พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่

พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์มีชีวิตของกวีเอกของโลก

” กลอนซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสุนทรภู่ เราก็นำมาแทรกลงไปในส่วนต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑ์ มีเกมส์จิ๊กซอว์ต่อกลอนให้เล่นกัน เวลาจะเฉลยก็ต้องขับกลอนเป็นท่วงทำนองไปด้วยกัน เพื่อให้สัมผัสกับความงดงามของบทกวีที่ท่านประพันธ์ ไม่ต้องการให้เป็นแค่พิพิธภัณฑ์ที่คนมาเพื่อถ่ายรูปเสร็จแล้วก็กลับ อยากให้ได้รับสาระความรู้และความบันเทิงกลับไปด้วย

 

เกมส์จิ๊กซอว์ต่อกลอนของสุนทรภู่

 

” เราทำระบบ AR สแกน (ภาพยนตร์ 3 มิติ) โดยจำลองเหตุการณ์ชีวิตของสุนทรภู่ และสิ่งที่ท่านพบเจอใส่ลงไปในระบบนี้ เช่น ตอนองค์หญิงวิลาสกราบสุนทรภู่ขณะที่ยังเป็นพระ ตอนสุนทรภู่เก็บใบชา และตอนสนุทรภู่แต่งกลอน ภาพพระพุทธเทววิลาส พระประธานวัดเทพธิดาราม ภาพเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในระบบ AR ก็ใช้นักแสดงจริง ๆ แสดงแล้วบันทึกใส่ไว้ในระบบ เวลาคนมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ถ่ายรูปในตำแหน่งที่เราวางระบบนี้ไว้ พอถ่ายภาพออกมาคนก็จะปรากฏอยู่ในภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งด้วย เหมือนเราได้ย้อนอดีตไปในตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เราถ่ายและส่งให้เลย ชาวต่างชาติชอบมากแชร์ลงเฟซบุ๊ค ไอจีกันใหญ่ ”

 

วัดเทพธิดาราม บ่อเกิดวรรณกรรมเพชรน้ำเอก

” ความจริงสุนทรภู่ตอนบวชเป็นพระ ท่านอาศัยอยู่หลายวัด เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดราชบุรณราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่ท่านบวช  แต่ไม่มีร่องรอยข้าวของเครื่องใช้ปรากฎชัดเจนเหมือนที่วัดเทพธิดาราม ซึ่งท่านจำวัดอยู่ที่นี่นานถึง 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2383-2385 โดยท่านใช้เวลาตอนที่อยู่ที่นี่ประพันธ์พระอภัยมณีถวายองค์หญิงวิลาสเดือนละ 1 เล่มสมุดไทยดำ เป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อหาที่สนุกสนาน มีทั้งการผจญภัย เวทมนต์ คาถา ถ้าจะเทียบกับยุคสมัยนี้ก็คือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ นั่นเอง

 

สมุดไทยดำเรื่องพระอภัยมณี

 

” เชื่อว่าเรื่องราวที่ปรากฏในพระอภัยมณี ล้วนมาจากสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ท่านมาอาศัยอยู่ที่นี่ เช่น ตอนนั้นหมอบรัดเลย์มาอยู่ที่เมืองไทย นำวิทยาการทางการแพทย์ตะวันตกคือการผ่าตัดเข้ามา คิดว่าสุนทรภู่คงไปสังเกตดูการผ่าตัดของหมอบรัดเลย์ด้วย จึงประพันธ์ให้นางสุวรรณมาลีเครียดจนประชวร เพราะพระอภัยมณีไปมีความสัมพันธ์กับนางละเวงวัณฬา และรักษาอาการประชวรด้วยการผ่าตัด ”

 

รำพันอารามรักไว้ในบทกลอน

” ท่านได้บันทึกภาพชีวิตของท่านที่วัดเทพธิดารามไว้ในรำพันพิลาป ไม่ต่างจากบันทึกความทรงจำลงในไดอารี่ส่วนตัวว่า

“ชมพู่แลแต่ละต้นมีผลลูก

ดูดั่งผูกพวงระย้านึกน่าฉัน”

” ได้เห็นภาพความสุขของท่านในตอนที่เห็นต้นชมพู่ในวัดเทพธิดารามแล้วเกิดอยากฉัน พิพิธภัณฑ์ก็มีต้นชมพู่ปลูกไว้หน้ากุฎิของท่าน และท่านปลูกต้นชาไว้ที่หน้าบันไดกุฎิอีกด้วย แล้วเล่าความรัดทนไว้ในบทกลอนว่า

 ” เห็นต้นชาหน้ากระไดใจเสียดาย

 เคยแก้อายหลายครั้งประทังทน
ได้เก็บฉันวันละน้อยอร่อยรส

ด้วยยามอดอัตคัดแสนขัดสน

จะซื้อหาชาจีนทรัพย์สินจน

จะจากต้นชาให้อาลัยชา ฯ “

 

หน้าบันพระอุโบสถที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนเป็นรูปหงส์ฟ้า

 

” ยังกล่าวถึงวัดเทพธิดารามดัวยว่า

” พระปรางค์มีสี่ทิศพิสดาร

โบสถ์วิหารการเปรียญล้วนเขียนทอง

ที่หน้าบันปั้นอย่างเมืองกวางตุ้ง

 ดูเรืองรุ่งรูปนกผกผยอง

กระเบื้องเคลือบเหลือบสลับเหลี่ยมรับรอง

ศาลาสองหน้ารอบขอบกำแพง

สิงโตจีนตีนตัวหน้ากลัวกลอก

ขยับขยอกแยกเขี้ยวเสียวแสยง “

” ในบทนี้สุนทรภู่กล่าวถึงสิ่งที่มีในวัดเทพธิดารามทั้งหมด เว้นแต่ไม่พูดถึง พระภิกษุณีดีบุก 52 รูปในพระวิหาร แสดงว่าน่าจะหล่อขึ้นหลังจากสุนทรภู่ไปจากวัดเทพธิดารามแล้ว ”

 

คลิกเลข 3 ด้านล่าง เพื่อซาบซึ้งกับธรรมะของสุนทรภู่ >>>

Summary
Review Date
Reviewed Item
พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์มีชีวิตของกวีเอกของโลก
Author Rating
51star1star1star1star1star

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.