สาวญี่ปุ่นหัวใจไทย

ฮิโรโกะ ยามากิชิ สาวญี่ปุ่นหัวใจไทย รักงานจิตอาสา

ฮิโรโกะ ยามากิชิ สาวญี่ปุ่นหัวใจไทย รักงานจิตอาสา

อะไรคือสิ่งที่ทำให้สาวแดนอาทิตย์อุทัยคนนี้มาอยู่เมืองไทย และอะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอ ฮิโรโกะ ยามากิชิ สาวญี่ปุ่นผู้โด่งดังจากโฆษณาอายิโนะโมะโต๊ะเพียงแค่คำว่า “อูมามิ” “อร่อยกลมกล่อม” สนใจและรักในงานจิตอาสาช่วยเหลือสังคมขนาดนี้ มารู้จักเรื่องราวของเธอรวมถึงเส้นทางชีวิตของ สาวญี่ปุ่นหัวใจไทย คนนี้กัน

ตอนแรกคิดมาเมืองไทยเพราะอยากทำอะไรที่มันจริงจังให้กับชีวิตเพื่อหาประสบการณ์ จึงเลือกทำงานเป็นอาสาสมัครที่มูลนิธิบ้านร่มไทร จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กติดเชื้อ HIV และเด็กกำพร้า เหตุผลที่เลือกทำงานในมูลนิธินี้ เพราะตอนอยู่ญี่ปุ่นทางโรงเรียนเชิญพยาบาลคนหนึ่งมาบรรยายถึงประสบการณ์ตอนเป็นอาสาสมัครที่มูลนิธิบ้านร่มไทร เราจึงได้รู้จักมูลนิธิและวิธีการทำงาน รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของน้อง ๆ ในมูลนิธิด้วย

เราเริ่มเก็บเงินหนึ่งก้อนสำหรับเป็นค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายให้พออยู่เมืองไทยได้สักระยะ เราเตรียมพร้อมทุกอย่างแล้ว จึงบอกครอบครัวว่าเราจะไปเมืองไทย พอคุณพ่อทราบก็ไม่พอใจถึงขั้นบอกตัดลูกตัดพ่อ เพราะท่านอยากให้เราเข้ามหาวิทยาลัยก่อนจึงค่อยไปเมืองไทย เราก็ยอมรับเงื่อนไขนี้แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยสำเร็จ สุดท้ายก็ได้มาเมืองไทยตามที่ฝันไว้

 

สาวญี่ปุ่นหัวใจไทย

 

เด็กที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้าที่ทางมูลนิธิรับมาจากสถานรับเลี้ยงของรัฐบาล มีเด็กติดเชื้อ HIV ด้วย น้อง ๆ ที่นั่นน่ารักกันทุกคนเลย ถึงฮิโรโกะตั้งใจมาเป็นอาสาสมัครที่นี่เพื่อดูแลน้อง ๆ แต่ก็ไม่ได้ดูแลน้อง ๆ โดยตรง เพราะที่นั่นเขามีแม่เลี้ยงและพี่เลี้ยงไว้คอยดูแล เราจึงใช้ความสามารถที่มีสอนให้น้อง ๆ คือ สอนว่ายน้ำ และทำกิจกรรมร่วมกับน้อง ๆ ช่วยงานต่าง ๆ ของมูลนิธิ เช่น ตัดหญ้า ดูแลความสะอาด ฯลฯ

ตอนมาเมืองไทยฮิโรโกะพูดภาษาไทยได้แค่ 3 ประโยคเท่านั้น คือ สวัสดีค่ะ, ฉันชื่อฮิโรโกะค่ะ และ ขอบคุณค่ะ แต่ระหว่างที่ช่วยงานมูลนิธิทำให้ฮิโรโกะได้เรียนรู้ภาษาไทยจากพี่เลี้ยง เราพยายามอยู่กับพี่เลี้ยงที่เป็นคนไทยให้มาก ๆ เพื่อจะได้ซึมซับภาษา ถึงจะไม่เข้าใจคำพูดทุกคำแต่ก็พยายามสื่อสารกันด้วยภาษามือ พอนาน ๆ เข้าก็สามารถพูดได้มากขึ้น หลังจากทำงานที่มูลนิธิบ้านร่มไทรมาครึ่งปี ก็มาสอนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียนสอนภาษาในจังหวัดเชียงใหม่สักพักแล้วกลับญี่ปุ่น

