คบคนดี

ทำไมถึงต้องคบคนดีเป็นมิตร บทความธรรมะดี ๆ สอนการใช้ชีวิต โดย ส.ชิโนรส 

ทำไมถึงต้อง คบคนดี เป็นมิตร บทความธรรมะดี ๆ สอนการใช้ชีวิต โดย ส.ชิโนรส

ทำไมพระอาจารย์มหาสุภา ชิโนรโส หรือนามปากกาของท่านคือ “ส.ชิโนรส” จึงเสนอว่า ต้อง คบคนดี เป็นมิตร  คำตอบเรื่องนี้คงรอทุกคนอยู่ในบทความนี้แล้ว

ก่อนตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็นมหาเศรษฐีชีวิตมั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง วันหนึ่ง มหาเศรษฐีได้พิจารณาเห็นว่า ทรัพย์สินเงินทองไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน ให้ความสุขได้ชั่วครู่ชั่วยาม เมื่อจากโลกนี้ไปก็ต้องทิ้งทุกอย่าง เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ พิจาณาได้อย่างนั้น มหาเศรษฐีจึงนำทรัพย์สมบัติทั้งหมด ออกแจกจ่ายให้เป็นทาน แล้วเข้าป่าไปบวชเป็นฤาษีมีนามว่า อกิตติ แปล่า ฤาษีนิรนาม

ตั้งแต่วันที่บวช ท่านฤาษีนิรมานก็ได้ลงมือบำเพ็ญตบะอย่างอุกฤษฏ์ เป็นผู้มักน้อยสันโดษอย่างยิ่ง อาศัยอยู่ใต้ต้นหมากเม่าต้นหนึ่ง ยามต้นผลิผลก็ฉันแต่ผล ยามต้นสลัดใบเหลือแต่ดอก ก็ฉันแต่ดอก ไม่ออกไปแสวงหาอดิเรกลาภที่ไหนอีก

ด้วยอำนาจตบะที่แรงกล้าของฤาษีนิรนาม บัลลังก์ท้าวสักกะ หรือ พระอินทร์ก็ร้อน พระองค์ได้ตรวจดูความเป็นไปทั้งหมดก็ทราบเหตุ จึงเสด็จมาเพื่อตรัสถามเหตุผลการบำเพ็ญตบะอย่างอุกฤษฏ์

พระอินทร์ได้ทดสอบความมักน้อยสันโดษของฤาษีถึง 3 ครั้ง ทรงจำแลงเพศเป็นนักบวชที่น่าศรัทธาเลื่อมใส เข้าไปขออาหารกับฤาษีถึง 3 วัน เมื่อทราบว่าท่านได้เสียสละสิ่งที่ตัวเองฉันทั้งหมด ไม่เห็นแก่ความหิวกระหายแม้แต่น้อย นั่งสมาธิอดอาหารทั้งสามวัน พระอินทร์ก็เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าในท่านฤาษี

ในวันที่ 4 พระอินทร์จึงเข้าไปตรัสถามเจตนาที่แท้จริงของการบำเพ็ญตบะที่อุกฤษฏ์เช่นนี้ว่า “ท่านฤาษีผู้ทรงตบะ เหตุไฉนท่านถึงไม่เห็นแก่ความหิว กระหายแม้แต่น้อย เอาแต่บำเพ็ญตบะอย่างอุกฤษฏ์อย่างเดียว”

ฤาษีตอบว่า “ดูกรสมณะผู้เจริญ ข้าบำเพ็ญตบะอย่างอุกฤษฏ์เช่นนี้ ไม่ต้องการสิ่งของนอกตัวแต่อย่างใด ขอเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ เกิดชาติไหนก็อย่าได้คบค้าสมาคมกับคนเลว” ด้วยความฉงนที่ได้ฟังดังนั้น พระอินทร์จำแลงจึงตรัสถามว่า

“ท่านฤาษีผู้ทรงตบะ คนเลวคงสร้างความเจ็บแค้นเป็นที่สุดแก่ท่านสินะ หรือคนเลวคงทำความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิตท่านกระมัง ท่านถึงจงเกลียดจงชังคนเลวนัก”

