พระราชดำริ

พระพุทธศาสนาในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

พระพุทธศาสนาใน พระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

ตลอดพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาทต่อพสกนิกรมากมาย ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรที่หมู่เหล่า พระองค์ทรงเป็นธรรมราชาพระองค์หนึ่งเลยก็ว่าได้ พระองค์ทรงมี พระราชดำริ ต่อพระพุทธศาสนาซึ่งปรากฏในพระราชดำรัสเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ ณ สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2518 ดังนี้

 

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ปฏิบัติเพื่อความสุข

พระพุทธศาสนา ชี้ทางดำเนินชีวิตปราศจากโทษ ช่วยให้เกิดความเจริญร่มเย็นได้อย่างแท้จริง เพราะมีคำสั่งสอนที่มีลักษณะพิเศษ ประเสริฐ ในประการที่อาศัยเหตุผลอันถูกต้องเที่ยงตรงตามความเป็นจริงพื้นฐาน และแสดงคำอธิบายที่ครบถ้วนชัดเจน อันบุคคลสามารถใช้ปัญญาไตร่ตรองตาม และหยิบยกขึ้นปฏิบัติเพื่อความสุขความเจริญและความบริสุทธิ์ ได้ตามความสามารถและอัธยาศัยของตน จึงเป็นศาสนาที่เข้ากับหลักวิทยาศาสตร์ และเป็นประโยชน์ได้แท้จริงแก่ทุกคนที่จะพอใจหันเข้ามาศึกษาเลือกสรรหัวข้อธรรมที่เหมาะสมไปปฏิบัติ

 

พระราชดำริ

 

พระพุทธศาสนาคือสิ่งที่สร้างเสริมศีลธรรม และจริยธรรม

การที่ท่านทั้งหลายจะทะนุบำรุงส่งเสริมเผยแผ่ให้แพร่หลาย มั่นคงควรจะได้ยึดเหตุผลเป็นหลักการ เลือกเฟ้นนำข้อธรรมะที่เหมาะแก่เหตุการณ์แก่บริษัท และแก่บุคคล มาชี้แจงให้ถูกต้องตรงตามเนื้อแท้ของธรรมะนั้น ๆ พร้อมทั้งแสดงการกระทำที่มีเหตุผล และมีความบริสุทธ์ให้เป็นตัวอย่างด้วยตนเองให้ครบถ้วน การบำรุงพระพุทธศาสนาตลอดจนการสร้างเสริมศีลธรรม จริยธรรมทั้งในผู้ใหญ่ ผู้เยาว์ของท่าน จึงจะบรรลุผลที่น่าพึงพอใจได้

 

พระพุทธศาสนาสอนเรื่องเหตุและผล

พระพุทธศาสนา ถึงแม้ปัจจุบันนี้จะมีหลายนิกาย แต่ก็ยึดหลักธรรมอันเป็นแก่นแท้อย่างเดียวกัน คือถือว่าธรรมทั้งหลายทั้งสิ้นเกิดแต่เหตุ เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล ไม่มีสิ่งใดอยู่เหนือเหตุและผล นอกจากนั้นยังถือว่าการแผ่เมตตา สงเคราะห์เกื้อหนุนกัน เป็นกรณียกิจสำคัญในการจรรโลงความสงบสุขของชาวโลก

พระพุทธศาสนา ชี้ทางดำเนินชีวิตที่ปราศจากโทษ ช่วยให้เกิดความเจริญร่มเย็นได้อย่างแท้จริง เพราะมีคำสอนที่มีลักษณะพิเศษ ประเสริฐ ในประการที่อาศัยเหตุผลอันถูกต้องเที่ยงตรงตามความเป็นจริง เป็นพื้นฐาน เป็นประโยชน์ที่แท้จริงแก่ทุกคน

 

พระราชดำริ

 

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความจริง 

พระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะพิเศษ ประเสริฐ ในการที่อาศัยเหตุอันเที่ยงแท้ตามความจริงเป็นพื้นฐาน และหยิบยกขึ้นปฏิบัติเพื่อความสุขความเจริญ และความบริสุทธิ์ได้ตามวิสัยของตน จึงเป็นศาสนาที่เข้ากับหลักวิทยาศาสตร์

พระพุทธศาสนาบริบูรณ์ด้วยสัจธรรมที่เป็นสาระและประโยชน์ในทุกระดับ แต่จะต้องศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ภาวะปัจจุบัน ด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง จึงจะเกิดประโยชน์ขึ้นได้

 

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเพื่อสังคม 

ธรรมะในพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่แสดงสัจธรรมความแท้จริงของสภาวธรรมทุกสิ่ง ดังนั้นถึงหากสังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ไม่เกินไปกว่าที่ชาวพุทธจะพิจารณารู้เท่าทันได้ เมื่อได้ปฏิบัติอยู่ในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยถูกต้องมั่นคงแล้ว ความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในสังคมก็ไม่ใช่เหตุที่ควรวิตกอีกต่อไป

ทุกคนที่ถือตัวว่าเป็นชาวพุทธจะต้องสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาตามภูมิปัญญา ความสามารถ และโอกาสที่ตนมีอยู่ เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจที่กระจ่างถูกต้อง พระพุทธศาสนาก็จะมั่นคงขึ้นได้

 

ที่มา : พ่อของแผ่นดิน โดย ธรรมสภา

ภาพ : นิตยสาร Secret ปีที่ 4 (2554)


บทความน่าสนใจ

เหตุการณ์ความประทับใจของลูกศิษย์หลวงพ่อคูณ ครั้ง ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินวัดบ้านไร่

วิธีฝึกปฏิบัติสมาธิ ในแบบฉบับของในหลวง ร.9

การฝึกสติ “พละ ๕ คือกำลังหนุนจิต” – พระราชหฤทัยจากในหลวงรัชกาลที่ ๙

3 เรื่องเล่าในหลวง จากองคมนตรี…ความทรงจำประทับใจที่ไม่มีวันลบเลือน

พระปุจฉา – วิสัชนาธรรมระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ หลวงปู่ฝั้น อาจารโร

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.