ตอนที่ช่วยงานมูลนิธิบ้านร่มไทร ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อ HIV อย่างจริงจัง ทำให้การมาเมืองไทยครั้งที่ 2 เลือกที่จะมาเป็นอาสาสมัครวัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นสถานที่พี่เลี้ยงในมูลนิธิบ้านร่มไทรแนะนำไว้ ตอนนั้นมีอาสาสมัครชาวต่างชาติด้วย แต่มีเรากับบาทหลวงไมเคิลเท่านั้นที่พอพูดภาษาไทยได้ จึงช่วยให้เข้าถึงผู้ป่วยและรับฟังความรู้สึกของผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยที่เราดูแลอยู่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยบางคนมาอยู่ที่นี่เพราะครอบครัวมาฝากไว้ หลังจากนั้นก็ไม่กลับมาเยี่ยมอีกเลย เราได้แต่สงสารและคอยให้กำลังใจพวกเขาด้วยการกอด ผู้ป่วยถึงกับร้องไห้เพราะชีวิตของเขามีแต่คนรังเกียจ แม้แต่พ่อแม่ของเขาก็ไม่กล้าเข้าใกล้ ความรู้สึกในตอนนั้นทำให้เราร้องไห้ตามไปด้วย

 

สาวญี่ปุ่นหัวใจไทย

 

หลังจากกลับไปญี่ปุ่นครั้งนี้ก็ไม่ได้กลับมาเมืองไทยนาน 2-3 ปี แต่ยังคิดถึงเมืองไทยอยู่จนกระทั่งได้มาเที่ยวกับเพื่อนแถวย่านฮาราจุกุ แล้วได้ยินเสียงคนไทยคุยกันจึงตามเสียงมาแต่ไม่เจอ พอแยกย้ายจากเพื่อนเพื่อกลับบ้านเลยมาเจอกลุ่มคนไทยประมาณ 30 กว่าคนที่สถานีรถไฟ ตอนนั้นดีใจมากจึงเข้าไปคุยกับคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งก็คือ พี่หนุ่ย – พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ขอบอกเลยค่ะว่าการที่ได้มาเจอกับพี่หนุ่ยในวันนั้นทำให้เรานึกถึงประเทศไทยอีกครั้ง และมีแรงบันดาลใจที่จะกลับมาที่นี่อีก เลยได้กลับมาเมืองไทยเป็นครั้งที่ 3 เพื่อเรียนภาษาอังกฤษสำหรับสอบ IELTS เพื่อใช้คะแนนยื่นสมัครเรียนต่อต่างประเทศ ตอนอยู่เมืองไทยครั้งที่ 3 ต้องพักที่กรุงเทพฯ ยอมรับว่ากลัวกรุงเทพฯมาก เพราะคุ้นชินกับชีวิตในต่างจังหวัดมากกว่า ตอนนั้นต้องใช้เงินประหยัดให้มากที่สุด พยายามใช้เงินวันละ 100 บาทและนั่งรถเมล์ฟรี เพื่อให้สามารถอยู่เมืองไทยให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ซึ่งก็นานถึงครึ่งปีแล้วกลับญี่ปุ่น

กลับมาเมืองไทยครั้งที่ 4 อยู่นานกว่าทุกครั้ง เพราะเลือกศึกษาปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต หลักสูตรอินเตอร์ ตอนนั้นพักอยู่แถวอนุสาวรีย์ และเดินทางไปเรียนด้วยรถตู้อนุสาวรีย์-ธรรมศาสตร์รังสิต การเรียนต่อต่างประเทศถึงจะเป็นความใฝ่ฝันมาตั้งแต่สมัยมัธยมศึกษาตอนต้นก็จริง แต่เลือกมาเรียนต่อที่ประเทศไทยเพราะถ้าเราไปเรียนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เชื่อเลยว่าลืมภาษาไทยแน่นอน เสียดายภาษาไทยจึงตัดสินเรียนต่อที่ไทยดีกว่า

