พริกของยาย

“พริกของยาย” ความหมายที่ต่างจากหลายคนเข้าใจ

ตอนแรกที่ยายลงมือปลูกต้นพริก ไม่มีใครรู้ว่าต้นพริกทั้งสามต้นจะเจริญงอกงามได้ถึงเพียงนี้ เพราะต้นพริกที่เราต่างคุ้นเคยกันนั้นมักสูงแค่หัวเข่าเท่านั้นเอง หรือมากสุดก็แค่เอว ไม่สูงไปกว่านี้ ผมจำได้ว่าเมื่อยหลังทุกครั้งที่แม่สั่งให้ไปเก็บพริกมาประกอบอาหารมื้อเย็น แม้จะเป็นเด็กประถมตัวเล็ก ๆ แต่ก็ก้ม ๆ เงย ๆ อยู่หลายครั้งกว่าจะเลือกเด็ดเม็ดพริกสีแดงได้ครบจำนวนตามที่แม่สั่ง พริกของยาย

แต่ต้นพริกที่ยายปลูกหนนี้ ครั้งแรกสุดที่ผมเห็นยังเป็นต้นเล็ก ๆ มีใบเขียวสองสามใบอยู่ในกระป๋องน้ำเก่า ๆ ที่ยายใส่ดินดำเข้าไปแล้วใช้แทนแปลงผัก หลังจากนั้นสองเดือน พอผมกลับไปบ้านตายาย แล้วเห็นต้นพริกอีกที ก็แทบจะจำไม่ได้ ยอดของมันพุ่งพรวด ต้นพริกที่เคยคุ้นโตขึ้นมาถึงระดับอก แตกกิ่งแตกใบเป็นพุ่มสลอนอยู่ที่แปลงปลูกข้างบ้าน

“ทำไมต้นพริกมันสูงอย่างนี้ล่ะตา” ต้นพริกดูจะสะดุดตาที่สุดเมื่อเทียบกับผักสวนครัวชนิดอื่น ๆ ที่อยู่โดยรอบ

“มันคงเป็นสายพันธุ์ที่เขาปรับปรุงพันธุ์แล้วน่ะ” ตาตอบด้วยความรู้ทันสมัย พร้อมกับหยิบซองเมล็ดพันธุ์จากชั้นบนของตู้กับข้าวออกมาให้ดู ซึ่งก็ไม่ได้มีข้อความใดอธิบายความอัศจรรย์ของพริกต้นนี้

“นี่ขนาดไม่ค่อยได้รดน้ำนะ” ยายอวดเพิ่มเติม “ปุ๋ยก็ยังไม่ได้ใส่”

“โอ้โห! นี่ถ้ารดน้ำพรวนดิน มันจะไม่โตเท่าต้นมะยมหน้าบ้านเลยหรือยาย” ผมพลอยตื่นเต้นไปด้วย

ต้นพริกไม่ได้หยุดโตเพียงแค่นั้น แต่มันยังโตขึ้นเรื่อย ๆ จนสูงพอ ๆ กับผม ซึ่งขาดอีกประมาณหนึ่งฟุตก็จะถึง 2 เมตรพอดี และเมื่อผมกลับมาอีกที (ผมกลับมาเยี่ยมตายายได้เฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์) พริกต้นนั้นก็ออกดอกสีขาว ๆ และเริ่มติดเม็ดสีเขียว ๆ บ้างก็แก่เห็นเป็นเม็ดสีแดงอยู่เต็มต้นพรึ่บไปหมดราวกับต้นคริสต์มาส

นับจากวันที่มันเริ่มติดเม็ด ไม่ว่าใครจะมาเยี่ยมเยือน ยายก็จะพาไปเยี่ยมชมต้นพริกมหัศจรรย์ด้วยความภาคภูมิใจ โดยที่ไม่ลืมเด็ดพริกให้คนนั้นคนนี้ติดไม้ติดมือกลับบ้านไปเป็นน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย (ความสูงของต้นพริกช่วยให้ยายยืนเก็บได้อย่างสบาย ๆ เลยทีเดียว!)

