เหตุที่อานาปานสติตัดความคิดฟุ้งซ่านได้เร็ว เพราะไม่ต้องอาศัยความจำเป็นสื่อล่อให้จิตสงบเหมือนวิธีฝึกสมาธิอื่น ๆ เช่น ผู้บริกรรมคำว่า “พุท-โธ” เวลาปฏิบัติต้องจำคำบริกรรมเพื่อหน่วงจิตให้สงบ แม้การจำคำบริกรรมจะตัดกระแสความฟุ้งซ่านได้ แต่ก็ยังเป็นสายล่อฟ้าให้ความคิดฟุ้งซ่านแทรกซึมเข้าสู่จิตใจได้
ดังนั้นผู้บริกรรมพุท-โธ เมื่อถึงจุดหนึ่งจะต้องทิ้งคำบริกรรม เพื่อตัดความจำที่เป็นสายล่อฟ้าออกไป จิตจึงจะดิ่งเข้าสู่ความสงบที่ลึกซึ้งได้ หากไม่ปล่อยคำบริกรรมทิ้ง จิตจะติดอยู่กับคำบริกรรม กลายเป็นจิตค้างอยู่กับพุท-โธ ไม่เข้าไปสู่ความสงบซึ่งเป็นจุดหมายที่ต้องการได้
หรือผู้บริกรรมคำว่า “สัมมา-อะระหัง” พร้อมเพ่งดูลูกแก้ว ต้องใช้ความจำทั้งคำบริกรรมและภาพลูกแก้ว เมื่อจิตสงบเกิดภาพนิมิตขึ้น ก็ต้องใช้กำลังสมาธิเพิกนิมิตเพื่อเข้าสู่ความสงบขึ้นสูงขึ้นไปอีก ผู้ปฏิบัติบางคนเพิกนิมิตไม่ได้ หลงติดในนิมิต เป็นบ้าไปก็มาก
ส่วนอานาปานสติ ผู้ปฏิบัติ ไม่จำเป็นต้องใช้ความจำ เป็นสื่อให้จิตสงบ
เพียงทรงจิตให้ว่าง ๆ
น้อมความรู้สึกทั้งหมดไปดูลมหายใจเข้า-ออก หรือ
ดูลมหายใจด้วยจิตว่าง ๆ
จิตก็จะสลัดความคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ ออกไป
ดิ่งตัวลงไปสู่ความสงบนิ่ง ซึ่งมีลักษณะว่างเหมือนกับลมหายใจ
พูดอีกนัยหนึ่ง
วิธีปฏิบัติอื่น ๆ ใช้ความคิดเข้าไปตัดความคิด เพื่อให้จิตเดินเข้าสู่ความสงบ
ส่วนอานาปานสติไม่ต้องใช้ความคิด
แต่ใช้ความรู้สึกว่าง ๆ เข้าไปตัดความคิด
เมื่อจิตสงบจึงไม่ต้องเสียเวลาเพิกความคิดหรือนิมิตต่าง ๆ ออก
จิตจะว่างอย่างเป็นธรรมชาติ
ว่างอย่างไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
ความคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ ก็จะระงับลง ความเครียดที่มีก็จะสลายไปเอง
เวลาปฏิบัติจริง ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะใช้หลายวิธีผสมผสานกัน เพื่อตัดกระแสความฟุ้งซ่านที่มีกำลังกล้า เช่น บริกรรมคำว่า พุท-โธ พร้อมกับดูลมหายใจเข้า-ออก เมื่อกำลังความคิดฟุ้งซ่านอ่อนตัวลงก็ทิ้งคำบริกรรม เหลือเพียงดูลมหายใจเข้า-ออกด้วยจิตว่าง ๆ เท่านั้น จิตก็จะเข้าสู่ความสงบที่ละเอียดลงไปได้
“ลมหายใจ” จึงจัดการความเครียดได้อย่างดีนัก
ที่มา อานาปานสติ…ลึกแต่ไม่ลับ โดย ท่าน ส. ชิโนรส สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