สมาธินิมิต

สมาธินิมิต อันน่าอัศจรรย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

สมาธินิมิต อันน่าอัศจรรย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

สมาธินิมิต : ทางผ่านสู่ความหลุดพ้น

พระอาจารย์มั่นใส่ใจการบำเพ็ญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ โดยบริกรรมพุทโธอย่างเรียบง่ายตามที่ท่านเคยฝึกกับพระอาจารย์เสาร์ วันหนึ่งขณะกำลังเข้าสมาธิ เมื่อจิตสงบก็ปรากฏนิมิตอันเป็นผลจากการปฏิบัติกัมมัฏฐาน กล่าวคือท่านเห็นคนตายนอนอยู่ตรงหน้า ร่างที่อยู่ห่างออกไปไม่มากนักเต็มไปด้วยแผลพุพองและมีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลออกมาเป็นที่น่าสยดสยอง ทันใดนั้นเหล่าแร้งกาและสุนัขต่างเข้ามายื้อแย่งกัดกินซากศพจนกระจัดกระจายเป็นที่น่าสังเวช

พระอาจารย์มั่นยังคงอยู่ในสมาธิต่อโดยถือเอาซากศพในนิมิตเป็นเครื่องพิจารณา ยิ่งกำหนดยิ่งพิจารณามากเข้า จิตก็ยิ่งสว่างไสว จนในที่สุดนิมิตแห่งซากศพนั้นได้กลับกลายเป็นดวงแก้ว เมื่อท่านกำหนดพิจารณาดวงแก้ว ดวงแก้วก็ปรากฏให้เห็นเป็นนิมิตคล้ายกับภูเขา เมื่อเพ่งพิจารณาต่อไปก็ปรากฏนิมิตตามมาไม่สิ้นสุด ท่านเห็นตนเองเดินไปบนบันไดแก้ว ได้สะพายดาบอันคมกล้าพร้อมทั้งสวมรองเท้าวิเศษอีกด้วย

การบำเพ็ญสมาธิภาวนาของพระอาจารย์มั่นในเวลานั้นมีความเกี่ยวพันกับนิมิตสมาธิอยู่มาก ทุกครั้งที่เข้าสมาธิ จิตของท่านดำเนินไปในทางเดิมทุกประการ ได้รู้ได้เห็นภาพนิมิตปรากฏขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ บางครั้งปรากฏเป็นกำแพงแก้วที่มีประตู เมื่อผลักเข้าไปได้พบกับพระภิกษุ บางครั้งปรากฏเป็นสำเภาใหญ่อยู่บนยอดเขา บางครั้งปรากฏเป็นหุบเหวซึ่งมีสะพานทอดข้ามไป เมื่อข้ามไปก็ได้พบโบสถ์และดวงประทีปมากมาย เป็นต้น พระอาจารย์มั่นเข้าสมาธิเช่นนี้จนเกิดความเชี่ยวชาญ นิมิตสมาธิปรากฏแก่ท่านราวกับจะไม่มีวันสิ้นสุด พระอาจารย์มั่นเคยกล่าวเตือนเรื่องสมาธินิมิตไว้ว่า…

“ระวังอย่าได้ไปหลงในนิมิตเช่นนี้ เพราะมันวิเศษจริง ๆ ผู้ปฏิบัติทางจิตชอบจะมาติดอยู่เพียงแค่นี้แล้วสำคัญตนผิด เราเองก็สำคัญตัวเราเองมาแล้ว และมันก็น่าจะหลง เพราะเป็นสิ่งอัศจรรย์มาก ที่เป็นวิปัสสนูปกิเลสก็คือความเห็นเช่นนี้”

นิมิตทั้งหลายแม้เป็นผลจากการปฏิบัติกัมมัฏฐาน แต่พระอาจารย์มั่นตระหนักดีว่าหากผู้ปฏิบัติเพลิดเพลินไปกับนิมิต จนปรุงแต่งว่าเป็นฤทธิ์เดชเวทมนตร์ ยึดติดลุ่มหลงจนไม่รู้ตัวเสียแล้ว การขัดเกลากิเลสย่อมหยุดชะงักลง ปัญญารู้แจ้งในสัจธรรมความจริงย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้ พระอาจารย์มั่นพิจารณาด้วยเหตุผลว่าลักษณะจิตที่ยังหวั่นไหว มีความยินดียินร้ายไปตามนิมิต ย่อมไม่ใช่แนวทางสู่ความพ้นทุกข์ที่แท้จริง หากเป็นแต่เพียงทางผ่านที่ผู้ปฏิบัติต้องข้ามพ้นไปให้ได้เท่านั้น

พระอาจารย์มั่นจึงหันมาฝึกจิตตามหลักกายคตาสติ เมื่อได้สมาธิเป็นฐานที่หนักแน่น จึงกำหนดจิตพิจารณากาย ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน จิตจดจ่ออยู่ที่กายตลอดเวลาทุกอิริยาบถ เมื่อจิตมีความนิ่ง ท่านพิจารณากายลึกลงใต้ผิวหนัง ตามดูตามรู้ไปยังอวัยวะต่าง ๆ อย่างละเอียด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดปัญญา เห็นความจริงว่ากายนี้เป็นทุกข์ ไม่มีสิ่งใดน่ารักใคร่ ไม่มีสิ่งใดยึดถือควบคุมไว้ได้ จนเกิดความเบื่อหน่ายคลายความยึดมั่นถือมั่น

“นี่แหละจึงจัดว่ารวมถูก เพราะไม่ใช่จิตรวมสงบก็อยู่เฉย ที่สงบนั้นต้องสงบแล้วพิจารณาอยู่ในกัมมัฏฐาน คืออยู่ในการพิจารณาดูตัวทุกข์ คือกายนี้เป็นตัวทุกข์ และให้เห็นตัวทุกข์อยู่ จึงจะได้ชื่อว่าดำเนินจิตอยู่ในองค์มรรค

“เราจะต้องตรวจค้นให้รู้จริงเห็นจริงอยู่ที่กายกับจิตเท่านั้นจึงจะถูกอริยมรรคปฏิปทา”

แม้ช่วงนั้นพระอาจารย์มั่นจะบำเพ็ญภาวนาตามนิมิตเป็นเวลาหลายเดือน แต่ในที่สุดท่านก็ได้ค้นพบอุบายที่ถูกต้องตรงสู่มรรคผลนิพพาน เมื่อออกพรรษาถึงเวลาอันเหมาะสม พระอาจารย์มั่นจึงออกธุดงค์ไปในป่าดงพญาเย็นเพียงลำพัง โดยหวังจะปรารภความเพียรขั้นอุกฤษฏ์

 

ที่มา  ชุดสุดยอดสงฆ์ 1 : หลวงปู่มั่น – เพ็ญอลงกรณ์ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

ภาพ  ธรรมะไทย

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

สมาธิขั้นสูงใช้รักษาโรคได้

อุบายในการ ทำสมาธิ โดย พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.