โยฮันส์ จีบรีจีออร์จีส์

โยฮันส์ จีบรีจีออร์จีส์ บิดาแห่งการอ่านของเด็กเอธิโอเปีย

โยฮันส์ จีบรีจีออร์จีส์ บิดาแห่งการอ่านของเด็กเอธิโอเปีย

ในแถบกาฬทวีป ปัญหาเรื้อรังที่ประเทศส่วนใหญ่เผชิญอยู่คือ ความยากจน สุขอนามัย โรคเอดส์ รวมถึงการไม่รู้หนังสือ

แต่มีผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่งยอมทุ่มเทกายใจ สละบ้านให้เป็นห้องสมุดเปิดบริการฟรีสำหรับเด็กๆ และทำห้องสมุดเคลื่อนที่ด้วยลาเพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาเข้าสู่พื้นที่ห่างไกล เขาไม่มีทุนรอนก้อนโตหรือองค์กรใดหนุนหลัง เขาหวังเพียงแต่ว่าอยากให้ลูกหลานชาวเอธิโอเปียมีอนาคตที่สดใสจากการอ่านออกเขียนได้

อะไรคือแรงบันดาลใจให้คนเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จักอย่าง โยฮันส์ จีบรีจีออร์จีส์ (Yohannes Gebregeorgis) อุทิศตนเพื่อสังคมจนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิบฮีโร่ของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นประจำปี 2008

 

โยฮันส์ จีบรีจีออร์จีส์

 

โยฮันส์เกิดในชนบทของเอธิโอเปีย เขาเป็นบุตรชายของพ่อค้าสัตว์ซึ่งอ่านหนังสือไม่ออก แต่มุ่งมั่นจะให้ลูกชายได้รับการศึกษาสูงที่สุด เมื่อเขาเข้าเรียน สิ่งที่ได้เรียนรู้ส่วนใหญ่มาจากหนังสือแบบเรียนเท่านั้น เนื่องจากมีหนังสือค่อนข้างจำกัด

หลังจากอพยพลี้ภัยการเมืองไปอยู่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2524 โยฮันส์เลือกเรียนสาขาบรรณารักษศาสตร์ การได้สัมผัสหนังสือหลากหลายประเภททำให้โยฮันส์เห็นความสำคัญของหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเด็ก เขาเปรียบเทียบไว้ว่า ““หนังสืออ่านเสริมเป็นเสมือนเครื่องเทศที่ช่วยให้การศึกษามีหลากหลายรสชาติ เด็กๆ จะได้เรียนรู้โลกกว้างด้วยความเพลิดเพลิน นับเป็นการเสริมสร้างจินตนาการ ทำให้เด็กๆ ได้เห็นสิ่งอัศจรรย์อันน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งในชีวิตนี้อาจไม่มีโอกาสพบเจอจริงๆ เลยก็เป็นได้””

โยฮันส์พบว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กเอธิโอเปียมีอัตราการอ่านออกเขียนได้ต่ำมาก คือ ความยากจนของประเทศ เขาพบว่า ในบรรดาหนังสือภาพสำหรับเด็กในห้องสมุดซึ่งมีถึง 70 ภาษานั้น ไม่มีเล่มใดเลยที่ได้รับการแปลเป็นภาษาแอมฮาริก (Amharic) อันเป็นภาษาที่คนเอธิโอเปียส่วนใหญ่ใช้ในการสื่อสาร

ในปี 2541 โยฮันส์จึงตัดสินใจแต่งนิทานเพื่อเด็กเอธิโอเปีย นิทานเรื่อง Silly Mammo ของเขากลายเป็นหนังสือนิทานภาษาแอมฮาริกเล่มแรก และเป็นหนึ่งในหนังสือไม่กี่เล่มของโลกที่ตีพิมพ์ด้วยภาษาถิ่นเอธิโอเปีย

 

โยฮันส์ จีบรีจีออร์จีส์

โยฮันส์ จีบรีจีออร์จีส์

 

ด้วยความเชื่อมั่นว่า การศึกษาเท่านั้นที่จะช่วยปลดแอกประเทศที่ยากจนและมีอัตราผู้ติดเอดส์สูงอย่างเอธิโอเปียได้ โยฮันส์จึงก่อตั้งโครงการ Ethiopia Reads ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติอ่านออกเขียนได้ เขาลาออกจากงานในปี 2545 เพื่อกลับไปสร้างความหวังและอนาคตให้เด็กๆ ในบ้านเกิดของเขาด้วยเงินทุนซึ่งมาจากการจำหน่ายหนังสือนิทาน Silly Mammo และหนังสือสำหรับเด็กอีก 15,000 เล่ม ซึ่งได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วสหรัฐอเมริกา

 

โยฮันส์ จีบรีจีออร์จีส์

โยฮันส์ จีบรีจีออร์จีส์

 

โยฮันส์เชื่อว่า การที่เด็กๆ ได้อ่านหรือฟังเรื่องราวดีๆ เป็นการเปิดจินตนาการและการเรียนรู้แก่พวกเขา

ด้วยเหตุนี้เมื่อไปถึงเอธิโอเปีย โยฮันส์จึงยอมสละพื้นที่บ้านชั้นล่างเป็นพื้นที่ทำการของห้องสมุดเยาวชน นับเป็นห้องสมุดแห่งแรกในเอธิโอเปีย ที่เปิดให้บริการฟรีแก่เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี เขาลงมือบริหารงานและดูแล Shola Children’s Library แห่งนี้ด้วยหัวใจ ทำให้ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากเด็กๆ ชาวเอธิโอเปีย จนต้องเพิ่มพื้นที่ให้บริการด้วยการกางเต็นท์กลางแจ้งเพิ่มขึ้นถึงสองหลัง และต่อมาได้ขยายสาขาไปสู่เมืองทางตอนใต้ของเอธิโอเปียอีกหนึ่งแห่ง นอกจากนี้เขายังได้แบ่งปันความคิดดีๆ นี้สู่เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลด้วยการสร้างห้องสมุดเคลื่อนที่โดยใช้ลาลาก

 

โยฮันส์ จีบรีจีออร์จีส์

โยฮันส์ จีบรีจีออร์จีส์

โยฮันส์ จีบรีจีออร์จีส์

 

ณ วันนี้ ในสายตาของเด็กๆ ชาวเอธิโอเปีย โยฮันส์ในวัย 67 ปี คือผู้ใหญ่ใจดี ที่มักจะมีนิทานหรือหนังสือสนุกๆ มาอ่านให้ฟังเป็นประจำ ด้วยความมุ่งมั่นว่า ““หากเด็กๆ อ่านออกเขียนได้ เราจะทำอะไรต่ออะไรได้อย่างไร้ขีดจำกัด””

Secret Box
“”ผู้ใดอ่านหนังสือ…ชีวิตจะแบ่งบานสว่างไสว เพราะหนังสือจะช่วยบ่มเพาะความสนใจในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างดียิ่ง””
– โยฮันส์ จีบรีจีออร์จีส์ –

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

ภาพ  CNN, ethiopiareads.org, segenatfoundation.org

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.