ลูกถูกรังแก

อภัยได้ไหม…เมื่อลูกถูกรังแก

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนมีคนต้ั้งกระทู้ในเว็บไซต์หนึ่งว่า “หากลูก (วัยอนุบาล) ถูกรังแกต่อหน้าต่อตา คุณจะทำอย่างไร (ลูกถูกรังแก)

ปรากฏว่ามีคุณพ่อคุณแม่ (จะจริงหรือกำมะลอก็ไม่อาจรู้ได้) ต่างเข้ามาโพสต์แสดงความคิดเห็นกันอย่างออกรส  บ้างก็ว่าจะเดินไปตบเด็กที่รังแกลูกให้สาใจ  บ้างก็ว่าจะสอนให้ลูกเอาคืนให้สาสม  บ้างก็ว่าเด็กเ…ยอย่า งนี้ต้องเข้าไปสั่งสอนให้สำนึก   ส่วนใหญ่ความเห็นเป็นเช่นนี้ทั้งนั้น  อ่านแล้วคนเป็นแม่อย่างเราก็สะท้อนใจ

มีพ่อแม่คนไหนย้อนถามตัวเองหรือไม่ว่าลูกเราเคยรังแกคนอื่นหรือเปล่า  แล้วถ้าพ่อแม่เด็กอื่นเห็นลูกเรารังแกลูกเขา  เลยเดินมาตบลูกเราล่ะ  เราจะรู้สึกอย่างไร  เด็กที่รังแกลูกเราต่างก็คือเด็ก  บางทีอาจอยู่ในวัยเดียวกัน  วัยที่ผ่านโลกมาไม่ถึงห้าหรือหกปีด้วยซ้ำ  หรือเด็กที่คุณใช้คำว่า  เด็กเ…ย  อาจทำไปเพียงเพราะต้องการเรียกร้องความรักความสนใจ  อยากเล่นโดยไม่รู้ว่าเล่นแรง ๆ น่ะ  ผู้ใหญ่เขาเรียกว่ารังแก  เด็กที่คุณว่าเกเร  ขี้แกล้ง  อาจทำรุนแรงเพียงเพราะต้องการให้ใครสักคนช่วยอบรมเขาด้วยความเมตตา มากกว่าการเดินเข้าไปใช้ความรุนแรงหรือด่าทอ

ดิฉันเป็นแม่ที่ดูจะเดินสวนทางกับคนอื่นมาตลอด  แม้แต่เพื่อนสนิทยังเคยถามว่าทำไมไม่สอนให้ลูกสู้  จนเกิดเป็นประเด็นให้อรรถาธิบายกันยืดยาว ด้วยความเป็นแม่ รู้ดีค่ะว่าการที่ ลูกถูกรังแก สร้างความเจ็บปวด และทำให้เกิดความโกรธมากแค่ไหน  แต่ดิฉันก็ไม่เคยสอนลูกเลยว่าให้สวนกลับทันทีที่ถูกรังแก  ใช่ว่าใจเป็นแม่พระอะไรหรอกนะคะ  แต่ด้วยตระหนักดีว่า การต่อสู้ที่ดีที่สุดคือการเลี่ยงที่จะต่อสู้  และการสวนกลับเมื่อตัวเองเจ็บจะทำให้คู่กรณีเจ็บยิ่งกว่าด้วยแรงโกรธที่ถาโถม  แม้แต่กับโจรผู้ร้ายถ้าประจวบเหมาะเคราะห์ไม่ดีต้องเจอะเจอ  สิ่งแรกที่ดิฉันสอนลูกก็คือให้หนีก่อน นั่นเป็นหนทางรอดที่ดีที่สุด  การสอนลูกเช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็น การสอนตัวเองด้วย  สอนให้ตัวเองรู้ขันติ  อดทนอดกลั้น  เพราะเมื่อรู้สึกโกรธที่ลูกถูกรังแกเมื่อไร  ต้องระงับให้ได้เร็วที่สุด  ไม่อย่างนั้น  ไม่มีทางพบปัญญาที่จะไปแก้ปัญหาได้เลยค่ะ