ฤาษีตอบว่า “ดูกรสมณะผู้เจริญ คนเลวหาได้สร้างความเจ็บแค้นใจ หรือความเสียหายที่ร้ายแรงแก่ข้าไม่”

“อืม ถ้าอย่างนั้นทำไมท่านถึงได้ลงเกลียดจงชังคนเลวนักเล่า” พระอินทร์จำแลงตรัสถามด้วยความสงสัยมากยิ่งขึ้น

“ดูกรสมณะผู้เจริญ ที่ข้าไม่ต้องการคบค้าสมาคมกับคนเลวก็ด้วยสาเหตุว่า สิ่งที่คนเลวทำนั้น มีทั้งชี้แนะสิ่งที่ไม่ควรชี้แนะไม่พูดให้เกิดความเชื่อมั่น มีวินัย และปัญญา แนะนำทางผิด พูดจริงก็โกรธ และไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ”

พระอินทร์จำแลงถามต่อว่า “ถ้าอย่างนั้นแล้ว ท่านบำเพ็ญตบะอย่างอุกฤษฏ์อย่างนี้เพื่ออะไรกันแน่”

ฤาษีตอบว่า “ดูกรสมณะผู้เจริญ เกิดชาติไหนขอให้ข้าได้คบค้าสมาคมกับแต่คนดี”

“ท่านฤาษีผู้ทรงตบะกล้า ทำไมท่านถึงต้องการอย่างนั้น คนดีทำอะไรหนักหนาให้แก่ท่านนะ” พระอินทร์จำแลงถามอีก คำตอบที่ฤาษีนิรนามให้แก่พระอินทร์จำแลงคือ “สิ่งที่คนดีทำนั้น มีทั้งชี้แนะสิ่งที่ควรชี้แนะ พูดจูงใจให้เกิดความเชื่อมั่น มีวินัย และปัญญา แนะนำทางถูก พูดจริงก็ไม่โกรธ และรู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ”

ได้ยินดังนั้น พระอินทร์ก็ทรงเลื่อมใสฤาษีนิรนามอย่างแรงกล้า ได้เปิดเผยพระองค์ที่แท้จริงแก่ท่านฤาษี พร้อมกับประทานพรให้ความหวังและความต้องการของท่านฤาษีสำเร็จโดยเร็วพลัน

คนดี-คนเลว หลายคนตีความหมายหลายอย่าง ดีสำหรับฉันอาจจะเลวสำหรับเธอ ดีสำหรับเธออาจจะเลวสำหรับฉันคนแต่ละเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมต่างมองความดีและความเลวต่างกัน

พุทธศาสนาวัด ดีหรือเลว ที่ความคิด คำพูด และการกระทำ พุทธศาสนาจะไม่ใช้คำว่า “ดี” แต่ใช้คำว่า “ถูก” หรือ “สัมมา” เป็นตัววัดคนดี คนดีทางพุทธศาสนาจึงเป็นคนที่คิด-พูด-ทำถูก คำว่า “ถูก” หรือ คิด-พูด-ทำด้วยโลภ-โกรธ-หลง เรียกว่า “ผิด” แม้บางครั้งผลที่เกิดจากการกระทำด้วยโลภ-โกรธ-หลงจะให้ความรู้สึกสนุกสนานและเพลิดเพลิน แต่ก็เพียงแค่ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายแล้วมักจะจบลงด้วยความทุกข์เสมอ

ฉะนั้น คนดีอย่างพุทธศาสนาคือคนที่คิด-พูด-ทำด้วยสติปัญญา ส่วนคนเลวคือคนที่คิด-พูด-ทำด้วยโลภ-โกรธ-หลง คนดีอย่างพุทธศาสนาจึงไม่ใช่คนมีความรู้สูงอย่างเดียว แต่ต้องมีคุณธรรมกำกับ ฉะนั้น ทำบุญอะไรก็ตาม ควรอธิษฐานอย่างท่านฤาษีนิรนาม ขอให้ข้าได้พบแต่คนดี ขอให้ข้าได้ทำงานร่วมกับคนดี ขอให้ข้าได้อยู่แต่กับคนดี

 

ที่มา :

กรรมรหัสลับที่แก้ได้ โดย ส.ชิโนรส

ภาพ :

www.pexels.com

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.