การเจริญสติ

การเจริญสติและศิลปะแห่งการอยู่กับปัจจุบัน

การเจริญสติ และศิลปะแห่งการอยู่กับปัจจุบัน

เมื่อสติเราตั้งมั่นอยู่กับประสบการณ์ในช่วงเวลาปัจจุบัน ด้วยใจที่เปิดกว้างและปราศจากอคติ ภาวะที่เกิดขึ้นอาจเรียกได้ว่าเป็น การเจริญสติ ตามธรรมชาติแล้วจิตของเรามักใช้เวลาอยู่กับอดีตหรืออนาคตเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การเจริญสติจึงจำต้องใช้ความตั้งใจ เราต้องดึงสติให้อยู่ในสภาวะปัจจุบันอย่างรอบคอบ ความแตกต่างของสภาวะจิตในช่วงเวลานี้อาจเทียบได้กับความแตกต่างระหว่างการตื่นรู้กับการทำด้วยความเคยชิน ซึ่งการฝึกเจริญสติส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการสังเกตว่าเรากระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเคยชินบ่อยแค่ไหน และตื่นรู้ที่จะดึงสติกลับมาอยู่กับปัจจุบันได้อย่างไร การเจริญสติจึงไม่มีการฝึกที่ตายตัว แต่เป็นหนทางที่เราจะตื่นรู้ถึงกระบวนการอันรุ่มรวย ลี้ลับ และไม่มีจุดสิ้นสุดของชีวิต

 

ประโยชน์ที่ได้คืออะไร

สภาวะแห่งการเจริญสติอาจยากที่จะอธิบายออกมาเป็นคำพูด และไม่มีตัวช่วยอื่นนอกจากการได้มีประสบการณ์นี้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ดี ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนจะสังเกตได้ถึงความรู้สึกปล่อยวาง และการเปิดประสาทสัมผัสที่เกิดจากการมีสติที่มั่นคงขึ้น การเจริญสติยังช่วยให้เรารู้จักกับนิสัยและแบบแผนของระบบความคิดของเราซึ่งจะช่วยให้เรารู้จักควบคุม หรือสร้างทางเลือกให้กับตัวเอง แทนที่จะติดอยู่ในการกระทำตามนิสัยเดิม ๆ หรือแบบแผนความคิดเดิม ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเครียดหรือแบบแผนความคิดเดิม ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเครียด หรือความกังวลใจได้ หลายคนที่ฝึกยังพบว่า ร่างกายเกิดความเข้มแข็งจากภายใน ความสงบ และความสัมพันธ์กับผู้อื่นมีพัฒนาการดีขึ้น มีผลวิจัยในปัจจุบันที่กล่าวถึงการฝึกเจริญสติและประโยชน์ที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการลดความเครียด ความกังวล สภาวะซึมเศร้ารวมถึงการพัฒนาสุขภาพและความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ

 

การเจริญสติมีที่มาอย่างไร

การฝึกเจริญสติมีประวัติย้อนกลับไปหลายพันปี นอกจากการมีรากฐานที่เกี่ยวโยงกับศาสนาพุทธแล้ว การเจริญสติยังปรากฏในศาสนาและความเชื่อทางจิตวิญญาณแขนงอื่น ๆ อีกมากมาย ล่าสุดกระแสความสนใจการเจริญสติปะทุขึ้นอย่างแพร่หลายในฐานะการฝึกฝนที่ไม่เชื่อมโยงเข้ากับศาสนา มีหนังสิอและคอร์สอบรมเรื่องการเจริญสติมากมาย ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์ นอกเหนือจากสิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจการฝึกเจริญสติได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

 

การเจริญสติกับการทำสมาธิเหมือนกันหรือไม่

นี่คือคำถามที่พบบ่อยคำถามหนึ่ง หลายคนมักจะใช้คำว่า สมาธิ ในการอธิบายการฝึกประเภทหนึ่ง เช่น การนั่งหรือนอน แล้วดึงสติให้อยู่กับลมหายใจหรือประสบการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา แต่การเจริญสตินั้นสามารถนิยามได้ว่าเป็นการกำหนดทิศทางให้กับประสบการณ์และสามารถฝึกฝนได้ในทุก ๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นช่องเวลาระหว่างที่เรากำลังกินข้าว ล้างจาน พาสุนัขไปเดินเล่น หรือแม้แต่ในระหว่างการตากผ้า การพยายามระลึกไว้เสมอว่าเราจะต้องมีสติและไม่ทำอะไรด้วยความเคยชิน อาจเป็นเรื่องท้าทาย และการฝึกสมาธิถือเป็นหนทางหนึ่งที่เป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้เราพัฒนาความสามารถเหล่านี้ให้ดีขึ้น

ฉันคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์คือ การรู้จักสังเกตว่า เมื่อใดที่เรากำลังมีอคติกับบางสภาวะ หรือรู้สึกเปรียบเทียบว่าประสบการณ์หนึ่งดีกว่าอีกอย่างหนึ่ง เราสามารถให้บทเรียนกับตัวเองได้เมื่อใดก็ตามที่เรายังมีสติไม่พอ ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับการฝึกสมาธิและการเจริญสติ ท้าทายและรู้จักวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของตัวเอง

การหาสมดุลระหว่างความมุ่งมั่นที่จะตื่นรู้ต่อสภาวะปัจจุบัน กับการใส่ความพยายามลงไปในปริมาณที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักเปิดใจและมีเมตตาต่อตนเองด้วยนั้น อาจเปรียบได้กับการเต้นรำที่ไม่มีจังหวะจบ

 

ที่มา : เดินสมาธิ โดย โชลโต้ แรดฟอร์ด

ภาพ : https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ

ความแตกต่างระหว่างการเจริญสติแบบเถรวาท VS เซนญี่ปุ่น

ติช นัท ฮันห์ ปรมาจารย์ลายพู่กัน กับการเจริญสติด้วยศิลปะแบบเซน

Dhamma Daily : หากเราเจริญสติได้เป็นอย่างดีแล้วจะมีโอกาสเป็น โรคอัลไซเมอร์ตอนชรา หรือไม่

เจริญสติดีอย่างไร ทำไมเราต้องฝึกเจริญสติ

วิธีเจริญสติด้วยหลักสติปัฏฐาน 4 ตามแนว หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.