 

 

การกลับมาอยู่เมืองไทยครั้งนี้ทำให้มีโอกาสไปออดิชั่นโฆษณาของอายิโนะโมะโต๊ะ แล้วก็ได้เล่นเป็นคุณครูสอนภาษาญี่ปุ่นที่สอนพูดออกเสียงคำว่า “อูมามิ” จากนั้นคำว่าอูมามิกลายเป็นที่รู้จักรวมถึงฮิโรโกะด้วย หลังจากเป็นที่รู้จักจากโฆษณาชิ้นนี้แล้วก็มีโอกาสรับงานแสดงในวงการบันเทิง เช่น รายการแบไต๋ไฮเทคของคุณหนุ่ย- พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ รายการท่องเที่ยวพาไปร้านอาหาร “Food diary by CP” โฆษณา เช่น โออิชิ ซิทคอมตลกเรื่องสุขจ๋าอยู่หนใด ฉายทางช่องไทยพีบีเอส และ อื่น ๆ งานในวงการบันเทิงก็เป็นสิ่งที่สนใจค่ะ เพราะตอนเด็กเคยเล่นละครทีวีและละครเวทีด้วย

เราผูกพันและรักเมืองไทยเพราะความอบอุ่นที่พี่เลี้ยงและแม่เลี้ยงในมูลนิธิบ้านร่มไทรมีให้เรา เขารักเราเหมือนน้องสาวและลูกสาวแท้ ๆ ทำให้เราประทับใจและรู้สึกอบอุ่นมาก ครอบครัวของเราไม่เคยติดต่อมาเลย ถ้ามีปัญหาก็จะส่งอีเมลมาแจ้งเอง จะไม่ยอมโทรศัพท์มาหา ซึ่งแสดงว่าทางนั้นปลอดภัยดี แต่พี่เลี้ยงและแม่เลี้ยงที่มูลนิธิบ้านร่มไทรโทรมาหาเราทุกวันแล้วถามว่า “กินข้าวหรือยัง” มันเป็นอะไรที่อบอุ่นมาก เราเลยหลงรักประเทศไทย และชอบประเทศไทยเพราะไม่มีฤดูหนาวที่ยาวนานเหมือนญี่ปุ่น มีทะเลสวย และที่สำคัญอาหารไทยอร่อยมากด้วย

 

สาวญี่ปุ่นหัวใจไทย

 

เมืองไทยเป็นประเทศที่แตกต่างจากญี่ปุ่นมาก ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่เข้มงวดและเจ้าระเบียบ เวลาขึ้นรถไฟฟ้าต้องปิดเสียงโทรศัพท์ทันที ทุกคนจะอยู่กับหน้าจอหรือไม่ก็หนังสือ ถ้าเป็นฤดูหนาวก็ใส่ชุดกันหนาวโทนสีดำ ถ้าใครใส่สีอื่น เช่น สีแดง สีเหลือง สีที่สดใสก็(อาจ)ถูกมองว่าแปลกประหลาด แต่สังคมไทยให้อิสระ มีความเป็นศิลปิน ถ้าไปตลาดสดก็จะสัมผัสกับบรรยากาศที่มีชีวิตชีวามาก ๆ ค่ะ

ตอนอยู่ที่ญี่ปุ่นเคยเครียดถึงขนาดผมร่วงเป็นกระจุกใหญ่ ๆ แล้วก็กินจนน้ำหนักขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าจะระบายความเครียดอย่างไรดี จึงเลือกที่จะกินและกิน ในทางกลับกันถ้าตอนนี้ฮิโรโกะเครียดก็พยายามไม่นึกถึงเรื่องที่เครียดเลย ถ้าจมอยู่กับความเครียด ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อยู่ดี เราจึงเลือกออกมาจากห้องเพื่อไปเจอเพื่อน ๆ หรือไปทำกิจกรรมที่มันไม่เครียดแทน เช่น ออกกำลังกาย หรือไปเที่ยว บางครั้งก็เขียนความรู้สึกในตอนนั้นใส่กระดาษ แล้วอ่านในสิ่งที่เราเขียน แล้วชั่งใจพิจารณาปัญหาในฐานะคนนอกมองเรา ไม่ใช่เรามองเราเอง แล้วใจก็จะเย็นลง

