิงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมอินเดีย เครือข่ายนักเรียกร้องสิทธิสตรีนามว่ากัลลาบิ หรือแก๊งส่าหรีสีชมพูก็เกิดขึ้น โดยมีสัมพัต ปาล เทวี เป็นผู้นำ

ส่าหรีสีชมพู

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หากพื้นที่ใดมีการทำร้ายสตรี กดขี่ทางเพศ หรือแม้แต่มีประชาชนคนใดได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ หญิงในชุดส่าหรีสีชมพูนับร้อยคนจะลุกขึ้นมาต่อต้านและประณามการกระทำดังกล่าวอย่างไม่เกรงกลัว

ครั้งหนึ่งเคยมีผู้หญิงเข้ามาหาสัมพัต ปาล เทวี ทั้งน้ำตา หญิงสาวคนนั้นถูกสามีทอดทิ้งหลังจากแต่งงานและได้ค่าสินสอดจากเธอไปถึงสองหมื่นรูปี ครั้งนั้นบรรดาสมาชิกส่าหรีสีชมพูนับร้อยชีวิตพร้อมใจกันเดินขบวนไปยังบ้านผู้ชายใจร้ายคนนั้น พร้อมกับยื่นคำขาดว่า

“ถ้าไม่รับเธอกลับไปดูแลให้ดี พวกเราจะกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับมาตรการขั้นเด็ดขาด”

แม้มือไม้ยังคงบอบบาง แม้เรือนร่างยังคงงามอรชร แต่สตรีในชุดส่าหรีสีชมพูเหล่านั้นกำลังประกาศให้โลกรู้ว่า…ต่อแต่นี้ สตรีไม่ใช่ผู้ยอมจำนนอีกต่อไป

“ผู้ชายไม่มีน้ำยาพอจะเงื้อมือใส่ฉันหรอก ฉันจะซัดเขาเข้าให้เหมือนกัน ถ้าผู้หญิงเราเอาจริงขึ้นมา เชื่อเถอะว่า เราสามารถทำให้ผู้ชายกลับไปอยู่ในที่ที่เขาควรอยู่ได้ไม่ยาก”

ปัจจุบันแก๊ง ส่าหรีสีชมพู มีสมาชิกเป็นผู้หญิงนับร้อย ๆ คน อีกทั้งยังมีแฟนคลับเป็นผู้ชายที่ชื่นชมปฏิบัติการสีชมพูนี้อยู่ไม่น้อย และแน่นอนว่า ขณะที่โลกกำลังต้องการทั้งเสรีภาพและความเสมอภาค สิ่งที่สัมพัต ปาล เทวี และแก๊งส่าหรีสีชมพูกำลังต่อกรด้วยคงไม่ใช่เพียงการกดขี่สตรีเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการต่อสู้และต่อต้านการกดขี่ข่มเหงในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย

ส่าหรีสีชมพู

“พวกเราไม่ใช่แก๊งในความหมายทั่วไปหรอก แต่เราเป็นแก๊งเพื่อความยุติธรรม”

นี่คือคำกล่าวของสัมพัต ปาล เทวี นักเรียกร้องสิทธิสตรีชาวอินเดีย ผู้มักปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนในชุดส่าหรีสีชมพู

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Isaraporn_B

ภาพ  เฟซบุ๊ก Sampat Pal Devi

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

สัปเหร่อหญิงใจบุญ ช่วยทำศพ 9 วัด ไม่รับค่าจ้างมานานกว่า 20 ปี

สองพี่น้องเด็กหญิงยอดกตัญญูขายก๋วยเตี๋ยวสูตรตัวเองเลี้ยงคุณย่า

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.