วิธีการแก้ปัญหาการทำงาน

วิธีการแก้ปัญหาการทำงานที่ดีที่สุดคือ การพาตัวเองไปอยู่ในงานนั้น

วิธีการแก้ปัญหาการทำงาน ที่ดีที่สุดคือ การพาตัวเองไปอยู่ในงานนั้น

หากจะทำงาน เราจำเป็นต้องมี วิธีการแก้ปัญหาการทำงาน การจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องมองดูงานอย่างละเอียด กล่าวคือ เราต้องมองให้เห็นถึงปัญหาและเมื่อมองเห็นปัญหาแล้วก็พาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้น

 

นี่หมายความว่าอย่างไรกันนะ

คนเราจะขยับตัวเท่าที่จำเป็น นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองกล่าวว่า แม้สมองเราจะมีความสามารถแบบไร้ขีดจำกัด แต่มักจะขี้เกียจ หมายความว่าสมองจะแสดงความสามารถระดับสุดยอดออกมาเฉพาะตอนที่จำเป็นเท่านั้น แต่ในเวลาปกติก็จะทำตามที่เคยทำมา

และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมคนเราถึงพยายามใช้หัวในแบบที่ไม่เคยใช้ และค้นหาวิธีใหม่ ๆ เจอต่อเมื่อสถานการณ์รีบเร่ง ส่วนใหญ่เมื่อเราได้ทำงานที่ไม่เต็มใจทำเราจะไม่คิดและไม่พิจารณามันอย่างที่ควรจะทำ (พูดกันตรง ๆ ก็คือ ทำงานในแบบที่ไม่เรียกว่าทำงาน) ถ้าทำงานแบบนี้ เราจะมองไม่เห็นว่าปัญหาอยู่ที่ไหน แล้วจะไม่คิดถึงมันด้วย

 

ภาพจาก www.pexels.com

 

แล้วถ้าอยู่ ๆ เพื่อนร่วมงานที่ทำงานเหมือนกับเรากลับค้นพบปัญหา แล้วบอกคนอื่นว่า มันมีปัญหา แถมยังคิดแนวทางแก้ไขเอาไว้ด้วย หลายคนน่าจะเคยอับอาย และเสียหน้า เพราะเพื่อนร่วมงานเช่นนี้มาก่อน แม้จะทำงานเหมือนกัน แต่การรับรู้ของแต่ละคนแตกต่างกัน ซึ่งการรับรู้ที่แตกต่างกันเช่นนี้แหละทำให้คนหนึ่งมองเห็นปัญหาจริง ๆ แต่อีกคนกลับมองไม่เห็นปัญหาอะไรเลย

 

ทำไมถึงแตกต่างกันแบบนี้

พูดง่าย ๆ ก็คือ “ความจำเป็นแตกต่างกัน” ความจำเป็นที่พูดถึงตรงนี้ ไม่ใช่ความหิวโหยแบบมิติเดียว แต่หมายถึงความจำเป็นที่จะต้องค้นหาปัญหาอย่างต่อเนื่องแล้วแก้ปัญหา ซึ่งต้องมีมาตรฐานที่สูงกว่าความคาดหมาย ถ้าไม่จำเป็นเราจะมองไม่เห็นปัญหา แต่บางคนแม้จะมองเห็นปัญหา แต่กลับไม่คิดหาคำตอบ

 

ทำไมล่ะ เพราะรำคาญไง

ถ้าอยากแก้ปัญหาและทำงานให้สมกับเป็นงาน เราจะต้องพาตัวเองมาอยู่ในภาวะจำเป็น แม้จะต้องสร้างขึ้นมาเองก็ตาม เราจึงจะเจอปัญหาและแสดงสติปัญญาออกมาได้

พนักงานหรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่นั้นจะไม่รู้จักพอใจ แต่มักพาตัวเองไปอยู่ในภาวะจำเป็นเสมอ พวกเขาจะสร้างความจำเป็นขึ้นมาเพื่อให้เพื่อนร่วมงาน สังคม หรือไม่ก็ประเทศชาติมีการพัฒนา พวกเขาจะไม่พอใจกับปัจจุบัน แล้วตั้งเป้าหมายใหม่ และท้าทายกับปัญหาใหม่ ๆ ซึ่งพวกเขาจะมีเหตุผลในแบบที่ไม่มีใครคิดถึง

 

ภาพจาก www.pexels.com

 

โค้ชฮยอนจองฮวาผู้ที่เคยได้ชื่อว่า “ราชินีปิงปอง” กล่าวว่า สมัยที่ยังเป็นนักกีฬาอยู่นั้น หลังจากได้เหรียญทองโอลิมปิกแล้ว เธอจะคิดว่า “ต่อไปต้องแข่งอะไร” เป็นอย่างแรก ถ้าเป็นคนทั่วไปก็มักจะคิดว่า “มันจบลงแล้ว” และผ่อนคลายตัวเองลง แต่เธอกลับไม่เคยปล่อยให้ความตื่นตัวของเธอหายไปไหน นั่นทำให้เธอได้รับชัยชนะทั้งแบบกลุ่ม หญิงคู่ คู่ผสม รวมไปถึงการแข่งขันเดี่ยว จนได้รับรางวัลแกรนด์สแลม (คือรางวัลจากการชนะการแข่งขันทุกรายการ)

