การปรุงแต่ง

วิธีกำจัดความทุกข์จากกระแสแห่งการปรุงแต่ง

วิธีกำจัดความทุกข์จากกระแสแห่ง การปรุงแต่ง

ต้นเหตุของความทุกข์ปัจจัยใหญ่ๆ ที่เรามักไม่รู้ตัวเกิดจากกระแสแห่ง การปรุงแต่ง เรามักจะหลงใหลเคลิบเคลิ้มไปกับการปรุงแต่ง ยิ่งปรุงแต่งมากเท่าใดก็จะยิ่งห่างไกลออกไปจากความจริงยิ่งขึ้น จะได้แต่เพียงความสุขแบบหลอกๆ เท่านั้น ความจริงแบบหลอกๆ เหมือนกับการใส่แว่นตาสีชมพูหรือสีต่างๆ ตามแต่ชนิดของการปรุงแต่ง เรียกได้ว่าเห็นสิ่งต่างๆ ผ่านเลนส์ไม่ได้เห็นจริงตามความเป็นจริงแบบจริงๆ

คนเราเกิดมาก็จะมีแว่นตาสีดำติดตามาด้วยเลย ซึ่งก็ได้แก่โมหะหรืออวิชชา พอเจริญเติบโตมาก็ได้แค่ทำความสะอาดเช็ดถูแว่นตาสีดำ เพื่อให้มองเห็นให้ชัดเจนเท่านั้น หรืออย่างดีก็แค่หาซื้อเลนส์ใหม่มาใส่ แต่ก็เป็นการใส่ทับเข้าไปกับเลนส์เดิมที่เป็นสีดำเท่านั้น แต่ไม่เคยคิดจะถอดแว่นตาสีดำออกเลย เพราะคิดไม่ถึงหรือคิดไม่ได้จริง ๆ สัตว์โลกทั้งหลายก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ ทำได้ดีที่สุดก็เพียงแค่ทำการศึกษาค้นคว้าพัฒนาเลนส์ชนิดต่าง ๆ เอามาใส่ทับซ้อนเข้าไปกับเลนส์สีดำเท่านั้น เพราะอวิชชาเข้าครอบงำแล้วก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ได้แก่ความปรุงแต่งชนิดต่าง ๆ ตามหลักของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นวงจรแห่งความทุกข์หรือวงจรแห่งวัฏฏะทุกข์

 

 

และยิ่งทำการปรุงแต่งมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นการไปเพิ่มวงจรแห่งวัฏฏะทุกข์มากขึ้นเท่านั้น วงจรก็ยิ่งหนาแน่นเพิ่มขึ้น จนหาเบื้องต้นไม่ได้ หาเบื้องปลายไม่พบจริง ๆ และก็เป็นความจริงที่สมเหตุสมผลที่สุดว่า เมื่อโมหะหรืออวิชชาเข้าครอบงำแล้ว โมหะหรืออวิชชาเขาจะบัญชาการให้เรา สาวเข้าไปถึงตัวของเขาเองได้อย่างไร ก็ไม่มีทางจะเป็นไปได้อยู่แล้ว มีแต่จะสาวออกไป ๆ ออกไปไหนก็ไม่รู้ แม้แต่ผู้สาวเองก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะสาวไปทำไม สาวเพื่ออะไร แล้วจุดหมายปลายทางของการสาวอยู่ตรงไหนจุดจบอยู่ที่ไหน แต่ก็ยังคงสาวต่อไป (ปรุงแต่งต่อไป) แล้วก็หยุดไม่ได้ด้วยเพราะไม่รู้ว่าจะหยุดยังไง ถึงอยากหยุดก็หยุดไม่ได้ (ยิ่งอยากหยุดยิ่งไม่มีทางหยุดได้)

สาว (ปรุงแต่ง) ไปทำบุญทำทานก็เรียกว่า “ปุญญาภิสังขาร” แต่ก็ยังไม่ใช่จุดจบของการสาว ได้แก่พ้นไปจากวัฏสงสารไม่ได้เพราะบุญสาว (ปรุงแต่ง) ไปทำบาปอกุศล ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็เรียกว่า “อปุญญา-ภิสังขาร” อันนี้ยิ่งแล้วไปใหญ่ เพราะมีผลไปอบายทุคติ แม้ขณะปัจจุบันทันด่วนก็ได้รับผลแล้ว ท่านเรียกว่า “สหชาตผล” คือผลที่เกิดร่วมพร้อมด้วยในขณะกระทำกรรม เช่น โกรธ โมโห ฉุนเฉียว นรกในใจก็เกิดขึ้นแล้ว เป็นต้น

