สมาธิขั้นสูงใช้รักษาโรคได้

สมาธิขั้นสูงใช้รักษาโรคได้

สมาธิขั้นสูงใช้รักษาโรคได้ โดย ดร.สนอง วรอุไร

สมาธินั้นมีอานุภาพในการต้านทานความเจ็บปวดได้ โดยเฉพาะยิ่งถ้าเข้านิโรธสมาบัติได้แล้ว ย่อมสามารถใช้สมาธิรักษาโรคได้แทบทุกชนิด เว้นแต่โรคเวรโรคกรรมเท่านั้น เพราะตราบใดที่เจ้ากรรมนายเวรยังไม่ยกเลิกหนี้เวรกรรมให้ ไม่ว่าใครหรือยาขนานไหนก็รักษาไม่ได้ แม้แต่พระพุทธเจ้า พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะก็ยังหนีจากโรคเวรกรรมไม่พ้น

สำหรับพระอนาคามีที่เข้านิโรธสมาบัติได้ การแพทย์แผนปัจจุบันแทบจะไม่จำเป็น มีแต่กรณีที่เจ้ากรรมนายเวรไม่เลิกจองเวรทางร่างกายเท่านั้นที่ต้องพึ่งการแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อบรรเทาอาการของโรคลงได้บ้าง ให้พอมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานจนได้ปัญญาเห็นแจ้ง จิตจะเป็นอิสระจากกิเลสที่เรียกว่าสังโยชน์ และมีพลังสมาธิ ทำให้ร่างกายมีพลังงานมาก อวัยวะต่าง ๆ จึงทำหน้าที่ได้อย่างถูกตรง ไม่เปิดโอกาสให้โรคภัยเบียดเบียน ทำให้อายุยืน ยิ่งคนที่เข้าฌานได้ด้วยแล้วยิ่งมีชีวิตยืนยาวอยู่ได้นาน ถ้าอยู่ในฌานอาจอยู่ได้ถึงหลายร้อยปีหรือมากกว่านั้นตามกำลังบารมีที่ตนตั้งจิตปรารถนาไว้

 

เพราะสติอ่อนจึงปวด

สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ จิตเริ่มวอกแวก ขาดสติ เริ่มแวบไปคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้ แสดงว่ากำลังของสติเริ่มอ่อน จึงรู้สึกเจ็บปวด เมื่อเป็นเช่นนี้ควรเปลี่ยนอิริยาบถไปปฏิบัติต่อด้วยวิธีอื่น เช่น ถ้านั่งสมาธิอยู่ก็ให้เปลี่ยนไปเดินจงกรมแทน เมื่อทำแบบนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ แล้วสติจะมีกำลังกล้าแข็งขึ้นจนกระทั่งสามารถต้านทานเวทนาได้ และเมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิถึงระดับนั้น ก็จะสามารถปฏิบัติธรรมได้ยาวนานขึ้นเอง บางคนสามารถนั่งได้นานมากตั้งแต่เช้ายันเย็น โดยไม่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถเลยก็มี

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติธรรมอยู่ในอิริยาบถเดิมนาน ๆ ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะการอยู่ในสมาธินาน ๆ โดยที่จิตไม่รับสิ่งกระทบภายนอกนั้นทำให้เราไม่มีโอกาสได้เห็นไตรลักษณ์ของสิ่งที่เข้ากระทบจิต ปัญญาเห็นแจ้งจึงไม่เกิด การปฏิบัติแบบนี้จึงถือว่าไม่ใช่การฝึกวิปัสสนากรรมฐาน แต่เป็นการทำสมถกรรมฐาน ซึ่งไม่ได้ทำให้เราพ้นไปจากความทุกข์ ได้แต่นั่งสงบนิ่งสบายอยู่ในสมาธิเท่านั้น ผู้เขียนเองก็เคยเข้าถึงสภาวะเช่นนี้ และท่านเจ้าคุณโชดกก็บอกให้ถอนออกมาเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าการมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้จริงแท้และมีประสบการณ์ตรงในการฝึกพัฒนาจิตเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากคนสมัยนี้สั่งสมบุญบารมีมาน้อย เมื่อจะปฏิบัติธรรมจึงต้องอาศัยผู้รู้จริงแท้ที่เคยมีประสบการณ์ตรง และเคยผ่านสภาวะต่าง ๆ มาก่อนมาเป็นผู้ชี้แนะและคอยช่วยแก้ปัญหาให้ ดังนั้นเมื่อท่านชี้แนะแล้วจึงต้องทำตามที่ท่านแนะนำทุกอย่าง โดยไม่คิดสงสัยหรือต่อต้าน การปฏิบัติจึงจะก้าวหน้าและเป็นไปอย่างราบรื่น

ผู้เขียนเอง สมัยที่ไปฝึกปฏิบัติธรรมกับท่านเจ้าคุณโชดก ขณะที่สมาธิยังอยู่ในขั้นชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เมื่อปวด ท่านเจ้าคุณโชดกก็ได้บอกให้บริกรรม “ปวดหนอ” ผู้เขียนก็ทำตามด้วยการบริกรรม “ปวดหนอ ๆ” ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งอาการปวดหายไป ต่อมาเมื่อท่านทราบว่าวาระจิตของผู้เขียนตั้งมั่นจวนแน่วแน่แล้ว ท่านจึงเปลี่ยนมาให้ผู้เขียนพิจารณาความปวดตามกฎไตรลักษณ์ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามความปวดก็ดับวูบลง ทำให้ปัญญาเห็นแจ้งในความปวดเกิดขึ้นในที่สุด นี่คือความสำคัญของการมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้จริงแท้ในการฝึกปฏิบัติพัฒนาจิต

 

ความปวดกับตัวเรานั้นแยกกัน

แท้จริงแล้วอาการปวดนั้นไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน และไม่ได้อยู่ที่แข้งที่ขาของเรา แต่เพราะจิตเราหลงผิดไปยึดอาการปวดมาเป็นอารมณ์ จึงรู้สึกว่า “เรา” ปวดแข้งปวดขา การใช้จิตตั้งมั่นจวนแน่วแน่ตามดูอาการปวดไปเรื่อย ๆ จนเห็นความปวดดับไปตามกฎไตรลักษณ์จะทำให้รู้ว่า เรานี่ละโง่เองที่ไปรับสิ่งกระทบไม่ดีมาปรุงเป็นอารมณ์ และคิดว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นของเรา เมื่อเห็นได้ดังนี้แล้วเราย่อมปล่อยวางไม่ยึดอาการปวดมาเป็นอารมณ์อีก จิตจึงว่าง เป็นอิสระ และเกิดปัญญาเห็นแจ้งในอาการปวดขึ้น

คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดคิดว่า ถ้าเราอดทนต่ออาการเจ็บปวดไปเรื่อย ๆ แล้วจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย นั่นเป็นความเห็นผิดที่เกิดจากการมองปัญหาด้วยปัญญาทางโลก ตรงกันข้าม หากใช้ปัญญาเห็นแจ้งมอง จะเห็นเหตุเห็นผลที่แท้จริงของอาการปวด และจะเข้าใจว่าแท้จริงแล้วอาการปวดเกิดขึ้นจากอะไร และรู้ว่าแท้จริงแล้วอาการปวดไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่มีเกิด มีดับ หมุนเวียนกันอยู่

 

ที่มา  เพราะถึงธรรมจึงพ้นโลก – ดร.สนอง วรอุไร สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

photo by Activedia on pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

อุบายในการ ทำสมาธิ โดย พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.