ทำทานเพื่ออะไร

ทำทานเพื่ออะไร และทานแบบใดที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง : พระไพศาล วิสาโล

ทำทานเพื่ออะไร และทานแบบใดที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง : พระไพศาล วิสาโล

หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องการทำทานมาไม่มากก็น้อย แต่เชื่อว่าหลายคนจะเข้าใจเรื่องการทำทานอย่างถ่องแท้มากขึ้น จะได้ทราบว่า ทำทานเพื่ออะไร ทำแล้วได้อะไร จากทรรศนะของพระไพศาล วิลาโล เพื่อเป็นความประดับสติปัญญาทางธรรม เพื่อให้การทำทานครั้งต่อไปกลายเป็นการทำทานที่แท้จริง

เปลือกนอกของศาสนามันก็มีประโยชน์อยู่ แต่อย่าไปยึดติดจนกระทั่งลืมสิ่งที่เป็นสาระ นั่นคือเรื่องการพัฒนาชีวิตจิตใจ แม้แต่การท่องหลักธรรม เช่น อริยสัจ 4 พรหมวิหาร 4 มรรค 8 ฯลฯ

หลายท่านไปเน้นตรงนี้ เข้าใจว่าต้องท่องให้ได้ ถึงจะรู้ศาสนา ถึงจะเข้าใจศาสนา ความจริงการท่องหลักธรรมให้ได้นั้น ไม่สำคัญเท่ากับการไปปฏิบัติธรรมหรือเปล่า บางคนท่องไม่ได้ อย่างชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ เขาท่องไม่ได้ แต่ว่าชีวิตของเขาสอดคล้องกับธรรมะ นั่นคือมีการให้ทานเป็นชีวิตจิตใจ ขอทำความเข้าใจคำว่า “ทาน”

 

ภาพจาก www.pexels.com

 

เพราะทุกวันนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการ “ทำทาน” ใช้กับพระสงฆ์ไม่ได้ กับพระต้องเรียกว่า “ทำบุญ” ทำทานต้องใช้กับคนจน ใช้กับสัตว์ ก็เกิดจากการเข้าใจกันไปอย่างนี้ จะถวายพระ จะให้สัตว์ ให้คนจน ก็คือทาน ไม่อย่างงั้นไม่มีคำว่า “สังฆทาน”

สังฆทานก็บอกในตัวอยู่แล้วว่าคือทานที่ถวายสงฆ์ เดี๋ยวนี้เกิดจากรังเกียจคำว่าทาน เพราะคิดว่าการให้ทานคือการให้คนจน เมื่อใช้ทานกับพระ ก็เลยนึกว่าไม่เหมาะสมเป็นการไม่ให้เกียรติ อันนี้เป็นความไขว้เขว้ที่แพร่หลาย เดี๋ยวนี้ความหมายเพี้ยนไปกระทั่งเอาคำว่า “ทาน” ใช้แทนคำว่า “กิน” อาหาร

การกินอาหารคือการรับเอาอาหารใส่ท้อง ซึ่งเป็นความหมายที่ตรงข้ามกับทาน ทานคือการสละ ไม่ใช่เอาเข้าตัวหรือเอาใส่ท้อง ไป ๆ มา ๆ คำว่าทาน แทนที่จะแปลว่า “ให้” กลับถวายเป็นแปลว่า “รับ” ทีนี้มาพิจารณาว่าการให้ทานนั้นทำเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อรวย ไม่ใช่เพื่อถูกหวย ไม่ใช่เพื่อจะได้ไปสวรรค์

 

ภาพจาก www.pexels.com

 

คนมักเข้าใจว่าให้ทานหรือการทำบุญ เหมือนกับเป็นการสะสมคูปองแลกของสมนาคุณ สะสมบุญมากก็เหมือนกับการสะสมคูปองหรือสะสมคะแนนมาก ๆ แล้วก็ไปแลกโทรทัศน์ ไปแลกเอารถยนต์ เข้าใจกันอย่างนี้ก็กลายเป็นเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทานที่พระองค์ไม่สรรเสริญก็คือ “ทานที่ยังมีจิตเยื่อใย” หมายถึงการทำทานที่ยังมีจิตเยื่อใยหรือมีจิตผูกพันให้ไปแล้วก็ยังผูกพันกับของนั้น

ลองสังเกตดูง่าย ๆ ตามวัด โรงเรียน โรงพยาบาล ของใช้ต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ประตู หน้าต่าง หรือ แม้แต่ใต้จาน มักมีการเขียนชื่อผู้บริจาคไว้ด้วย เพื่อประกาศเกียรติคุณ การทำทานแบบนี้เป็นการให้ที่พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ เพราะว่ามันยังเจือด้วยกิเลส หรือเวลาถวายอาหารให้กับพระสงฆ์ ก็คอยดูว่าพระจะฉัน “ของเรา” หรือเปล่า

 

ภาพจาก www.pexels.com

แสดงว่ายังยึดว่าอาหารนี้เป็นของฉัน ยังมีเยื่อใยในอาหารนั้นอยู่ เวลาถวายพระหรือให้ของใครก็ตาม ก็ต้องให้จริง ๆ ไม่มีของเราอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเงิน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ถ้าวางใจอย่างนั้นถึงจะเป็นการให้ทานที่แท้จริง การทำบุญทำทาน ก่อให้เกิดประโยชน์ในการอยู่ร่วมกัน ทำให้คนเรารู้จักแบ่งปันเกื้อกูลกัน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “นอกจากการแบ่งปันกันแล้วมนุษย์หามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่” มนุษย์เราจะอยู่ร่วมกันได้ดี ต้องมีการแบ่งปัน เพราะการแบ่งปันหรือการเสียสละ นอกจากมีประโยชน์ต่อผู้อื่นแล้ว ยังมีคุณค่าต่อตัวเองด้วย นั่นก็คือการลด-ละกิเลส ลด-ละความเห็นแก่ตัว

 

ที่มา : มีสิทธิ์ มีสุข โดย พระไพศาล วิสาโล

ภาพ : www.pexels.com


บทความน่าสนใจ

ทำงานได้อย่าง มด และมีความสุขได้อย่าง ตั๊กแตน นิทานอีสป สะท้อน ความสุขกับปัจจุบัน

อานนทเศรษฐี คนรวย ผู้กลับชาติมา เกิดเป็น ขอทาน

เวเทหิ หญิงงาม ผู้เสียชื่อเพราะ ความโกรธ นิทานธรรมะจากพระโอษฐ์

สมเด็จย่า กับความสนพระราชหฤทัย เผยแผ่ธรรมะ เป็น ธรรมทาน – Secret

ถอยหลัง เพื่อก้าวไปข้างหน้า นิทานธรรม สอนใจให้ มีปัญญา

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.