ลูกถูกรังแก
Image by Bessi from Pixabay

เคยมีกรณีและอยากยกตัวอย่าง  ลูกสาวดิฉันเคยถูกเด็กผู้ชายวัยใกล้เคียงกันราว ๆ 5 ขวบต่อยจนล้มที่สนามเด็กเล่น  ลูกสาวเดินร้องไห้หน้าตาแดงก่ำกลับมาฟ้อง…สิ่งแรกที่ลูกต้องการคือ  “แม่ต้องไปจัดการเด็กผู้ชายคนนั้น”  ดิฉันเดินจูงมือลูกกลับไปที่สนามเด็กเล่นอีกครั้ง  เด็กผู้ชายคู่กรณียังอยู่  ดิฉันจับมือเด็กผู้ชาย  จับมือลูกสาว  และถามคำถามเดียวกันกับทั้งคู่ว่า  “เกิดอะไรขึ้น”  คำอธิบายของเด็กทั้งสองทำให้รู้ทันทีว่ามีเหตุให้เข้าใจผิดจนถึงกับต้องลงไม้ลงมือ  ด้วยวุฒิภาวะที่ไม่อาจยั้งความโกรธ  หรือการถูกสอนให้ทำร้ายเมื่อโกรธ หรือยังไม่เคยมีใครบอกเขาว่าเมื่อโกรธต้องระงับอย่างไร  จึงทำให้เหตุการณ์ธรรมดา ๆ ของเด็กวัยห้าหกขวบปะทุถึงขั้นต้องทำให้อีกฝ่ายเจ็บตัว

สิ่งเดียวที่ดิฉันทำในเหตุการณ์นั้นคือ  ให้เขาทั้งสองขอโทษซึ่งกันและกัน  ลูกสาวผิดหวังมากค่ะ  เขารู้สึกเหมือนแม่ไม่ช่วยเขา  ไม่ปกป้องเขา  ดิฉันรอจนลูกสงบ  เลิกร้องไห้  และไม่พร่ำบ่น  จึงค่อย ๆ สอนเขาว่า   เพราะแม่รักลูก แม่จึงอยากให้ลูกรู้ว่า การขอโทษโดยไม่ต้องถามว่าใครผิดหรือถูกเป็นการให้อภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุด  แม่กำลังทำให้ลูกเห็นว่าทุกอย่างจบลงได้ด้วยคำว่า “ขอโทษ”

เหตุการณ์ของลูกสาวและเด็กผู้ชายคนนั้นจบไปแล้วด้วยการให้อภัยซึ่งกันและกัน   แต่ผู้ใหญ่ที่เห็นเหตุกาารณ์ไม่จบค่ะ   เพื่อนบ้านเดินมาถามว่าดิฉันไปจัดการเด็กผู้ชายคนนั้นหรือยัง   จัดการอย่างไร  ไปฟ้องพ่อแม่เขาหรือเปล่าว่าลูกชายเกเร  คำตอบเดียวสั้น ๆ ที่ดิฉันตอบเพื่อนบ้านก็คือ  เด็กเขาขอโทษกันแล้ว  เดี๋ยวเขาก็ลืม  แล้วก็เล่นกัน ใหม่

ถ้าวันนั้นดิฉันเดินไปหาพ่อแม่ของเด็กผู้ชาย  เชื่อเถอะค่ะว่าไม่จบแน่  ผู้ใหญ่มักทะเลาะกันเพราะเรื่องจิ๊บ ๆ ของเด็กมานักต่อนักแล้ว เรามาทำให้เด็กในปกครองหรือเด็กที่อยู่ใกล้ตัวเราได้เห็นไม่ดีกว่าหรือคะว่า  ในความโกรธ  ความเจ็บ  ถ้ามีขันติและรู้ให้อภัย  จะไม่เกิดเรื่องบานปลาย  ถ้าผู้ใหญ่อย่างเรายังทำให้เด็ก ๆ เห็นว่าการตอบสนองสิ่งเร้าด้วยวิธี “ตาต่อตา  ฟันต่อฟัน” เป็นวิธีที่ถูกต้อง  คุณก็จะได้เห็นข่าวหน้าหนึ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แค่ขับรถปาดหน้าก็ยิงกันถึงตาย

ส่วนเกินไม่กี่สตางค์ในการเติมเชื้อเพลิงรถก็ถึงกับต้องแลกด้วยชีวิต

เพียงเพราะไม่ชอบหน้าก็เลยสาดด้วยน้ำร้อนต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อ  และ

เด็กยกพวกตีรันฟันแทงกันเพราะเพื่อนในกลุ่มถูกรังแก

เรามาจบข่าวทำนองนี้ด้วยการสอนลูก  สอนตัวเอง  และทำให้เห็นว่า “การให้อภัยไม่ใช่เรื่องยากเย็น” ดีกว่าค่ะ

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  แม่เปรมา

Image by Rudy and Peter Skitterians from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

วิธีตอบแทนพ่อแม่ ระดับสูง – หนทางสู่การเป็น “ที่สุด” แห่งความกตัญญู

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.