ต้นพริกออกดอกออกผลเยอะมาก ยายเด็ดไปทำกับข้าวก็แล้ว ไม่ว่าจะตำน้ำพริก ทำพริกน้ำปลา ยำใหญ่ใส่สารพัด ผัดกะเพราปลาหมึก เด็ดฝากคนโน้นคนนี้ก็แล้ว แจกจ่ายให้คนที่มารับจ้างถางหญ้าคนสอยมะพร้าวก็แล้ว เม็ดพริกก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป แถมยังออกดอกงอกใหม่มาเรื่อย ๆ

พริกของยาย
Photo by Eduardo Jaeger on Unsplash

แต่ถึงอย่างไร ผมคงไม่ถึงกับเรียกมันว่าเป็น “พันธุ์พืชต่างดาว” ที่เติบโตอย่างน่าอัศจรรย์พันลึกขนาดนั้น เพราะลึก ๆ แล้ว ทั้งตา ยาย แม่ และน้าสาวต่างก็เชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากน้ำท่วม

“น้ำคงจะพัดเอาหน้าดินมาตกตะกอนไว้เยอะ ต้นพริกเลยสูงได้ขนาดนี้” แม่ให้ความเห็นเมื่อมาพบต้นพริกเข้าในช่วงปิดภาคเรียนเดือนตุลาคม

แม้แม่จะไม่ได้อาศัยอยู่กับตายายตลอด เพราะแม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการครูและมีครอบครัวอยู่ต่างจังหวัดทางภาคเหนือ แต่แม่ก็โทรศัพท์ถามถึงสถานการณ์น้ำท่วมจากตาและให้กำลังใจยายแทบทุกวัน ซึ่งนับถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาหลายปีแล้วที่น้ำลด แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน คนแก่อาจหลง ๆ ลืม ๆ ไปบ้าง ทว่ารอยคราบน้ำสีน้ำตาลตามฝาผนังยังคอยย้ำเตือนอยู่ทุกวี่วันว่า ไม่ให้เราใช้ชีวิตในความประมาท

ในปีที่น้ำท่วมนั้น กระแสน้ำเริ่มไหลเข้ามาในพื้นที่บ้านตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม เติมเต็มสระน้ำในสวนซึ่งเป็นพื้นที่แก้มลิงของบ้าน จนล้นเอ่อสูงขึ้นมาถึงตัวบ้านชั้นล่าง ระดับน้ำสูงถึงครึ่งหน้าแข้งในเวลาชั่วข้ามคืน และค่อย ๆ เพิ่มระดับขึ้นจนถึงหัวเข่าในสัปดาห์ต่อมา หลังจากนั้นระดับน้ำก็ทรง แล้วค่อย ๆ แห้งลงตอนกลางเดือนธันวาคม

หลังน้ำลด รอบบ้านแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดใดหลงเหลืออยู่เลย ต้นไม้ที่เคยให้ร่มเงาและผลผลิตอย่างขนุน มะม่วง ลำไย และลิ้นจี่จากทางเหนือที่ลงปลูกมานับสิบปี ต่างล้มหายตายจากไป การเติบโตอย่างน่าอัศจรรย์ของต้นพริกในครั้งนี้ จึงถือเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ที่มีคุณค่าทางจิตใจของคนในบ้านอย่างมาก เพราะอย่างน้อยน้ำท่วมก็ไม่ได้หมายถึงความเสียหายเพียงอย่างเดียว หากแต่น้ำได้พัดพาเอาแร่ธาตุสารอาหารจากที่ต่าง ๆ มาตกตะกอนทับถมจนกลายเป็นดินปลูกชั้นยอด