วิธีที่แน่นอนที่สุดในการสร้างความสำเร็จคือ การตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ เพื่อสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ทั้งในเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิต เมื่อเรามีเป้าหมายใหม่ เราจะมีงานใหม่ ๆ ที่ต้องทำเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ถ้าจุดหมายของเป้าหมายใหม่ชัดเจน เราจะได้รับแรงกระตุ้นและถูกจุดไฟขึ้นมา พอเราพยายามทำตามเป้าหมายนั้น เราจะมองเห็นปัญหาใหม่ ๆ แล้วก็จะเคลื่อนไหวเพื่อหาทางแก้ไขใหม่ ๆ

เป้าหมายไม่ใช่สิ่งที่ใครมาสร้างให้เรา แต่เราจะต้องทิ้งความคิดแบบพึ่งพาที่ว่า เราจะทำตามเป้าหมายของทีมหรือบริษัท แล้วตั้งเป้าหมายที่เราจะท้าทายขึ้นมาเอง ซึ่งต้องอธิบายกับตัวเองให้ได้ว่า เป้าหมายนั้นสำคัญอย่างไร นี่เป็นการสร้างความจำเป็นขึ้นมาเอง เราต้องรู้จักพาตัวเองไปอยู่ในความเร่งด่วน จึงจะเติบโตขึ้นได้แล้วเราจะมองเห็นปัญหาที่ต้องแก้ไขหรืออุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้เป้าหมายนั้นบรรลุผล จากนั้นเราต้องขยับตัวเพื่อหาคำตอบด้วยตัวของเราเอง

 

ภาพจาก www.pexels.com

 

บุคลากรผู้มีความสามารถและฝันอยากเป็นผู้บริหารเพื่อแสดงความสามารถ

ในการบริหารออกมาให้คนประจักษ์นั้นมักจะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในภาวะจำเป็นเสมอ ถ้าคิดแค่ว่า ขอแค่ฉันอยู่ดีกินดีเพียงคนเดียวก็พอแล้วก็ไม่ต้องสร้างความจำเป็นอะไรขึ้นมาก็ได้ แต่เพราะมีเหตุผลและรู้จักคิดถึงผู้อื่น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เห็นได้จากผู้นำที่ยิ่งใหญ่ เราจึงต้องสร้างความจำเป็นขึ้นมากระตุ้นตัวเองด้วยการถามว่า “พอใจแค่นี้หรือ” “นี่คือดีที่สุดแล้วหรือ” และ “ไม่มีวิธีที่ดีกว่านี้แล้วหรือ”

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ที่แฝงไว้ซึ่งความตั้งใจของพนักงานทั้งหมดจึงสำคัญ ถ้าเรามีวิสัยทัศน์เหมือนกัน เราจะทิ้งความเห็นแก่ตัวและร่วมกันคิดว่าทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายได้ เมื่อเห็นว่าวิธีที่ทำเรื่อยมาจนถึงตอนนี้มีขีดจำกัด เราจะหางานใหม่ขึ้นมาทำ โดยค้นหาปัญหาที่จะต้องแก้ไขด้วยตัวเองและกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหานั้น เพื่อเดินไปให้ถึงจุดหมาย

ในบริษัทเองก็เช่นกัน ถ้าตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ ในการบริหารงานขึ้นมาก็จะมีโจทย์ที่ต้องแก้เกิดขึ้น โดยเป็นปัญหาที่จะต้องแก้เพื่อให้เป้าหมายบรรลุผล เช่น ค่าใช้จ่าย กำหนดชำระเงิน คุณภาพสินค้า วิธีจัดการงาน การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ความร่วมมือในการทำงาน และระบบ เป็นต้น

 

ที่มา :คนแพ้มองแต่ปัญหา คนชนะมองหาทางออก โดย คิมซองโฮ

ภาพ : www.pexels.com


บทความน่าสนใจ

ทำงานได้อย่างมด และมีความสุขได้อย่างตั๊กแตน นิทานอีสปสะท้อนความสุขกับปัจจุบัน

คุณลุงรปภ.ใส่ใจคนรอบข้าง รักทุกคนเหมือนญาติ  ทำงานด้วยใจแบบนี้มาร่วม 10 ปี 

โต๊ะทำงานวัดประสิทธิภาพของการทำงานได้อย่างไร

โต๊ะทำงานที่โล่งสบายตาคือ เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ ในการทำงาน ที่คนส่วนใหญ่มองข้าม  

สมาธิภาวนาในขณะทำงาน แนวทางการปฏิบัติของหลวงพ่อชา สุภทฺโท

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.