การเป็นอาสาสมัครสำหรับฮิโรโกะแล้วไม่มีคำว่า “เหนื่อย” เพราะทุกครั้งที่ทำเราทำด้วยใจ ถึงจะเหนื่อยหรือล้าไปบ้าง แต่ใจกลับรู้สึกดีขึ้นไปอีก

 

 

ฮิโรโกะมีได้ทุกวันนี้เพราะคุณพ่อค่ะ ท่านพูดมาประโยคหนึ่งที่ทำให้เราอึ้งไปเลยว่า “ลงมือทำอะไรสักเล็กน้อยหรือยังเพื่อที่จะทำให้ความฝันเป็นจริง หรือเอาแต่พูด” ก็จริงอย่างที่ท่านพูด ตอนนั้นเรายังไม่ได้ทำอะไรเลยสักอย่าง เช่น เก็บเงินทีละนิดเพื่อไปเรียนต่อ หรืออ่านหนังสือภาษาอังกฤษมากขึ้นเพื่อไม่ลำบากตอนไปเรียนที่ต่างประเทศ เราจึงผลักดันตนเองและปฏิญาณว่าจะทำให้ได้ แล้วเราก็ทำได้จริง ๆ ขอบคุณคุณพ่อและประสบการณ์ที่สอนเราว่าชีวิตของทุกคนนั้นมีอิสระ ถ้าสิ่งที่อยากทำไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมายและศีลธรรม ทำไมไม่ลงมือทำ ถ้าผิดพลาดก็แค่เริ่มต้นใหม่อีกครั้งเท่านั้นเอง ไม่มีผู้ที่ประสบความสำเร็จคนใดไม่เคยประสบกับปัญหาและความผิดพลาด ชีวิตคืออนุกรมของการเลือกตัดสินใจ เพื่อที่จะไม่ให้รู้สึกเสียดายกับอดีต เราจึงขอทำทุก ๆ วันนี้ให้ดีที่สุด

 

 

การที่เราได้เป็นอาสาสมัครทำให้ความคิดของเราเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเราอาจมองว่าการทำอะไรให้คนอื่น เราต้องได้รับสิ่งตอบแทน เช่น คำชื่นชม หรือการยอมรับจากคนอื่น แต่ตอนนี้กลับไม่เป็นอย่างนั้น กลายเป็นมีแต่คำว่า “ให้และให้” ไม่มีคำว่า “ให้และได้” เป็นการให้อย่างเดียวโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน อย่างเช่น การเก็บขยะ เราอยากทำเพราะอยากทำ ไม่ได้อยากทำเพื่อหวังได้รับคำชื่นชม หรือรางวัลตอบแทน แต่ผลพลอยได้คือความสุขเท่านั้นเอง ความสุขจากการที่ได้ลงมือทำในสิ่งที่อยากทำ หรือการได้เห็นรอยยิ้มของเด็ก ๆ ก็มีความสุขแล้วค่ะ

 

เรื่อง : ฮิโรโกะ ยามากิชิ

ผู้เรียบเรียง : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์

ภาพ : ฝ่ายภาพ อมรินทร์พริ้นติ้งฯ

ขอขอบคุณสถานที่ :     SLO CAFE

 


บทความน่าสนใจ

ลุงแดงปากเกร็ด จิตอาสา ทำมา 40 ปี โบกให้รถหยุดเคารพธงชาติ

มือเบสใจบุญ โอม Potato เป็นจิตอาสาช่วยเหลือมูลนิธิร่วมกตัญญู

ให้ได้ แม้ไม่มี: กอล์ฟฟี่ แฮร์สไตลิสต์จิตอาสา

ดนตรีจิตอาสา ความสุขในทุกบันไดเสียง

อาจารย์หมอประทีป ไวคำนวณ เมื่อชีวิตพลิกจากนักธุรกิจสู่การเป็นหมอจิตอาสา

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.