นานวันเข้าเม็ดพริกสีเขียวสีแดงก็ยังหนาแน่น จนยายปล่อยพริกเม็ดแดงแก่แห้งคาต้น น้าสาวซึ่งมาเยี่ยมในวันเสาร์ – อาทิตย์ (เหมือนผม แต่บ่อยครั้งกว่า) จึงถือโอกาสเข้ามาบริหารจัดการแทน เย็นวันนั้นน้าสาวและแฟนน้าสาวต่างช่วยกันเด็ดเม็ดพริกอย่างขมีขมัน ทั้งคู่ใช้กรรไกรเป็นเครื่องทุ่นแรง เก็บกันอยู่พักใหญ่ก็ได้พริกสดใหม่ไร้สารพิษเต็มฝาชี ซึ่งเอามาประยุกต์ใช้แทนกระบุง

“น่าจะได้เป็นกิโลฯเลยแฮะ” น้าสาวดีใจ เพราะเธอจะเอาไปขายทำกำไรกับแม่ค้าส้มตำที่หน้าปากซอยบ้านในกรุงเทพฯ เธอกับแม่ค้าก็รู้จักมักจี่กันดี “พริกเม็ดเป้ง ๆ อย่างนี้ยิ่งหายากอยู่ด้วย” เธอพูดด้วยความภาคภูมิใจในผลผลิต

พริกของยาย
Photo by Peter Hershey on Unsplash

น้าสาวไม่ได้เข้ามาบริหารจัดการแค่สัปดาห์นั้นเพียงสัปดาห์เดียว แต่เก็บพริกได้เต็มฝาชีทุกครั้งที่กลับมาบ้านตากับยาย ในขณะที่ยายก็ไม่ยอมให้น้าเซ้งกิจการไปโดยง่าย ทุกครั้งที่น้าเดินไปเก็บพริก ยายก็จะเดินตามไปคอยกำกับห่าง ๆ ไม่ให้น้าสาวเก็บไปจนเกลี้ยงต้น ผมเข้าใจว่ายายไม่ได้หวงหรอก แต่เป็นเพราะต้องการจะสำรองพริกไว้จ่ายแจกญาติสนิทมิตรสหายที่มาเยี่ยมเยือนในวันถัด ๆ ไปต่างหาก

ถึงตอนนี้ ต้นพริกที่เจริญงอกงามมาหลายเดือนก็โรยราลงไปตามอายุขัยที่มากขึ้น

แม้มันจะยังออกผลให้เด็ดไปขายอยู่แต่น้าสาวก็เก็บผลผลิตได้ไม่เยอะและไม่บ่อยเหมือนเดิมแล้ว

“ทำไมยายไม่เพาะเมล็ดพริกเตรียมไว้ล่ะครับ”

ผมได้ยินยายพูดเปรย ๆ ว่าจะเพาะเมล็ดพริกรุ่นใหม่ตั้งแต่สองสามอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นลงมือเสียที ผมจึงถามย้ำเผื่อยายจะหลงลืมไป เพราะกว่าพริกต้นใหม่จะโตขึ้นจนพร้อมให้ดอกออกผลคงต้องใช้เวลาอีกนาน เมื่อถึงตอนนั้นก็คงจะไล่เลี่ยกับการตายของต้นพริกมหัศจรรย์รุ่นนี้พอดี

แต่คำตอบที่ได้จากยายกลับกลายเป็นคำถามที่ย้อนเข้ามาถามใจของผมเอง

“ยายเริ่มไม่อยากปลูกแล้วละ ปลูกไปพริกที่ได้ก็เอาไปขายหมด ยายแค่อยากปลูกเอาไว้ทำกับข้าว เหลือนิดหน่อยไว้แบ่งคนอื่น ๆ เท่านั้นเอง”

“พริกของยาย” มีความหมายต่างจากที่หลายคนเข้าใจจริง ๆ ครับ

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  กั๊บแปมโส้

Image by Christine Sponchia from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

คุณยายลุยเก็บขยะชายหาด 52 แห่งใน 1 ปี หลังจากได้ดูสารคดีมลพิษจากพลาสติก

บทเรียนชีวิตจาก คุณยายโรส นักศึกษาวัยไม้ใกล้ฝั่งที่ใคร ๆ ก็หลงรัก

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.