 

 

สาว (ปรุงแต่ง) ไปทำสมาธิภาวนาจนถึงได้รูปฌาน อรูปฌาน ที่เรียกว่า “อเนญชาภิสังขาร” แต่ก็พ้นไปจากวัฏสงสารไม่ได้ เพียงไปจอดแช่อยู่ที่สถานีพรหมโลกเท่านั้น และเมื่อหมดเวลาจอดแล้ว ก็ต้องวิ่งว่อนท่องเที่ยวเดินทางต่อไป ได้แก่ทำการสาวต่อไปอีก วิ่งว่อนท่องเที่ยวสาวไปทำบาปอกุศลบ้าง ทำบุญทำทานบ้าง หรือทำสมาธิบ้าง

สรุปแล้วก็มีแต่จะต้องทำ จะต้องกระทำตลอด หยุดกระทำไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะหยุดทำการกระทำได้อย่างไร ต้องรอให้ถึงยุคที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้และชี้ทางบอกให้ จึงจะสามารถหยุดในการกระทำได้ หยุดในการปรุงแต่งได้ ตัดวงจรแห่งวัฏฏะทุกข์ได้ พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ซึ่งก็ปรากฏเป็นหลักฐานว่าได้มีผู้พ้นไปแล้วมากมาย เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ก็ได้ขนสัตว์ให้พ้นทุกข์เป็นจำนวนไม่ใช่น้อย

 

 

และที่พ้นไปได้ก็เพราะเชื่อและปฏิบัติตามคำสอน ส่วนที่ยังไม่พ้นซึ่งมีจำนวนอันนับประมาณไม่ได้นั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะยังไม่เชื่อและยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอน หรือส่วนหนึ่งก็เชื่อแล้ว และก็ได้ปฏิบัติตามคำสอนแล้วแต่เป็นนักปฏิบัติประเภท “วัยรุ่นใจร้อน” พอปฏิบัติตามไปได้เพียงนิด ๆหน่อย ๆ หรือได้สักระยะหนึ่ง ก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้ได้บรรลุผลในทันทีทันใดเลย และเมื่อผลยังไม่เกิดก็อดทนรอไม่ไหว บางท่านก็เลิกปฏิบัติไปเลยก็มีจำนวนมาก

โบราณาจารย์ได้ให้แง่คิดสะกิดใจว่า โยคีผู้ปฏิบัติต้องทำตัวเหมือน “แม่ไก่กกไข่” หรือเหมือนบุคคลที่ต้องการน้ำ กำลังขุดบ่อน้ำอยู่ ฉะนั้นถ้าแม่ไก่ไม่มีความอดทน กกไข่ได้แค่วันสองวันก็ไม่ยอมกกต่อไป ทิ้งไข่ไปเลย อย่างนี้ก็ไม่ได้ลูกไก่เป็นแน่แท้ หรือคนที่ขุดบ่อน้ำอยู่ พอขุดไปได้ไม่เท่าไหร่ก็เลิกขุด หาเรื่องว่าที่ดินตรงนั้นไม่มีน้ำ เป็นต้น แล้วก็เปลี่ยนที่ขุดไปเรื่อย ๆ (เหมือนเปลี่ยนอาจารย์) หรืออุปมาอีกหลาย ๆ อุปมาที่ชี้ให้เห็นว่าต้องอดทน หรือต้อง “อึด” นั่นเอง อ้าว…อึด ๆ กันหน่อย วัยรุ่นทางธรรมทั้งหลาย

 

ข้อมูลจากหนังสือ เพียงแค่รู้ พ.นวลจันทร์ เขียน สำนักพิมพ์ Amarin Dhamma

สั่งซื้อ คลิก


บทความน่าสนใจ

ยุติ วงจรปฏิจจสมุปบาท เพื่อตัดภพให้สิ้นชาติ โดยพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

ตัดภพ สิ้นชาติ เพราะเข้าใจ ปฏิจจสมุปบาท

รู้หรือไม่ 7 สัปดาห์ หลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงทำอะไร

ไขความกระจ่าง ความหมายที่แท้จริงของคำว่าภพ

เป็น พระโสดาบัน เพราะถือศีล 5

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.