เห็นไตรลักษณ์

เห็นไตรลักษณ์ = เห็นโทษ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

เห็นไตรลักษณ์ = เห็นโทษ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

จิตมีความผูกพันกับกายและใจมากเพียงไร จึงทำให้การปล่อยวางกาย-ใจเป็นไปได้ยากยิ่งนัก เรื่องนี้พระอาจารย์นวลจันทร์เปรียบเทียบไว้อย่างน่าฟังว่า… เห็นไตรลักษณ์

เราอยู่กับกายใจนี้ก็เหมือนว่าเราได้แต่งงานกับกายกับใจแล้ว เรายึดว่ากายนี้เป็นของเรา ใจนี้เป็นของเรา เราจึงต้องดูแลรับผิดชอบเหมือนสามี-ภรรยาที่ต้องรับผิดชอบดูแลกันอย่างดีที่สุด เต็มที่ที่สุดจริงไหม

แต่พออยู่มาอยู่ไป เมื่อเราเริ่มเห็นโทษ เห็นภัย เห็นความไม่ดีไม่งามของกาย-ใจ เช่น เห็นไตรลักษณ์ บ่อยขึ้น ๆ เราก็เริ่มรู้สึกว่าชักจะยังไง ๆ อยู่ สุดท้ายจึงเซ็นใบหย่าเสียเลย ไม่เอาแล้วสามีคนนี้ ไม่เอาแล้วภรรยาคนนี้

เมื่อเซ็นใบหย่าเสร็จก็คือเป็นอิสระแล้ว เป็นอิสระจากกาย-ใจ เป็นอิสระจากธาตุขันธ์

แต่จู่ ๆ จะให้จิตเซ็นใบหย่า วางธาตุขันธ์เลยย่อมเป็นไปไม่ได้ จิตต้องเห็นโทษเห็นภัยของขันธ์นี้ก่อน เห็นโทษเห็นภัยของการยึดก่อน เพราะธรรมชาติของการที่เราจะวางสิ่งไหนหรือจะไปจากสิ่งไหน กฎง่าย ๆ คือเราต้องเห็นโทษของสิ่งนั้นก่อน ถ้ายังไม่เห็นโทษก็จะยังไม่ไป ยังอยากจะกำเอาไว้อยู่อย่างนั้น

คนเรามักจะกำสิ่งต่าง ๆ ไว้อย่างเหนียวแน่น เช่น ถ้าจะให้ไปจากสามี เราก็ต้องเห็นโทษของสามีก่อน ถ้าไม่เห็นโทษของสามี เราย่อมต้องการจะอยู่กับสามีไปตลอดกาลนานเทอญ อยู่กับสามีไปจนสามีอยู่กับเราไม่ได้ สามีทนไม่ได้ สามีก็ไปเสียเอง ใช่ไหม

กายใจก็เช่นกัน อยู่ไปอยู่มา เมื่อได้เห็นความไม่ดีไม่งามร้อยแปดอย่างที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็ย่อมอยากจะเซ็นใบหย่าขาดจากความรู้สึกที่ยึดอยู่กับกายกับใจนี้เช่นกัน

ฉะนั้นเมื่อเรามาเจริญสติปัฏฐาน ฝึกรู้กายรู้ใจเพื่อให้เห็นความจริงของกายของใจว่า ไม่ว่าส่วนไหนก็ย่อมต้องเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ทั้งนั้น เราจะเห็นว่าทุกอย่างปรากฏขึ้นแล้วย่อมต้องสลายไป หมดไปไม่มีอะไรที่จะตั้งอยู่ยั้งยืนยงตลอดกาลนานเทอญได้ เช่น ความรู้สึกทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์ระทมขมขื่นขนาดไหน สุดท้ายก็ต้องสลายไปหมดไป ไม่อาจตั้งอยู่อย่างนั้นตลอดไป พอถูกบีบคั้นก็ต้องสลาย เพราะมีเหตุปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง

การเห็นไตรลักษณ์อย่างนี้ เห็นการเกิด-ดับแบบนี้ละ ที่เรียกว่าเห็น อาทีนวะ คือเห็นโทษ

เมื่อเห็นโทษบ่อยขึ้น ๆ ก็จะเกิดปัญญาเข้าใจว่า สิ่งที่มีการเกิด-ดับ มีความไม่เที่ยง แปรปรวน เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิจอย่างนี้ จะยึดมาเป็นที่พึ่งเป็นสรณะได้อย่างไร เพราะไม่มีคุณค่าพอที่จะยึดมาเป็นที่พึ่งเป็นสรณะได้เลย

จากเมื่อก่อนที่เราหลงยึดสิ่งไม่เที่ยง สิ่งที่มีการเกิด-ดับมาเป็นที่พึ่งเป็นสรณะ ความรู้สึกจะค่อย ๆ คลาย ค่อย ๆ เปลี่ยนไป จนสุดท้ายก็…อตัมมยตา***  จิตสลัดเลย จิตวางเองเลย

ไม่เห็นความเป็นแก่นสาร ไม่เห็นความเป็นสาระ เห็นแต่ว่าไม่มีคุณค่าเพียงพอที่จะให้ยึดถือเลย

 

***การสลัดออกจากกิเลส เป็นภาวะที่อะไรก็เข้ามาปรุงแต่งไม่ได้

 

ที่มา  ชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ – สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

ไตรลักษณ์ ประตูสู่หนทางแห่งความหลุดพ้น

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.